“อธิการบดี มจร” แนะนำอริยสัจโมเดลเป็นฐาน ออกแบบหลักสูตรจริยธรรมต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชน ของมูลนิธิต่อต้านการทุจริต

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ห้องพุทธเมตตา หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มูลนิธิต่อต้านการทุจริตโดยคณะทำงานในการจัดทำหลักสูตรการอบรมจริยธรรมและการต่อต้านการทุจริต ศูนย์ฝึกอบรมต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มจร จัดการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ในประเด็นหัวข้อ “การออกแบบหลักสูตรจริยธรรมต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชน” เพื่อนำองค์ความรู้จากผลการสนทนากลุ่มไปเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนจัดทำกรอบหลักสูตรจริยธรรมต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและฝึกอบรมจริยธรรมเพื่อการต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพลเอกธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว

ต่อมาพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปาฐกถาหัวข้อ “จริยธรรมสำหรับการป้องกันทุจริต” โดยกล่าวประเด็นสำคัญว่า ขออนุโมทนาในกุศลจิตในการมาร่วมเพื่อการออกหลักสูตรจริยธรรมเพื่อการต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชน จะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นคุณงามความดี จึงต้องสร้างปรโตโฆสะรูปแบบของการแนะนำคำสั่งของบุคคล และช่องทางต่างๆ ให้เด็กเยาวชนละชั่วทำความดี เป็นอาหารในทางใจ สร้างบรรยากาศแห่งคุณงามความดี เช่น สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม มีวัฒนธรรมที่ดี สร้างบุคคลต้นแบบเชิดชูในการสร้างคุณงามความดี โดยชื่อหลักสูตรจะต้องไม่แข็งเกินไปจะต้องนุ่มนวลอยากเรียนรู้

สัทธรรมในทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วย 1)ปริยัติสัทธรรม เป็นหลักวิชาการเกี่ยวกับจริยธรรม โดยจริยธรรมเป็นเนื้อหาเป็นหลักการปฏิบัติที่ดีงาม โดยต้องตอบคำถาม 5 ข้อ ประกอบด้วย 1)ชีวิตคืออะไร 2)ชีวิตเป็นอย่างไร 3)ชีวิตเป็นไปอย่างไร 4)ชีวิตควรเป็นอย่างไร 5) ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งเป็นวิชาการเป็นปริยัติอย่างหลักสูตรเป็นเพียงปริยัติ ความรู้ทางวิชาการไม่เพียงพอแต่มุ่งเก่ง 2)ปฏิบัติสัทธรรม เป็นการลงมือปฏิบัติโดยมุ่งเฉพาะไตรสิกขา ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการฝึกอบรมกล่อมเกลาผ่านศีล จิตใจนำไปสู่เกิดการปัญญา เป็นการฝึกอบรมควรคู่กันไปแต่มุ่งความดี 3)ปฏิเวธสัทธรรม ผลที่เกิดขึ้นรู้ดีทำได้ใช้เป็น

หลักสูตรที่จะออกแบบจะต้องมีหลักการ วิธีการ กระบวนการ ผ่านการเก่ง ดี มีความสุข จะต้องพัฒนาจิตใจให้ดีงาม ควรบูรณาการหลากหลายรูปแบบเพื่อให้จิตใจดีงาม ผ่านกระบวนการไตรสิกขาถือว่าเป็นจริยธรรม สอดรับกับพระพุทธเจ้าในการตรัสรู้ผ่านอริยสัจ 4 จึงต้องมุ่งหาตัวทุกข์ให้เจอว่าทุกข์อะไรอย่างไร กับมุ่งสาเหตุของปัญหาของตัวทุกข์ คำถามเด็กเยาวชนมีปัญหาอะไรอย่างไร ซึ่งเด็กเยาวชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต จะทำให้กลับมาสู่ความดียาก จึงต้องมองสมุทัยให้ลึกซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของเด็กเยาวชน จึงต้องมองนิโรธซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาหลักสูตร หลักสูตรจึงเป็นนิโรธ แต่มรรคเป็นสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งเป็นวิธีการ ซึ่งการไปสู่นิโรธไม่ใช่ปริยัติแต่เป็นปฏิบัติสัทธรรม เพราะถ้าคนเก่งมากจะเป็นมิจฉาทิฐิเพราะหลงว่าตนเองเก่ง จึงต้องพัฒนาสติสมาธิให้เป็นคนดีจึงนำไปสู่ปัญญา ซึ่งปัญญาสามารถเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาผ่านสติและสมาธิ จะต้องมองให้ชัดถึงอริยสัจโมเดลผ่านปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และวิธีการ

Leave a Reply