วัดขุมกำลัง  3 โปรเจกต์  (ของ) 3 สมเด็จ..ใครรอด..ใครร่วง??  

“เปรียญสิบ” จะขอพูดถึง 3 โครงการของมหาเถรสมาคมที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ 3 สมเด็จ นั่นคือ 1. หมู่บ้านรักษาศีลห้า   2.โครงการ วัด ประชารัฐ สร้างสุข และ 3. หน่อยอบรมประชาชนประจำตำบลหรือ อ.ป.ต.

“เปรียญสิบ”  จะขอพูดแบบวิพากษ์ด้วยความเป็น “กัลยาณมิตร” ด้วยจิตไมตรี อาจกระทบ “ความรู้สึก” ของผู้รับผิดชอบทั้งระดับบนและระดับล่างและเครือข่าย แต่จุดมุ่งหมายมิได้มีเจตนาก้าวล่วงหรือทำลาย “ขวัญและกำลังใจ” ผู้ใดไม่  หาก “พวกท่าน” ยอมรับไม่ได้..จนใจที่จะอธิบาย

หมู่บ้านรักษาศีล 5  เบอร์หนึ่งคนคุมโครงการนี้  “สมเด็จธงชัย” รับช่วงมาจาก “สมเด็จช่วง” ผู้ริเริ่มต้นคิดโดยมี 5 ขุนพลข้างกาย “สมเด็จช่วง” เดิม คือ เจ้าคุณพิมพ์ วัดปทุมคงคา ,  เจ้าคุณแย้ม วัดไร่ขิง , เจ้าคุณวัดพนัญเชิง , เจ้าคุณวัดกวิศ,  และ เจ้าคุณวัดหนองหอย จังหวัดราชบุรี  ทั้ง 5 รูปนี้ คือ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ”  ร่วมเป็น “กุนซือ”  คอยวางแผนทำงานหมู่บ้านศีล 5 มากับ “สมเด็จช่วง” มาตั้งแต่ต้น   เริ่มแรกมี “ท่อน้ำเลี้ยง” จากวัดปากน้ำเป็นหลักใหญ่ ตามปณิธานของ “สมเด็จช่วง” ที่ว่า ไปที่ไหน..อย่าให้วัดหรือชุมชน “ลำบากใจ”

ปัจจุบันเมื่อ “สมเด็จธงชัย” เข้ามาคุมเกมนอนหลับอยู่วัดได้ “อย่างสบาย” เพราะแค่ “รีโนเวท” ใหม่ แต่ใช้ทีมเดิม ผนวกกับ “ทีมใหม่” ที่มีทั้งพระสาย “มหานิกาย-ธรรมยุต” เข้าร่วม พร้อมรบในทุกสถานการณ์ หนกลางมี “พระเทพปวรเมธี” เป็นแม่ทัพผนวกกับ “กองหนุน” ทั้งวัดหลวงพ่อรวย วัดเศรษฐีเรือทอง เป็นต้นคอยดูแล  หากไม่พอ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” อนุญาตให้เปิดตู้บริจาคได้ตลอด 24 ชั่วโมง  หน้าที่ “สมเด็จธงชัย” ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง “ไม่ต้องทำอะไร” เพียงแค่  “มอนิเตอร์” คอย “ตบรางวัล” สร้างขวัญกำลังใจให้คณะทำงานเท่านั้นพอ

“วัด ประชารัฐ สร้างสุข” อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ “แม่ทัพ” คือ  “สมเด็จชิน” ชื่อเสียงเรียงนามฉายา  “สังฆราชน้อย” ความยิ่งใหญ่ เครือข่าย ทุน ไม่ต้องพูดถึง เริ่มแรกทำงานตีคู่ขนานกับหมู่บ้านรักษาศีล 5 มาอย่างราบรื่นประเภท “คนดู-กองเชียร์” ใจหายใจคว่ำ  โดยมี “พระธรรมรัตนาภรณ์”  เป็น “ขุนพล” คู่กาย และมี “วัดพระธรรมกาย” เป็นแบ็คอัพสำคัญ  แต่มา “สะดุด” เมื่อ “เจ้าคุณสมศักดิ์” หรือพระธรรมรัตนาภรณ์ ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี  “กลางอากาศ”  ส่งผลให้ทีมงาน “วัดประชา รัฐ สร้างสุข” เสมือน “หมดอาลัยตายอยาก” การขับเคลื่อนนโยบาย 5 ส. อันเป็นเป้าหมายใหญ่ของ โครงการวัด ประชารัฐ สร้าง สุข “ไม่ราบรื่น” เหมือนดังเคย  “เจ้าคุณสมศักดิ์” คำพูดเริ่ม  “ไม่ศักดิ์สิทธิ์”  เพราะไม่มีตำแหน่งทางปกครอง ไม่มีอำนาจสั่งการเหมือนเดิม ขณะที่  “วัดพระธรรมกาย”  เริ่มดู “ลู่ทางลม”  ทีมงานมีแต่  “หัว” แต่ “มดงาน” เริ่มไม่ขยับ ทุกวันนี้ทำงานแบบ..ให้พอรู้ว่า โครงการ วัด ประชารัฐ สร้างสุข ยังคงดำรงอยู่ อันนี้ “สมเด็จชิน” ต้องแก้เกมต้องสร้างขวัญและปลูกใจทีมงานใหม่ ร่วมทั้งต้องดึงเด็กในคาถา “สายธรรมยุต” เข้ามาเสริมทีม..มองอยู่ข้างเวทีให้เพื่อน “มหานิกาย” เล่นอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้อีกต่อไป..

“หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล”  มีชื่อย่อว่า อ.ป.ต. ก่อตั้งปี 2518 โดย  “สมเด็จฟื้น”  วัดสามพระยา ปัจจุบันมี “สมเด็จปสฤทธ์” วัดโพธิ์ท่าเตียน “คุมบังเหียน” อันมีเลขาคู่ใจ “เจ้าคุณวีรพล” คอยประสานสิบทิศ เก่ง ฉลาด ไหวพริบดี แต่ยังขาด “บารมีและทีมงาน” ทำงานขับเคลื่อนภารกิจตามบทบาท อ.ป.ต. ที่กำหนดไว้ 8 พันธกิจทั้งเรื่องความสามัคคี สัมมาชีพ ศึกษาสงเคราะห์ ตามหลัก “บวร” โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือ สงเคราะห์ประชาชน  “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  นั่นเอง การขับเคลื่อนที่ผ่านมายังไม่มีอะไรเป็น “รูปธรรม” ที่ชัดเจน ความจริงเรื่องนี้ “ฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์” ภายใต้อันเดอร์ของ “สมเด็จปสฤทธ์” ต้องยื่นมือมาช่วย มัวแต่รอให้เกิด “น้ำท่วม -ไฟไหม้” ยังเดียวแล้วจึงออกจากกุฎิ “ใช้ไม่ได้” หรือหากมหาเถรสมาคมต้องการให้งาน อ.ป.ต. ทำได้อย่างสัมฤทธิผลจริง  จำเป็นอย่างต้องเพิ่ม “เขี้ยวเล็บ” ให้ “สมเด็จปสฤทธ์” โดยเฉพาะตำแหน่งทางปกครอง เช่น เจ้าคณะใหญ่หน เสมอภาคกับ “สมเด็จธงชัย” แล้วประชันวัดฝีมือ..อันนี้ “มวยถูกคู่” แน่ ดูว่าหลังจากนี้วันที่ 13 กันยายนนี้ ซึ่งมีการประชุมสัมมนาใหญ่ จะมีการปรับปรุงและขับเคลื่อนอะไรเป็นรูปธรรมหรือไม่!!

“เปรียญสิบ” พูดวิพากษ์มาทั้งหมดท่านผู้อ่าน..คงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าขุมกำลังของใครแน่นหนากว่ากันและเหตุผลเพราะอะไร และทั้งเมื่ออ่านแล้วคงคิดได้ว่าโครงการไหน “รอด -ร่วง” ซึ่งยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าภารกิจงานทั้ง 3 โครงการทับซ้อนกันหรือไม่ คณะทำงาน “ทำหนัก” เกินไปหรือไม่ เพราะบางรูปปรากฎรายชื่ออยู่ทั้ง 3 โครงการ แม้กระทั้งว่าทั้ง 3 โครงการเข้าถึงประชาชนหรือไม่ งบประมาณจะเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่” และหากจะขับเคลื่อนต่อควรทำอย่างจำเป็นหรือไม่ ทั้ง 3 คณะต้องร่วมกันหาเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญมา “ถอดบทเรียน” เพื่อให้วัดเป็น “ศูนย์กลางชุมชน” และเพื่อให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายจริง  ๆ

 

รวมทั้งจำเป็นหรือไม่ “มหาเถรสมาคม” อาจต้องทบทวนบทบาททั้ง 3 โครงการนี้ “ยุบรวม” เป็นโครงการเดียวหรือตั้งคณะทำงานเป็น “มหาเถรน้อย”  คอยขับเคลื่อน โดยมีสิ่งล่อใจตำแหน่งทาง “ปกครอง – สมณศักดิ์” เป็นขวัญและกำลังใจให้กับคณะทำงาน เรื่องนี้ต้องให้ทั้ง “ 3 สมเด็จ” ไปขบคิดในฐานะเป็นพี่ใหญ่ของโครงการ

 

อันนี้แค่ ออเดิร์ฟ” ฉายภาพใหญ่ให้เห็นเท่านั้น..

Leave a Reply