ปลัด มท. ตรวจเยี่ยมโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” จ.เชียงใหม่

วันที่ 14 ธ.ค. 66 เวลา 12.20 น. ที่วัดบ้านเจียง (วัดเจียง) ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายบุญธรรม หอไพบูลย์สกุล รองอธิบดีกรมที่ดิน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารกรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม พร้อมด้วยปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อส. และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับ โดยได้รับเมตตาจาก พระครูมงคลวิสิฐ เจ้าคณะอำเภอแม่แจ่ม เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม พระครูวีรกิจสุนทร รองเจ้าคณะตำบลช่างเคิ่ง เขต 1 เจ้าอาวาสวัดบ้านเจียง ร่วมต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ รับชมการแสดงฟ้อนแม่ระมิงค์ โดยเครือข่ายผู้นำสตรีอำเภอแม่แจ่ม และเข้ากราบสักการะพระเจ้าแสนตอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอำเภอแม่แจ่ม กราบนมัสการ พระครูวีรกิจสุนทร รองเจ้าคณะตำบลช่างเคิ่ง เขต 1 เจ้าอาวาสวัดเจียง แล้วเดินสักการะปูชนียวัตถุ ชมการสาธิตงานหัตถกรรมของสามเณรโรงเรียนแม่แจ่มปริยัติศึกษาภายในบริเวณวัด และร่วมพบปะ มอบนโยบายแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข อำเภอแม่แจ่ม และคณะกรรมการระดับตำบล ทุกตำบล พร้อมเยี่ยมชมอาคารสมุนไพร 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร ชมการแปรรูปโรงอบยา หมอสมุนไพรอำเภอแม่แจ่ม เยี่ยมชมหลุมพอเพียง ถังขยะเปียกลดโลกร้อน สวนสมุนไพร และไม้นานาพันธุ์ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และร่วมกิจกรรมทำหลุมพอเพียง และถังขยะเปียกลดโลกร้อน กิจกรรมปลูกผักสวนครัว และเยี่ยมชมนิทรรศการการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวแม่แจ่มด้านสาธารณสุข (การแพทย์ฉุกเฉิน การคลอดก่อนกำหนด) การสาธิตกระบวนการดำเนินงานด้านการศึกษา (หนูน้อยจักรยานขาไถ การบริหารจัดการด้านการศึกษาของศูนย์เด็กเล็ก) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ตลาดนัดขยะ การแยกขยะ 3Rs และการทำบ่อดักไขมัน (DIY)) และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีการนำเสนอปัญหาและความต้องการของพื้นที่ โดยผู้บริหาร อปท.

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและมุ่งหนุนเสริมให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็น “ผู้นำ” เป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด อำเภอ ผู้ดึงเอาความรักความสามัคคีของทุกภาคีเครือข่าย มาช่วยกัน Change for Good ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน ในพื้นที่จังหวัด/อำเภอ อย่างสมบูรณ์ ซึ่งผู้นำจะทำงานให้สำเร็จด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการ ภายใต้ชื่อ “จังหวัด/อำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” และขยายผลไปยังตำบล/หมู่บ้าน/ชุมชน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดจะเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนกับประชาชน อันสอดคล้องกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ตรัสว่า “หน้าที่ของคนมหาดไทย คือ การทำให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)”” ถ้าเราทำให้ทั้ง 80,000 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้ง 20 กว่าล้านครัวเรือนก็จะดีขึ้นอย่างยั่งยืน อันมีนัยสำคัญว่า “ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า งานเชิงคุณภาพหากทำโดยข้าราชการมักจะไม่สำเร็จ เพราะข้าราชการมีการเกษียณอายุ มีการสลับปรับเปลี่ยนตำแหน่ง เลื่อนตำแหน่ง จึงต้องน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงถอดบทเรียนจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 5,151 โครงการ ด้วยการทำงานแบบบูรณาการ “ทีมงาน” จาก 7 ภาคีเครือข่าย คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน และต้องมีการพูดคุยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ มีวาระการพูดคุยที่แน่นอน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และมีการพูดคุย แลกเปลี่ยน เสนอแนะกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดแนวทางตามหลัก “ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์เป็นหลักชัยในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นผู้มีจิตใจอยากจะช่วยเหลือสงเคราะห์ญาติโยม เป็น “ครู คลัง ช่าง หมอ” และชีวิตของพวกเราทุกคนก็ผูกพันกับพระมาโดยตลอด อันเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทยและคณะสงฆ์ ได้แก่ MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม และ MOU ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานอำนวยการโครงการ เป็นหลักชัยร่วมกับผู้นำศาสนาทุกศาสนา ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ในศีลในธรรมของศาสนาที่นับถือ เป็น “หมู่บ้านคุณธรรม” ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในความดี ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และดูแลสังคมให้มีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้ากัน ซึ่งทั้งหมดนี้ฝ่ายบ้านเมือง ทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นกำลังสำคัญในการอุปัฏฐาก บูรณาการงานร่วมกับคณะสงฆ์ โดยใช้ระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้องมาหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชน เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า บ้านเมืองจะอยู่ได้ด้วยพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันนำเสนอ กำหนดเป้าหมาย ความต้องการ ช่วยกันคิดแก้ไขปัญหา ช่วยกันหาแนวทางไปสู่เป้าหมาย และช่วยกันทำด้วยความรักสามัคคี เพื่อท้ายที่สุดทุกคนก็จะช่วยกันรับประโยชน์ รับความสุข ทั้งนี้ หากพวกเราทุกคนทำหน้าที่ของเราอย่างสมบูรณ์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการบริการสาธารณะให้กับประชาชนอย่างครบถ้วน ข้าราชการทำหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยน้อมนำพระราชปณิธานที่พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นกรอบแนวคิดในการทำงานอันสอดคล้องกับพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการที่ “ทีมงานทุกระดับ” เป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ทั้งผู้นำศาสนา และผู้นำของประชาชน พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งในมิติยาฝรั่ง คือ การบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และมิติยาไทย คือ การทำให้เกิดความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อาทิ การซ่อม/สร้างบ้านเรือนให้คนด้อยโอกาสในสังคม และส่งเสริมให้ยึดหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และน้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไว้บริเวณรอบบ้าน ซึ่งจะทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรงเพราะเราปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี โดยสิ่งเหล่านี้จะทำให้สิ่งที่ดีในอดีตกลับคืนมา คือ บ้านเมืองเรามีความสะอาด มีความปลอดภัย คนมีความร่มเย็นเป็นสุข ดัง 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ด้านที่อยู่อาศัย 2) ด้านความมั่นคงทางอาหาร 3) ด้านความสะอาด 4) ด้านความสามัคคี 5) ด้านความร่วมมือ 6) ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 7) ด้านความมั่นคงปลอดภัย 8) ด้านการมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งสิ่งเหล่านี้ “เป้าหมายที่สำคัญที่สุดอยู่ที่หมู่บ้าน” และขอถวายกำลังใจแด่เจ้าอาวาสวัดบ้านเจียง และขอชื่นชมเครือข่ายแพทย์สมุนไพรอำเภอแม่แจ่มในการจัดพิมพ์ “ตำรายาสมุนไพร 4 ภาษา” ซึ่งตำรายาสมุนไพร ยาพื้นบ้านนั้น มีความสำคัญ เป็นตำรับตำรายาแห่งความยั่งยืน เพราะเรื่องยาสมุนไพร เราสามารถทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ช่วยกันทำหน้าที่ของพวกเราให้สมบูรณ์และหนุนเสริมบทบาทคณะสงฆ์ เพื่อช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ทุกคนตั้งมั่นในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้นำที่มีใจเสียสละ มีจิตอาสา มีรังสีแห่งความดีดึงดูดให้คนในสังคมรวมกลุ่มช่วยกันทำความดี ทำสิ่งที่ดีให้กับพื้นที่ มีความเข้าใจ เข้าถึง ใกล้ชิดคนในพื้นที่ และช่วยกันทำงานพัฒนาตามหลักการทรงงานอันจะทำให้งานเกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน

พระครูวีรกิจสุนทร กล่าวว่า วัดบ้านเจียงขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ใช้วัดเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเพื่อหนุนเสริมสร้างชีวิตที่ดีให้กับประชาชนตั้งแต่เด็กเล็กถึงผู้สูงอายุ เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจําตําบล (อ.ป.ต.) ตามกรอบการดำเนินงาน 8 ด้าน คือ ศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพอนามัย สัมมาชีพ สันติสุข ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์ กตัญญูกตเวทิตาธรรม สามัคคีธรรม ซึ่งขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านศีลธรรมจริยธรรม มีกิจกรรมธรรมะสัญจร ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์ สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างสันติสุข สร้างความผาสุกให้กับชุมชน/สังคม และได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 3-5-7-9 คือ 3 พันธกิจ 5 ส 7 ขั้นตอน 9 พื้นที่ ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพรวมถึงกิจกรรมเชิงพุทธ โดยจะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้พระมีสุขภาพแข็งแรง วัดมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็งสืบไป ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการปลูกพืชสมุนไพรแปลงเป็นยา และปลูกพืชผักสวนครัว ผักปลอดสารเคมี ทั้งนี้ คนเราต้องใช้ชีวิตด้วยการทำคุณประโยชน์ 2 อย่าง คือ 1) ต้องทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพราะการช่วยกันแบบองค์รวมงานจะสำเร็จ ยังผลให้ท้องถิ่นและหมู่บ้านมีความเจริญ และ 2) ต้องทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนตน ด้วยการเจริญสติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งหากเราทำทั้งสองอย่างควบคู่กันก็จะถือว่าเราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

Leave a Reply