นานาทัศนะ : บทบาทมหาจุฬา ฯ กับงานวิชาการสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยระดับโลก”

งานประสาทปริญญาประจำปีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยผ่านพ้นไปแล้วด้วยความเรียบร้อย สมกับความเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาระดับโลก เนื่องจากมีนานาชาติ ประมุขสงฆ์ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา รวมทั้งปราชญ์จากหลายประเทศเดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง

ซึ่งปีนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งพระสังฆาธิการ ภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ทุกระดับชั้น จำนวนทั้งสิ้น 4,628 รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีพันธกิจหลัก 4 ด้าน คือ ผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนาส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม นอกจากดำเนินงานตามพันธกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องประกาศเกียรติคุณพระมหาเถรานุเถระ ภิกษุณี และอุบาสกอุบาสิกา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเข็มเกียรติคุณ เพื่อเป็นการประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่องเชิดชูในงานพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัย ในปีนี้ สภามหาวิทยาลัย จึงได้อนุมัติให้มีการมอบถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 74 รูป/คน เข็มเกียรติคุณ 43 รูป/คน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และคฤหัสถ์ โดยปัจจุบัน การจัดการศึกษาในประเทศประกอบด้วย 11 วิทยาเขต 28 วิทยาลัยสงฆ์ 3 หน่วยวิทยบริการ และสถาบันสมทบในต่างประเทศอีก 5 แห่ง มีทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรอินเตอร์ ระดับชั้นปริญญาตรี-โท-เอก มีจำนวนทั้งสิ้น 20,346รูป/คน ประกอบด้วยนิสิตปริญญาตรีจำนวน 14,356 รูป/คน นิสิตปริญญาโท 3,748 รูป/คนนิสิตปริญญาเอก 2,242 รูป/คน

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีพระสงฆ์นานาชาติเดินทางมาศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ทั้งหลักสูตรอินเตอร์ และหลักสูตรภาษาไทยมากกว่า 1,300 รูป/คนจาก 28 ประเทศถือว่า มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก

ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยระยะที่ 13 คือ พ.ศ.2566-2570 ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ว่า จัดการศึกษา พัฒนาบัณฑิตให้มีปัญญาและคุณธรรม โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา บูรณาการในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีสติปัญญาและคุณธรรม เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มที่ 4 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำหนดไว้ว่า เป็น “กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา” และวิสัยทัศน์ดังกล่าวก็เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของแผนพัฒนาการศึกษาชาติ ที่ให้การศึกษาเป็น “เครื่องมือและกลไกสำคัญ” ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความเป็นพลเมือง มีทักษะความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะ ในการปฎิบัติงาน และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ประกอบด้วย

ทีมข่าว Thebuddh” ได้สอบถามพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เกี่ยวกับประเด็นนี้  ซึ่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้ตอบว่า ในแผนของมหาวิทยาลัยระยะที่ 13 ที่ระบุว่า ต้องการจัดการศึกษา พัฒนาบัณฑิตให้มีสติปัญญาและคุณธรรมนั่น เป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการโดยตรง ที่กำกับดูแลและผลิตหลักสูตรให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งมีเป้าประสงค์ 4 เป้าประสงค์ 16 ตัวชี้วัด และ 11 กลยุทธ์   เป้าประสงค์ 4 เป้าหมาย คือ หนึ่ง ผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะทางสติปัญญาและคุณธรรม โดยมีตัวชี้วัดที่เกิดจาก หนึ่ง จำนวนนิสิตที่ประสบความสำเร็จที่ได้รับการยกย่อง มีชื่อเสียง หรือได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สอง มหาวิทยาลัยของเราเอง ก็จะกำหนดเป็นคะแนนเฉลี่ยคุณลักษณะทางสติปัญญาและคุณธรรม ตรงนี้เรามีการประเมินทั้งในขณะกำลังเรียนและหลังจากจบการศึกษาแล้ว สาม ระดับความพึงใจของผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ และตัวชี้วัดที่สี่ คือ การประเมินบัณฑิต มีองค์ความรู้ โดยประยุกต์ใช้กับหลักพุทธธรรมได้หรือไม่ ซึ่งภายใต้เป้าหมายและตัวชี้วัดนี้ ทาง มจร ของเราได้กำหนดกลยุทธไว้ว่า จะต้องส่งเสริมนิสิตมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน ให้ส่วนงานต่าง ๆ  ภายในมหาวิทยาลัย จัดการศึกษา ดำเนินการพัฒนาบัณฑิตให้เกิดมีสติปัญญาและคุณธรรม

“ส่วนอีก 3 เป้าหมายนั่น ที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ตามยุทธศาสตร์นี้ก็คือ  มหาวิทยาลัยต้องจัดการหลักสูตรมีการบูรณาการหลักพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ สอง ต้องพัฒนาคณาจารย์ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์และสามารถบูรณาการพุทธนวัตกรรมกับกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม และต้องพัฒนาทรัพยากรทางการศึกษาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 3 เป้าหมายนี้ก็มีตัวชี้วัด กลยุทธ์ เช่นเดียวกับเป้าหมายที่หนึ่ง  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ อว.จัดให้เราอยู่ในกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา  ซึ่งสอดคล้องกับพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ที่ทรงสถาปนาเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ สิ่งที่เราทำอยู่วันนี้และในอนาคตสอดคล้องกับพระราชปณิธานนี้ วันนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ ทั้งผลการผลิตบัณฑิตภายในประเทศและนานาชาติ.”

ในปีการศึกษา2565 สำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ดำเนินการรวบรวมสถิตินิสิตต่างประเทศที่กำลังศึกษาอยู่ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งจากส่วนกลาง, วิทยาเขต,วิทยาลัยสงฆ์, หน่วยวิทยบริการ และสถาบันสมทบภายในประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1383 รูป/คน จาก 25 ประเทศ ซึ่งถือว่าน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่มีนักศึกษาต่างชาติจากหลายประเทศที่เดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศ อันนี้ไม่นับรวม นักศึกษาจีน ที่ทะลักเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทยที่ตอนนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และมีมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งถูกแทคโอเวอร์ไปแล้วก็มี

พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน ได้พูดถึงบทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับงานวิชาการเพื่อก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาระดับโลกว่าสรุปใจความสำคัญ 2 ประเด็นว่า  “บทบาท มจร ในเวทีสงฆ์นานาชาติ มีวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ เพื่อสนองงานและรับใช้คณะสงฆ์ ภายใต้บทบาท มจร เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต ส่งเสริมและพัฒนาพระพุทธศาสนา บนฐานของพระธรรมวินัย การศึกษาแนวพุทธ และวิปัสสนากรรมฐาน ส่งเสริมและให้การสนับสนุน นิสิต นานาชาติ ให้ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา และศาสตร์สมัยใหม่ บนฐานของพระวินัย และ ในขณะเดียวกัน ทาง มจร ก็จัดหาทุนการศึกษาให้นิสิตนานาชาติ ตามความเหมาะสม รวมทั้ง สร้างเครือข่ายกับองค์กรพุทธนานาชาติเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์นานาชาติ มจร ได้เจริญสัมพันธไมตรีดีงามต่อกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ร่วมกัน อันนี้บทบาทของ มจร ที่พยายามทำให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์อยู่ในขณะนี้..”

ผศ.ดร.ปัญญา คล้ายเดช อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ชัยภูมิ ระบุว่า  ด้วยกรอบวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยว่า เป็น มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่สร้างพุทธนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม เรื่องนี้ “มจร” ควรปรับตัวเอง จากยุคอนาล็อก สู่ยุคดิจิตัล โดยใช้นวัตกรรมเชิงพุทธมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน อย่างน้อยคิดว่าสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำและขับเคลื่อน 5 ประเด็นด้วยกันคือ 1. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรเชิงพุทธนวัตกรรม โดยปรับโครงสร้างองค์กรให้ทันสมัย ใช้คนให้น้อยลงเพิ่มนวัตกรรมให้มากขึ้น  2. พัฒนาพุทธนวัตกรรมในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรม และความรู้ เพิ่มวิชชา เพิ่มคุณภาพ เพิ่มคุณธรรม ให้กับประชาชนและสังคม 3. ควรพัฒนางานวิจัยเชิงพุทธนวัตกรรม สร้างคุณค่า สร้างมูลค่า พัฒนาจิตใจประชาชนและสังคมได้เป็นรูปธรรม 4. มจร จะต้องเป็นองค์กรนำ ในการเป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการเชิงพุทธนวัตกรรม นำวิชชา ความรู้ ศีลธรรมและจริยธรรม เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคมอย่างทั่วถึง และประเด็นสุดท้ายคือการพัฒนาพุทธนวัตกรรมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ด้วยการสร้างคุณค่าที่เหมาะสมด้านศิลปะวัฒนธรรมให้กับคนในสังคม ด้วยหลักธรรมและหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องและถูกทำนองครองธรรม

“คิดว่าประเด็นทั้ง 5 ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาจงกรณราชวิทยาลัย ผู้บริหารจะต้องทำ เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ในการที่จะนำพามหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนาที่สร้างพุทธนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม   รวมทั้งเรื่อง หลักธรรมาภิบาลและปรับโครงสร้างองค์กร อันนี้ มจร ก็พึงคำนึงให้มาก เนื่องจากเรามีภาพลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในขณะที่การสร้างผลงานทางด้านวิชาการให้เป็นที่ยอมรับอันนี้แน่นอนว่า มจร ต้องส่งเสริมงบวิจัยให้คณาจารย์ให้เพียงพอ พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่กำหนดเอาไว้ และก็เดินไปตามเป้าหมายที่วางหลักกลยุทธ์และการประเมินไว้แล้ว คิดว่าผลผลิตคือ บัณฑิตก็พวกเขาก็จะได้ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการและสถาบันของพวกเรา คือ มจร ก็จะเป็นที่พึ่งของคณะสงฆ์ สังคมได้อย่างแน่นอน ส่วนจะก้าวไปสู่ระดับนานาชาติได้นั่น อย่างน้อย มจร ต้องดำเนินการ 5 ประเด็นหลักคือ หนึ่ง ต้องมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ สอง ต้องผลิตตำราเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค สาม ทุกวิทยาเขต ควรมีอาจารย์ที่สามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ สื่อสารรู้เรื่อง สี่ ต้องส่งเสริมให้คณาจารย์มีช่องทางเผยแพร่บทความวิชาการเป็นภาษาอังกฤษ และประการสุดท้ายก็คือ มจร ของเรา ต้องมีศูนย์การเรียนรู้และเครือข่ายการภาษาอังกฤษ หากเราดำเนินการเริ่มจาก 5-4-3-2-1 ไปตามลำดับ โดยส่วนตัวคิดว่า ความเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก คงไม่ไกลเกินฝัน 

ในขณะที่ Ven.Suriya Mon  ผู้สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต หรือ Ph.D. จากรัฐมอญ ประเทศเมียนมา ที่เข้ารับประทานปริญญาบัตรปีนี้ เผยว่า รู้สึกภูมิใจที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มาเรียนที่นี้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนจบปริญญาเอก สถาบันแห่งนี้ นอกจากหล่อหลอมด้านวิชาการความรู้แล้ว ยังได้หล่อหลอมเรื่องการทำงานเพื่อตอบสนองงานให้กับคณะสงฆ์ด้วย คณะสงฆ์นานาชาติที่มาเรียนที่นี้ ไม่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียว ฝ่ายต่างประเทศก็ดี ฝ่ายกิจการนิสิต หรือคณะต่าง ๆ ก็ดี ฝึกงานให้รู้งานตลอด อาจารย์ที่นี่เป็นมิตรที่ดีมาก บุคลากรก็เอาใจใส่นักศึกษาต่างชาติเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องหอพัก ทั้งเรื่องอาหาร หรือแม้กระทั้งเรื่องการต่อวีซ่า อยากให้ มจร รักษาคุณภาพและความเป็นการเองแบบนี้ตลอดไป ตอนนี้ภูมิใจมากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาระดับโลกแบบนี้ และรวมทั้งต้องขอบคุณผู้บริหารคณะมนุษย์หลังจบแล้วได้รับให้เป็นอาจารย์พิเศษด้วย ตรงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่มหาวิทยาลัยมอบให้กับพวกเรา

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือ เสียงสะท้อนจากทั้งในระดับผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิต ที่ต้องการเห็นภาพอนาคตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่จะก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาโลกนั่น  “มหาจุฬา ฯ” กำลังทำอะไร และทำอะไรอยู่ พร้อมทั้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เอง อยากเห็นอะไร รวมทั้งพระนิสิตนานาชาติจบแล้วเขาได้อะไรจากมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนาระดับโลกแห่งนี้!!

Leave a Reply