“เจ้าคุณหรรษา” ชี้ช่องพรบ.พระปริยัติธรรม จะเป็น “การศึกษาของคณะสงฆ์ โดยคณะสงฆ์ เพื่อคณะสงฆ์”  ตั้งแต่มัธยม – ปริญญาเอก

“ท้ายเล่มของพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2566 ได้หมายเหตุไว้ว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่โบราณราชประเพณี สถาบันพระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาของชาติมาโดยตลอด ซึ่งคณะสงฆ์ได้ดำเนินการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมอันเป็นส่วนเฉพาะของการศึกษาของคณะสงฆ์ควบคู่กันไปกับการศึกษาวิชาสามัญดังนั้น เพื่อให้การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมได้รับการสนับสนุนส่งเสริมด้วยดีจากภาครัฐ และสามารถ  บริหารจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองนโยบายการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์และของชาติได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้..”

พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมมีทั้งหมด 33 มาตรา และถือว่าเป็นพระราชบัญญัติฉบับที่ 2 ของคณะสงฆ์ได้ ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีกฎหมายลูกทั้งข้อบังคับคำประกาศอีก 20 กว่าฉบับ ครอบคลุมการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา พระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม และพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และอนาคตภายใต้กฎหมายฉบับนี้ คณะสงฆ์สามารถต่อยอดเปิดเป็นมหาวิทยาลัย วิทยาลัย เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้

ตามข้อสังเกตของ “พระเมธีวัชรบัณฑิต” ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตน์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดังมีรายละเอียดว่า

..คนที่อ่าน พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบผิวเผินแล้ว มักจะสรุปเอาดื้อๆ ว่า ตามมาตรา 22, 23 และ 24 นั้น ผู้เรียนจะได้วิทยฐานะตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงปริญญาตรีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านกฏหมายให้ละเอียดลึกซึ้ง จะพบว่า มาตรา 24 วรรคสอง ได้ชี้ว่า “ในกรณีที่ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวงชั้นใด ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ให้ผู้นั้นมีวิทยฐานะระดับใด ๆ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนด”

ในวรรคสองกล่าวถึงระบบและกลไกสำคัญของผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการอนุมัติปริญญา ตามมาตรา 12 (5) อนุมัติให้ปริญญาและประกาศนียบัตร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในการออกแบบเกณฑ์ให้มีการศึกษาเพิ่มเติมและอนุมัติหลักสูตรทั้งปริญญาโท และเอก โดยผ่านความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม และคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

จะเห็นว่า คณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาตินั้น สามารถอนุมัติวิทยฐานะ ตั้งแต่ ป.ตรีจนถึงเอกได้ ถ้าการจัดการศึกษานั้นสอดรับกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรที่ออกโดยกระทรวงอุดมศึกษาฯ

จากร่องรอยของแนวทางดังกล่าว ต้องชื่นชมคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ยกร่างที่ดูเหมือนจะถอย แต่จริงๆ มิใช่การถอยหากแต่เป็นการรุก ในกรณีที่เสนอให้ผู้จบประโยคเก้าซึ่งจบการศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ให้มีวิทยฐานะเป็นปริญญาเอกได้รับการปฏิเสธ แต่พบว่ามีการประนีประนอมว่า ถ้าหากมีการศึกษาเพิ่มเติม เช่น การเรียนวิชาวิจัยชั้นสูง แล้วทำสารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ หรือดุษฏีนิพนธ์ ผู้เรียนก็จะมีสิทธิ์จบการศึกษาในระดับปริญญาโท หรือเอกในที่สุด

พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับนี้ จัดเป็นการศึกษาแบบ Monastic Education โดยจิตวิญญาณและลมหายใจ ที่มุ่งให้ยกระดับการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยคณะสงฆ์ เพื่อคณะสงฆ์ เพื่อให้คณะสงฆ์สามารถจัดการศึกษาสงฆ์ ให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 5 ที่ว่า

มาตรา 5 การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(1) เพื่อให้การศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นไปตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก โบราณราชประเพณี และสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ

(2) เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรมีการน าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป

(3) เพื่อให้พุทธศาสนิกชนนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้อง

ขออนุโมทนาครูบาอาจารย์ที่เป็นเทคโนแครตทางการศึกษาของคณะสงฆ์ที่มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล  เพียรพยายามประนีประนอมแนวทางในการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ เพื่อให้พระหนุ่มเณรน้อย กุลบุตรกุลธิดา อุบาสกอุบาสกทั้งหลายได้พากันศึกษาธรรม เรียนรู้ธรรม ปฏิบัติธรรม และเผยแผ่ธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสมดังความตั้งใจที่ว่า #การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ #โดยคณะสงฆ์ #เพื่อคณะสงฆ์

Leave a Reply