สวนกระแส!! แต่ได้ใจ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” : IBSC ปรับขึ้นเงินเดือนบุคลากรทุกประเภท     

วันที่ 2 ตุลาคม 2566  พระเมธีวัชรบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ( มจร) ได้ทำหนังสือถึง พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี มจร เพื่อขอปรับขึ้นเงินเดือนคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ลูกจ้างโดยใช้งบประมาณจากส่วนงาน IBSC

 พระเมธีวัชรบัณฑิต ได้เปิดเผยเรื่องนี้ว่า การปรับขึ้นเดือนนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการประจำวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566  “หลังจากที่คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่อัตราจ้างของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ได้ทุ่มเทกายใจ อุทิศตนเสียสละทำงานอย่างหนักหน่วงตลอด 5 ปี ด้วยเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ จนผ่าน EdPEx200 ตามประกาศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.) นั้นเพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจให้กำลังคนทำงานรับใช้วิทยาลัยด้วยความซื่อตรง และเสียสละ  ทีมงานผู้บริหาร IBSC จึงได้มีมติขออนุมัติมหาวิทยาลัย โดยปรับฐานเงินเดือนอาจารย์ขึ้นเป็น 35,000 บาท ฐานเงินเดือนเจ้าหน้าที่วุฒิ ป.ตรี การันตีที่ 20,000 บาท และวุฒิ ป.โท การันตีที่ 25,000 บาท โดยสามารถนำสมรรถนะด้านภาษามาขอปรับเพิ่มเติมได้อีก..”

 พระเมธีวัชรบัณฑิต ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  “ในส่วนของการปรับขึ้นเงินเดือนตรงนี้ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ  ได้จัดสรรงบประมาณจากรายได้ของส่วนงานวิทยาลัย IBSC ผ่านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการบริจาคจากพุทธศาสนิกชนเข้ากองทุนพัฒนาวิทยาลัย วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ  ต้องขอกราบขอบพระคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัย มจร ที่ตระหนักรู้ และเห็นความสำคัญของบุคลากรของ IBSC ที่ทุ่มเทกายใจ อุทิศตนเสียสละทำงานเพื่อยกระดับการบริหารจัดการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร เพื่อนำพระพุทธศาสนาไปตอบโจทย์ชุมชนและสังคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป..”

สำหรับวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2556  ภายใต้นโยบายหลักของสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการจัดการ ศึกษาในสาขาวิชาพระพุทธศาสนาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก นอกจากนั้นยังมี สาขาวิชาอาเซียนศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรของวิทยาลัยพุทธศาสตร์ นานาชาติ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่จะเติบโตเพื่อความเป็น “ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ” สําหรับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และ คฤหัสถ์ ที่จะเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาจากทั่วทุกมุมโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อ เป็นการต้อนรับการเปิดโลกทัศน์ทางความรู้ในประชาคมอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน และ พระเมธีวัชรบัณฑิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหม่ใหญ่แป้น  กรุงเทพมหานคร มีตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ศาสตราจารย์”  ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการรูปแรกของสถาบัน

สำหรับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปัจจุบันมีนิสิตนานาชาติอยู่ประมาณ 1,300 รูปคน จาก 28 ประเทศ ที่เข้ามาศึกษาต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก

Leave a Reply