พรรค”ก้าวไกล” ห่วงเด็กไร้สัญชาติ “126 คน” ถูกส่งกลับพม่า “พระอาจารย์ มจร.” กังวลสามเณรไร้สัญชาติไม่ได้เรียนหนังสือ

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 วานนี้ นายปารมี ไวเจริญ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าถึงการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ว่าในวันที่ 3-4 กันยายน 2566 พรรคก้าวไกลและเครือข่ายภาคประชาสังคม จะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลเด็กนักเรียน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการออกรหัส G (Generate Code) แก่เด็กไร้สถานทางทะเบียนราษฎรทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงสามเณรที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยในระหว่างที่กำลังรอสภาผู้แทนฯบรรจุวาระก็ได้เร่งศึกษาและรวบรวมข้อมูลเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติม

นายปารมีกล่าวว่า สำหรับกรณีเด็กนักเรียนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จำนวน 126 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและถูกส่งกลับประเทศพม่านั้น เท่าที่ทราบนั้นมีการส่งกลับไปเกือบหมดทั้งหมดแล้ว แม้ว่าทางพรรคก้าวไกลจะมีช่องทางในติดต่อผู้ปกครองของเด็กได้ แต่ยังมีความหวั่นใจอย่างยิ่ง เพราะไม่เห็นมีหน่วยราชการไทยติดตามเด็กเหล่านี้เลย ซึ่งน่ากังวลว่าเด็กจะตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก

“เราไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไร จริงๆแล้วควรเร่งนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ใช่แค่กรณีของเด็กนักเรียน 126 คนที่จ.อ่างทองเท่านั้นที่เราต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะยังมีกรณีสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่กำลังประสบปัญหาไม่สามารถออกรหัส G ได้และไม่มีโรงเรียนรองรับสามเณรที่ต้องการเรียน ป.1-6 สามเณรบางรูปต้องนำชื่อไปฝากไว้กับโรงเรียนประถมศึกษาภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจากเวลาถ่ายรูปติดบัตรสามเณรต้องเปลี่ยนจีวรให้เป็นชุดเครื่องแบบนักเรียน เรามองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สบายใจสำหรับบุคคลที่ต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้ทางพระธรรมวินัย ถือว่าการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะการเอาชื่อเข้าไปไว้อีกโรงเรียนหนึ่ง แต่เด็กเหล่านี้ไม่ได้ศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผิดกฎระเบียบของกระทรวงการศึกษาได้ พวกเขาควรได้เรียนโรงเรียนที่มุ่งเน้นหลักสูตรของตนเอง” นายปารมี กล่าว

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้แต่โรงเรียนปริยัติธรรมศึกษาแผนกสามัญศึกษา ก็เปิดรับเฉพาะมัธยมศึกษาเท่านั้น ทั้งๆที่สามเณรที่เรียนชั้นประถมควรมีโอกาสได้เรียนด้วย ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพราะว่าไม่ใช่แค่สามเณรที่ไร้รัฐไร้สัญชาติเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหา สามเณรที่มีสัญชาติไทยเองก็ประสบปัญหาในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เรามองว่ากฎหมายและกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาหรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะออกรหัส G เพื่อจะรองรับสิทธิและให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนไร้สถานทางทะเบียนเพื่อเข้าเรียนนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาหลัก ๆในขณะนี้คือขาดการติดต่อประสานงานและขาดศูนย์ดำเนินงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่กล้าตัดสินใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ไม่มีการประสานงานและทำงานร่วมกัน ทำให้ใช้ระยะเวลานานกว่าจะแก้ไขปัญหาออกรหัส G ในบางกรณีกว่าจะสามารถออกได้ เด็กนักเรียนบางคนเรียนจบไปแล้ว และมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทับซ้อน จึงทำให้ปัญหานั้นสะสมไปเรื่อย ๆ และเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคต

ขณะที่พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ (วงใส) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ประเทศพม่า เพื่อไปศึกษาประเด็นปัญหาสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่ลูกเณรเข้ามาพึ่งพาอาศัยลี้ภัยสงคราม เมื่อได้ลงพื้นที่ปรากฏว่าในประเทศพม่าก็มีการจัดการศึกษาให้กับสามเณรเช่นเดียวกัน เพียงแต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้เลขระบุสถานะทางทะเบียน และการจัดการศึกษาก็เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถสื่อสารกันและกันได้เท่านั้น เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่าประเทศพม่ามีหลากหลายชาติพันธุ์และพูดคุยกันคนละภาษา

พระวิสิทธิ์กล่าวว่า สามเณรสามารถแบ่งประเภทได้  3 ส่วน คือ 1.สามเณรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เข้ารับการศึกษาโดยไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลพม่า และอยู่ในพื้นที่เงียบสงบ 2.สามเณรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ารับการศึกษาโดยมีรัฐบาลพม่าสนับสนุน 3.สามเณรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งผู้ปกครอง พ่อแม่ของสามเณรบางส่วนเป็นผู้อพยพลี้ภัยทางการเมือง และนำลูกมาบวชเพราะต้องการปกป้องลูกให้อาศัยร่มกาสาวพัสตร์จากภัยสงคราม

 

“มีเด็กผู้หญิงบางคนที่จำเป็นต้องโกนผมเพื่อเข้าเรียนเช่นเดียวกัน หลายคนเป็นเด็กกำพร้าและหากสงครามยุติลงก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้พบครอบครัวหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หากสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้รับการแก้ปัญหา และหากถูกส่งตัวกลับไปยังพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นพื้นที่อันตรายนั้น ก็ไม่รู้ชะตาชีวิตของพวกเขานั้นจะเป็นอย่างไร” พระวิสิทธิ์ กล่าว

 

ที่มา : สยามรัฐ

Leave a Reply