ผู้บริหาร “มจร” วิทยาเขตเชียงใหม่พบ “เศรษฐา” ให้ช่วยดูแลสามเณรไร้สัญชาติในไทยไม่ได้เรียนหนังสือ

วันที่ 16 กันยายน 2566 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์, ผศ.ดร. รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ เข้าพบอวยพรให้กำลังใจในการบริหารประเทศแก่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ที่ลงพื้นที่

พร้อมกันนี้คงรายงานปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาของสามเณรไร้สัญชาติที่หนีภัยสงครามเข้ามาอาศรัยที่วัดในประเทศไทย ทั้งนี้พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ (วงใส) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) วิทยาเขตเชียงใหม่ เคยเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ประเทศพม่า เพื่อไปศึกษาประเด็นปัญหาสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่ลูกเณรเข้ามาพึ่งพาอาศัยลี้ภัยสงคราม เมื่อได้ลงพื้นที่ปรากฏว่าในประเทศพม่าก็มีการจัดการศึกษาให้กับสามเณรเช่นเดียวกัน เพียงแต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้เลขระบุสถานะทางทะเบียน และการจัดการศึกษาก็เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถสื่อสารกันและกันได้เท่านั้น เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่าประเทศพม่ามีหลากหลายชาติพันธุ์และพูดคุยกันคนละภาษา

พระวิสิทธิ์กล่าวว่า สามเณรสามารถแบ่งประเภทได้ 3 ส่วน คือ 1.สามเณรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เข้ารับการศึกษาโดยไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลพม่า และอยู่ในพื้นที่เงียบสงบ 2.สามเณรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ารับการศึกษาโดยมีรัฐบาลพม่าสนับสนุน 3.สามเณรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งผู้ปกครอง พ่อแม่ของสามเณรบางส่วนเป็นผู้อพยพลี้ภัยทางการเมือง และนำลูกมาบวชเพราะต้องการปกป้องลูกให้อาศัยร่มกาสาวพัสตร์จากภัยสงคราม

“มีเด็กผู้หญิงบางคนที่จำเป็นต้องโกนผมเพื่อเข้าเรียนเช่นเดียวกัน หลายคนเป็นเด็กกำพร้าและหากสงครามยุติลงก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้พบครอบครัวหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หากสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้รับการแก้ปัญหา และหากถูกส่งตัวกลับไปยังพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นพื้นที่อันตรายนั้น ก็ไม่รู้ชะตาชีวิตของพวกเขานั้นจะเป็นอย่างไร” พระวิสิทธิ์ กล่าว

พร้อมกันนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า การนี้ พระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์ ได้หารือพิจารณาขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อพัฒนาโครงการเมืองพุทธนวัตกรรมอัจฉริยะและหุบเขาแห่งความสุขของประเทศไทย บนเนื้อที่ 906 ไร่ ภายใน มจร.บ้านโป่งกุ่ง ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ด้วย

Leave a Reply