“ปลัด มท.” วอนพระสังฆาธิการร่วมเป็นทีม “บวร” ลงพื้นที่สร้างหมู่บ้านคุณธรรมอย่างยั่งยืน

วันที่  28 ส.ค. 66 เวลา 13.00 น. ที่ วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ร่วมบรรยายพิเศษ “งานราชการกับงานคณะสงฆ์” ถวายความรู้ในการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เลขานุการ และให้ความรู้ไวยาวัจกรในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร โดยได้รับเมตตาจาก พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมบรรยายพิเศษและให้โอวาท โดยพระเทพวชิรปาโมกข์ เจ้าคณะภาค 14-15 (ธ) พระเทพสาครมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 วัดเจษฎาราม พระอารามหลวง พระรามัญมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร (ธ) วัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ พระมงคลพัฒนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าอาวาสวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร พระสังฆาธิการ และพระเถรานุเถระในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมประชุม โดยมี นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายกองเอก อาวุธ วิเชียรฉาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร ร้อยตรี ประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร นายบรรพต จันทรวงศ์ นายอำเภอทุ่งกระเบน นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายสักการะพระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง พระเทพวชิรปาโมกข์ เจ้าคณะภาค 14-15 (ธ) พระเทพสาครมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 วัดเจษฎาราม พระอารามหลวง พระรามัญมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร (ธ) วัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ พระมงคลพัฒนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าอาวาสวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร จากนั้น นำผู้เข้าร่วมพิธีประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตตภาวนา ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จากนั้น พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง กล่าวบรรยายสรุปและกล่าวสัมโมทนียกถาให้โอวาทความว่า “จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดนำร่อง เป็นต้นแบบการบูรณาการ “งานราชการกับงานคณะสงฆ์” ในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพหุวัฒนธรรมที่ประชาชนมีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา และยิ่งไปกว่านั้นจังหวัดสมุทรสาครมีพระสงฆ์ที่มีความสามัคคีและมีความสมานฉันท์  มีไวยาวัจกรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน โดยเฉพาะกับนักเรียน ตลอดจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ผู้นำภาคศาสนา ผู้นำภาครัฐ และผู้นำภาควิชาการ ได้มาร่วมกันให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เลขานุการ และไวยาวัจกร ในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร ตามมติมหาเถรสมาคม ที่ 143/2546 ประจำปี 2566 ในวันนี้ นับว่าเป็นการประชุมที่ได้รวมคณะสงฆ์จากมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย มาประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกและบรรลุวัตถุประสงค์ จึงขอขอบคุณคณะสงฆ์ทุกท่านที่ให้ความสำคัญ และปฏิบัติตนทำหน้าที่มาร่วมการประชุมในวันนี้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายความรู้คณะสงฆ์ โดยกล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของคนไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของคณะสงฆ์ทุกรูป และพระผู้ทรงเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของประชาชนคนไทย ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ โดยทรงขับเคลื่อนโครงการในพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากมายให้กับประชาชนคนไทย เริ่มตั้งแต่โครงการจากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที ซึ่งพระองค์ทรงถอดบทเรียนจากโครงการพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ ว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำงานให้สำเร็จได้ อยู่ที่ “คน” เพราะการทำงานในพื้นที่ขึ้นอยู่กับคนในแต่ละภูมิสังคม การทำงานจึงต้องดำเนินการให้เข้ากับคนและเหมาะสมกับพื้นที่ จึงเป็นที่มาของหลักการทำงานแบบ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ดังนั้น การที่จะทำให้พวกเราข้าราชการได้เข้าไปนั่งในหัวใจของชาวบ้านได้ เราต้องทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ด้วยการลงพื้นที่ไปร่วมทำงานกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนทุกคน

“กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวทางหลักการทรงงานแบบ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนาการอำเภอ และข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคน มาร่วมกันทำงานแบบบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อผนึกกำลังของภาคีเครือข่าย เริ่มจากการสร้างทีม (Partnership) รวมผู้นำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้นำภาคศาสนาที่เป็นเสาหลักและมีวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย รวมถึงผู้นำภาควิชาการ และผู้นำภาครัฐที่เป็นข้าราชการ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน มาร่วมกันทำสิ่งที่ดี เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมภายใต้หลักการของคำว่า “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ ที่มีผู้นำทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำสิ่งที่ดี เป็นแบบอย่างของการที่ “ผู้นำต้องทำก่อน” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคศาสนา จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (MOU) ร่วมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” หรือเรียกอีกชื่อว่า “หมู่บ้านคุณธรรม” ร่วมกับสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ซึ่งทุกโครงการล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการร่วมกันอบรมให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ส่งเสริมการเรียนหนังสือให้กับเด็กและเยาวชน โดยมีคณะสงฆ์เป็นเสาหลัก เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีความสุข

“การมีภาคีเครือข่ายจะสามารถทำงานได้ดีและทำงานใหญ่ให้สำเร็จได้ เราต้องมีทีมที่ดีในการมาร่วมไม้ร่วมมือกันทำงาน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ผู้เป็นแขนขาของกระทรวงมหาดไทย จึงต้องช่วยกันทำหน้าที่เป็นผู้นำที่แท้จริง ด้วยการลงพื้นที่ไปจับมือกับคณะสงฆ์ ไปช่วยกันวางระบบกลุ่มบ้าน หย่อมบ้าน คุ้มบ้าน หรือป๊อกบ้าน เริ่มด้วยการทำตัวแบบรวงข้าวสุกโน้มตัวเข้าหาประชาชนเพื่อเข้าไปนั่งในหัวใจชาวบ้าน ตามคติธรรม “วิสฺสาสปรมา ญาตี : ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” จึงขอความเมตตาจากพระสังฆาธิการทุกรูป ได้โปรดชี้แนะ ชี้นำ ชี้ทาง ให้แก่กลไกของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ทั้งข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อร่วมกันสร้างทีมที่เข้มแข็ง โดยมีพระสงฆ์เป็นภาคีเครือข่ายไปช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่วัด หรือพื้นที่สาธารณูปการ ให้มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน และยิ่งกว่านั้นคือขยายผลไปสู่ชุมชน/หมู่บ้าน ของเรา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์ และต้องอาศัยการลงมือทำจากพวกเราคนมหาดไทยทุกคน “ผู้นำต้องทำเป็นต้นแบบ” ด้วยการปฏิบัติตนเป็นรวงข้าวสุกที่โน้มตัวเข้าหาประชาชน ดังนั้น ทุกรูปและทุกคนจึงต้องช่วยกันในการนำพาสิ่งที่ดีอันเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมอบให้ ได้คงอยู่กับพวกเราต่อไป จึงขอให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้มีความสุขในการร่วมกันจับมือกับคณะสงฆ์ไปทำสิ่งที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ของท่าน ขอให้ความสำเร็จของจังหวัดสมุทรสาครเป็นต้นแบบของประเทศไทย และความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้หากทุกคนลงมือทำ เพื่อช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” และแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร ทำให้ประชาชนทุกคนได้มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้กรุณามาบรรยายถวายความรู้ ให้แก่พระสังฆาธิการ และให้ความรู้แก่ไวยาวัจกร กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยสิ่งที่ท่านได้บรรยายให้พวกเราได้รับฟังถึงภาคีเครือข่าย 7 ภาคีเครือข่าย การรวมตัวกันของคนในชุมชนเป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งความสำเร็จจากการทำงานจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาแม่น้ำคูคลองในพื้นที่ของเรา รวมไปถึงการให้คณะสงฆ์ผู้เป็นผู้นำภาคศาสนาได้เป็นเสาหลักชัยในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ทำให้วัดอันเป็นสถานที่เคารพสักการะของคนไทยเป็นศูนย์การเรียนรู้ ตามหลัก “บวร” บ้าน วัด ราชการ และช่วยกันทำให้เด็กเยาวชนของประเทศไทยได้เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม เติบโตเป็นอนาคตของชาติต่อไป

Leave a Reply