ปลัดมหาดไทยชี้ “สังคมไทยต้องช่วยการรื้อฟื้นรากเหง้าแห่งความเป็นไทย” ปลูกฝังความรักระหว่างเด็กและผู้ใหญ่

วันที่  21 มิ.ย. 66    ที่โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “การศึกษาท้องถิ่นก้าวไกล สร้างสมรรถนะเด็กไทย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง SDGs” โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายมานิช ถาอ้าย นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมาคมฯ ผู้บริหารการศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมประชุม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่นายไพโรจน์ คลังนุช รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่การศึกษาท้องถิ่น ประจำปี 2566 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สมาชิกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 อาทิ นางสาววรรณศรี ปัญญาประชุม ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายสมศักดิ์ นาคนาม ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร นายอำนาจ โพธิ์ศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนซำสูงพิทยาคม และมอบโล่ผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 30 คน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมสัมมนาทางวิชาการสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เป็นกิจกรรมอันทรงเกียรติและทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่ทำให้ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารการศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีโอกาสดีที่จะมาพบปะพูดคุยและยกย่องให้เกียรติพี่ ๆ ผู้เป็นข้าราชการที่มุ่งมั่นตั้งใจในการเสียสละ อุทิศแรงกาย แรงใจ อุทิศชีวิต เพื่อที่จะดูแลลูกหลานผ่านโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทั่งครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ และบางส่วนก็อาจจะแจ้งความประสงค์ขอย้ายกลับไปปฏิบัติราชการ ณ จังหวัดพื้นที่ภูมิลำเนา ทั้งนี้ ตนให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษา คือ รากฐานของชีวิต สามารถทำให้คนเปลี่ยนหรือมีสถานภาพที่พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยกันดูแลสังคม ดูแลชีวิตครอบครัว ญาติมิตรของตนเองได้ดีขึ้น ความสำเร็จของคนมาจากการศึกษา ดังนั้น ถ้ามีงานการศึกษาผมให้ความสำคัญและเต็มใจที่จะมาเฉกเช่นงานในวันนี้ ซึ่งผู้ร่วมสัมมนาทุกท่าน ณ ที่นี้ ล้วนแต่คือผู้ที่เป็นพลังสำคัญของการสร้างชาติ สร้างบ้าน สร้างเมือง ให้มีความวัฒนาถาวร และมีความมั่นคงจากการพัฒนาคุณภาพของลูกหลานและผู้คนในสังคม

“ขอให้พี่ ๆ ผู้ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทุกท่านได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันมีใจความสำคัญว่า “แม้เราจะเกษียณอายุราชการแล้วแต่เราต้องไม่เกษียณจากการทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ถ้าสุขภาพร่างกายแข็งแรงก็ช่วย ถ้าสุขภาพไม่แข็งแรงก็ช่วยดูแลบางส่วน ตามกำลัง” เพราะการเกษียณอายุราชการไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่จะทำให้พวกเราได้ใช้ความรู้ ใช้ความสามารถในการที่จะช่วยเหลือดูแลสังคม ช่วยเหลือกิจการงานของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือแม้แต่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือการดูแลการศึกษา สุขภาพอนามัย การอบรม ให้คำแนะนำ ให้ข้อคิดเตือนใจลูกหลานที่อยู่ในชุมชน เพราะสังคมไทยเรานั้น ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่เป็นผู้อาวุโส ทั้งตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย ล้วนแต่เป็นผู้มีความสำคัญยิ่งต่อลูกหลาน ต่อสังคมไทย ในการช่วยกันรื้อฟื้นธรรมเนียมแห่งการมีสายสัมพันธ์ฉันญาติมิตรที่เป็นรากเหง้าความเป็นคนไทย ที่แม้ไม่ได้เป็นญาติทางสายโลหิตแต่เราก็เป็นญาติด้วยความเป็นคนไทย ทั้งการมีจิตใจที่ดี มีสัมมาคารวะ เรายกย่องให้เกียรติผู้ที่สูงวัยกว่า มีวัยวุฒิมากกว่า คุณวุฒิมากกว่า เมื่อเรายกย่องว่าเราเป็นพี่ พี่ก็ต้องช่วยน้อง เมื่อเรายกย่องให้เป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นลุง ป้า น้า อา ผู้ใหญ่ก็จะเอ็นดู เมตตาเด็ก เด็กก็ให้ความรักความเคารพผู้ใหญ่ เป็นสังคมที่ทำให้เกิดความช่วยเหลือเกื้อกูล เริ่มตั้งแต่ช่วงเด็กปฐมวัยผ่านการขับเคลื่อนโครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ที่จะบ่มเพาะให้เด็กมีความรัก ความผูกพัน มีการแบ่งปัน มีน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลให้เกิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพราะความสัมพันธ์เช่นนี้จะช่วยทำให้สังคมเราเดินไปข้างหน้าแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูล การมีจิตใจเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะช่วยทำให้ทุกคนในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพจิตที่ดี เช่นเมื่อครั้งที่ผมบรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง หน้าบ้านทุกหลังจะมีโอ่งน้ำเล็ก ๆ ตั้งไว้หน้าบ้าน ตั้งไว้ริมถนน พร้อมทั้งกระบวยตักน้ำที่ทำจากกะลามะพร้าวมีด้ามจับ ไว้ให้คนที่ผ่านไปมาได้ตักน้ำมากิน ได้ตักน้ำมาลูบหน้าตามอัธยาศัย แสดงถึง “น้ำใจความเป็นไทย” ที่เราต้องช่วยกันฟื้นฟูให้กลับมา ช่วยกันดูแลลูกหลานให้ได้เรียนรู้ ได้ซึมซับ ด้วยการ socialization ให้เด็กและเยาวชนได้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของความเป็นไทยควบคู่กับการศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรในส่วนที่พวกเราจะจัดให้เขา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) 17 เป้าหมาย อันสอดคล้องกับหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ ตลอด 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาคีเครือข่าย” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยทรงประมวลเรียกว่าหลัก “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเพียรพยายามในการเชื้อเชิญผู้มีความรู้ความสามารถด้านผ้าและเครื่องแต่งกายมาเป็นภาคีเครือข่ายในการ “พัฒนาคน” เพื่อให้คนไปพัฒนางาน และงานจะพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยภาคีเครือข่ายประกอบด้วย 7 ภาคี คือ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนทุกคนสามารถเป็นได้ เพราะทุกคนมีช่องทางการสื่อสารของตนเอง ทั้งโทรศัพท์มือถือ Facebook Twitter Instagram Tiktok ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องทำงานแบบภาคีเครือข่าย ด้วยการเชื้อเชิญ 7 ภาคีเครือข่าย ผู้มีใจเสียสละ มีจิตอาสา ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเพียรพยายามในการกระตุ้นให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความเป็นคนมีจิตอาสา เพราะการทำงานแบบภาคีเครือข่ายที่มีจิตอาสาจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ

“ขอให้ทุกท่านจับมือร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อทำให้สิ่งที่เป็นอุดมการณ์ของทุกท่าน คือ “การสร้างคน” ประสบความสำเร็จ และเป็นความหวังของสังคมไทยตลอดไป โดยท่านที่จะเกษียณอายุราชการก็อย่ารังเกียจรังงอนในการเป็นผู้นำชุมชน เดินไปหานายอำเภอ ไปหาผู้ว่าราชการจังหวัด และประกาศตนในการเป็น “จิตอาสา” เป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนดูแลชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ของเราในด้านที่เราสนใจ เช่น ด้านของการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ปลูกฝังให้ลูกหลานเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เป็นคนดีของสังคมไทย เป็นผู้รู้รักษารากเหง้าของความเป็นไทย เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน และประวัติศาสตร์ชาติไทย และร่วมรักษางานประเพณีวัฒนธรรม งานบุญ ช่วยทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ทั้งการเสริมสร้างหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ใช้วิชาลูกเสือ-เนตรนารี ในการสร้างคนให้มีวินัย มีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น ซื่อสัตย์ เคารพกฎ กติกา มีการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม มีการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ปลูกฝัง DNA ของการเป็นผู้มีจิตสำนึกรักษ์โลก มาร่วมเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ดูแลให้สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในครัวเรือน ในสถาบันการศึกษา ในวัด ในพื้นที่ริมถนน เป็นพื้นที่ที่สะอาด มีความเขียวขจี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสมบูรณ์แบบได้ “เพราะคนที่มีความรู้ความสามารถยังไม่ลืมความกล้าที่จะผลักดันขับเคลื่อนตามที่หัวใจของเรา ตามอุดมการณ์ของเรา ตาม Passion ของเราอยากให้เกิดขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนด้วยกลไก ศจพ.อำเภอ ท่านผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่าน สามารถร่วมเป็นภาคีเครือข่ายภายใต้การนำของท่านนายอำเภอ ร่วมดูแลสังคม ดูแลช่วยเหลือกันและกันในสังคม เพราะคำว่า ความยากจน คือทุกปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนประจบอยู่และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง เช่น ไม่มีทุนการศึกษา ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ก็เป็นความยากจน ที่เราสามารถส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกการไปดูแลผู้สูงอายุ ไปศึกษาประวัติสาแหรก ไปพูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชน ไปพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน แล้วเด็กเหล่านั้นก็จะเป็นเหมือนโซ่ข้อกลาง นำเอาสิ่งที่เป็นทุกข์ร้อนที่ได้ไปพูดคุยมาบอกครู บอกผู้บริหารสถานศึกษา แล้วเราก็แจ้งต่อนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอเป็นแกนนำการบูรณาการทีม ให้ความช่วยเหลือได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้สมาชิกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยทุกท่านได้กลับไปช่วยเป็นผู้นำในการที่จะทำให้คนมหาดไทย อันประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการทุกกรมของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และภาคีเครือข่าย ได้ช่วยกันดูแลสังคม ดูแลชุมชน ทั้งทำให้ลูกหลานของเราได้รับการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งด้านสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม เพื่อเติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ของประเทศชาติ อันหมายความว่า เราทุกคนจะช่วยกันทำให้ลูกหลานไทยเติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่มีทั้งความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งคุณธรรมที่สำคัญที่ต้องปลูกฝังต่อเนื่อง คือ “ความมีจิตอาสา ความเป็นคนมีความกตัญญูกตเวที” ช่วยดูแลให้บ้านเมืองของเรามีความมั่นคง เป็นพลังสำคัญของการสร้างชาติ สร้างบ้าน สร้างเมือง ให้มีความวัฒนาถาวรและมีความมั่นคงจากการพัฒนาคุณภาพของลูกหลานและผู้คนในสังคม ทำให้ครอบครัว ทำให้ผู้คนมีความสุขอย่างยั่งยืน

Leave a Reply