พระสงฆ์ระงับใช้ “ทนาย” เห็นด้วยกับ “สมเด็จธงชัย” แต่ต้องมีทางออก??

เมื่อวานนี้ “ผู้เขียน” ไปร่วมวงพูดคุยเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายพระพุทธศาสนา ณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมี คุณสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ดร.นิยม เวชกามา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรี ดร.ณพลเดช มณีลังกา และคณะทีมที่ปรึกษา ได้เข้าร่วมประชุมกับ นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง  ประเด็นที่ร่วมวงพูดคุยส่วนใหญ่ก็คืองานที่เกี่ยวข้องกับกิจการคณะสงฆ์ ทั้ง “การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาต่อยอด” ซึ่งเท่าที่ฟังนโยบาย 7-8 ข้อเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องและอยู่ใน “แผนยุทธศาสตร์การปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6+1 ของคณะสงฆ์ ที่มหาเถรสมาคมและรัฐบาลรับรอง ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 อยู่แล้ว  ไม่ว่าเรื่องบัตร Smart Card ของพระสงฆ์ การพัฒนาพุทธมณฑล ปัญหาที่ดินวัด พระคิลานุปัฎฐาก หรือแม้กระทั้งค่าตอบแทนครูสอนตาม พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม  เท่าที่ฟังเรื่องที่รัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือเรื่องบัตร Smart Card และพระคิลานุปัฎฐาก เป็นอันดับต้น ๆ

ฟัง “ทัศนคติ” ของทีมที่ปรึกษาอันรวมถึงเลขานุการรัฐมนตรี คณะสงฆ์  “เชื่อใจ” ได้ ไว้วางใจได้ ทุกท่านมา “มาดี” โดยเฉพาะ “มหานิยม เวชกามา” อดีต สส.สกลนคร  ดีกรีเปรียญธรรม 5 ประโยค อยู่ในร่มเงาสมณเพศ ทั้งเป็นสามเณรและภิกษุ 16 พรรษา หรือแม้กระทั้ง “มหาเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล” คนนี้เปรียญธรรม 3 ประโยค บวชเรียนถึง 19 พรรษา ร่วมทั้งทีมงานอื่น ๆ  “ทุกคน” ล้วนผ่านงาน “รับใช้” คณะสงฆ์และพุทธศาสนามาแล้วทั้งสิ้น เช่น “ดร.ปิง”  หรือแม้กระทั้ง คุณสุภาภรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีก็มิใช่ใครอื่นที่ไหน ใกล้ชิดกับคณะสงฆ์เป็นอย่างดี และเท่าที่ฟังจากเลขานุการรัฐมนตรีเดียวคณะจากพรรคเพื่อไทย ที่ทำงานร่วมกับพระมานาน เช่น คุณพรเพ็ญ   บุญศิริวัฒนกุล  คุณลีลาวดี วัชโรบล ก็จะมาเป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีทำงานร่วมกับชุดนี้ด้วย

ส่วนนโยบาย 7-8 ข้อที่กล่าวมา เป็นเรื่องเร่งด่วน นโยบาย อื่น ๆ  คงตามมาอีก เพราะ “ทีมนี้” คือ ทีมมืออาชีพ เป็นคนควัด บางคน รู้ปัญหาของพระและทางออก รวมทั้ง การพัฒนากิจการพระพุทธศาสนา มากกว่า เก่งกว่า พระบางรูปอีกซ้ำไป

“ผู้เขียน”  กว่าจะกลับถึงบ้านรวมทั้ง “ปั่นข่าว” ก็ดึกแล้ว มีคนส่งข่าว  “สมเด็จธงชัย” สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง  ให้โอวาทแก่พระสังฆาธิการ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ในเขตปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร ประมาณว่า “ขอให้พระสงฆ์งดใช้ทนายความออกหน้าสื่อ เพื่อไม่ให้เรื่องลุกลาม เพราะทนายมีการไปโพสต์ลงสื่อออนไลน์ อาจทำให้พระสงฆ์กลายเป็นเหยื่อโซเชียลไปด้วย ดังนั้น หากมีเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ขอให้ปรึกษากับทางเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร..”  

“ผู้เขียน” ในฐานะสื่อมวลชน “โปรดิวเซอร์” รายการ “สนทนา” ทางโทรทัศน์ หลายปีมานี้จากการเกาะติดเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผันตัวเองมาเกาะติดความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ประเภทเป็น “แฟนคลับ” โดยเฉพาะ “มหาเถรสมาคม” ในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะ เป็น “รัฐมนตรีพระ” เป็นผู้กุมชะตาพระสงฆ์มากกว่า 3 แสนรูป วัดกว่า 4 หมื่นวัด ยิ่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 เป็นระบบ “ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” ยิ่งน่าติดตามการใช้อำนาจของ “รัฐมนตรีพระ” คือ มหาเถรสมาคม สิ่งที่ท่านสั่งการลงไป วินิจฉัยลงมา หรือออกกฎเกณฑ์ นโยบายไหน ชอบด้วย พระธรรมวินัย กฎหมาย มติ มส.หรือ “คุณธรรมจารีตประเพณี” ที่คณะสงฆ์สืบทอดกันมาหรือไม่

เมื่อคืนอ่านข่าว “สมเด็จธงชัย” นี่น่าจะเป็น “ครั้งแรก” ที่เห็นด้วยกับนโยบายของ “สมเด็จธงชัย”แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่หยิบยกประเด็นเรื่องการใช้ทนายของพระสงฆ์นี้ขึ้นมา ส่วนประเด็นที่ว่า คณะสงฆ์จะพึ่งเจ้าคณะปกครองได้หรือไม่ หรือ เมื่อวัดเกิดปัญหาแล้ว กระบวนการที่จะ “ยุติ” ความขัดแย้ง ทั้งปัญหาภายในวัดหรือกับชุมชนรอบวัด รวมทั้งปัญหาทรัพย์สินของวัด อันนี้จะ “ไม่วิพากษ์” ต่อ แต่โดย “หลักการ” เห็นด้วยกับ “เจ้าประคุณสมเด็จธงชัย”

พระสงฆ์ต้องแก้ปัญหาด้วยกันเอง..ทนายเข้าที่ไหน..ที่นั่นมีแพ้ มีชนะ ซ้ำมีแต่เสียกับเสีย!!

“ผู้เขียน” ขอถวายต่อยอด เจ้าประคุณสมเด็จธงชัยว่า หากเจ้าประคุณขอให้เจ้าอาวาสหรือคณะสงฆ์ระงับการใช้ “ทนาย” ต้องมีทางออกให้กับวัดและเจ้าอาวาสท่าน เช่น ปัจจุบันมีศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำอยู่ตามวัดต่าง ๆ  ทำอย่างไรจึงจะ “ไม่ร้าง” หรือหาก “เพิ่มงาน” ให้กับคณะสงฆ์อีกงานหนึ่งก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จต้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร จับมือร่วมทำ MOU กับสภาทนายความ สำนักงานอัยการ และรวมทั้ง สำนักงานศาลยุติธรรมด้วย  จึงจะสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้กับคณะสงฆ์ภายใต้ปกครองของเจ้าประคุณได้ และเมื่อเซ็นต์ MOU เสร็จเรียบร้อย ให้ พระสงฆ์ หรือ ไวยาวัจกรวัด กรรมการวัด นั่น ๆ มาอบรมประดับความรู้ทั้งเรื่องการไกล่เกลี่ย ทั้งเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวัด เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ กฎหมายแพ่งและอาญา การบริหารทรัพย์สิน ระบบการทำบัญชี ของวัดอะไรพวกนี้

สรุปใจความก็คือ เห็นด้วยที่คณะสงฆ์ไม่ใช้ทนายความ โดยเฉพาะจำพวกทนาย “หิวแสง”

แต่.. เจ้าประคุณสมเด็จต้องทำอย่างที่โยมแนะนำ..เพื่อให้คณะสงฆ์มีทางออก!!

Leave a Reply