ป.ป.ช. ฟัน คดี “เงินทอนวัด” 8 สำนวนรวด พ่วง พระภิกษุด้วย

ป.ป.ช.แถลงมติชี้มูลอาญา ‘นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์’ อดีตผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ-พวก ทุจริตเงินอุดหนุนวัด 8 สำนวนรวด พระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ (ไพโรจน์ บุญโสม) พระมหาสมบัติ อาภากโร (สมบัติ ระสารักษ์) โดนด้วย ส่งสำนวน อสส.ยื่นฟ้องคดีตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว 


สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มติชี้มูลความผิดทางอาญา  นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวก อาทิ นางสาวประนอม คงพิกุล นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงค์  ทุจริตเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด จำนวน 8 สำนวน กรณี  วัดโพธิ์ทอง , วัดตำหนัก (ภาวนาราม) , วัดจงกลณี , วัดเพลง (กลางสวน) , วัดใหญ่ , วัดเกาะแก้วอรุณคาม ,วัดห้วยจระเข้  และวัดกลางเหนือ  พระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ (ไพโรจน์ บุญโสม) พระมหาสมบัติ อาภากโร (สมบัติ ระสารักษ์) โดนด้วย ส่งสํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยแล้ว 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1 กรณีกล่าวหา นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวก ทุจริตเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ 2557 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ได้จัดสรรให้วัดโพธิ์ทอง วัดตำหนัก (ภาวนาราม) และวัดจงกลณีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (3 สำนวนคดี)

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2556 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้อำนวยการกอง พุทธศาสนสถาน ได้ติดต่อให้ พระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ (ไพโรจน์ บุญโสม) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดคันลัดและ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ไปดำเนินการติดต่อพระหรือเจ้าอาวาสวัดที่รู้จักและมีความประสงค์จะขอรับเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้มาดำเนินการจัดทำเอกสารคำขอรับเงินอุดหนุนพร้อมแนบเอกสารประกอบคำขอ โดยมีเงื่อนไขว่าวัดที่ขอรับเงินอุดหนุนจะได้รับเงินอุดหนุนเพียงร้อยละ 10 ของเงินที่ได้รับเท่านั้น ส่วนเงินอีกจำนวนร้อยละ 90 จะต้องส่งคืนให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ในกิจการอย่างอื่นและนำไปสนับสนุนวัดในถิ่นทุรกันดารและวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวัดจะต้องเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารใหม่ร่วมกับบุคคลที่ไว้วางใจ เพื่อความสะดวกในการรับโอนและเบิกถอนเงินคืนให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ได้ติดต่อเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประสงค์จะขอรับเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ประกอบด้วย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง โดยติดต่อผ่าน พระครูเกษมวัฒนาภรณ์ (วัฒนะ พิกุลทอง) เจ้าอาวาสวัดหงษ์ เจ้าอาวาสวัดตำหนัก (ภาวนาราม) และวัดจงกลณี โดยติดต่อผ่าน พระมหาสมบัติ อาภากโร (สมบัติ ระสารักษ์) พระวัดสะตือ ซึ่งเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอท่าเรือ ให้จัดทำคำขอและยื่นเอกสารเกี่ยวกับการขอรับเงินอุดหนุนผ่านพระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ เพื่อนำไปมอบให้กับ นางสาวประนอม คงพิกุล หลังจากนั้น นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ จะเป็นผู้นำรายชื่อวัดไปส่งต่อให้ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือ สงกรานต์ สาทาวงค์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ จัดทำบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวดเสนอ นางสาวประนอม คงพิกุล เพื่อเสนอไปยัง นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้อนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนการบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ทั้งที่วัดไม่ได้ยื่นแบบคำขอรับเงินอุดหนุนไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยเสนอผ่านเจ้าคณะพระสังฆาธิการเจ้าสังกัดและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองตามลำดับ ตามหลักเกณฑ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยการขอและการจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ประจำปีงบประมาณ 2557 และภายหลังจากที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัดดังกล่าวแล้ว นางสาวประนอม คงพิกุล ได้โทรศัพท์แจ้งไปยังพระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ เพื่อแจ้งให้เจ้าอาวาสดำเนินการเบิกถอนเงินจากธนาคารตามจำนวนที่ได้รับการอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วจัดส่งคืนให้แก่ นางสาวประนอม คงพิกุล ตามเงื่อนไข โดย พระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ พระครูเกษมวัฒนาภรณ์ และพระมหาสมบัติ อาภากโร ได้รับเงินส่วนแบ่งจากนางสาวประนอม คงพิกุล เป็นค่าตอบแทนในการดำเนินการดังกล่าว จำนวนครั้งละประมาณ 5,000 – 10,000 บาท ดังนี้

1. วัดโพธิ์ทอง ได้รับเงินอุดหนุนตามบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวด ที่ บว. 0243 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2556 จำนวน 1,000,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงจำนวน 90,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 900,000 บาท พระครูเกษมวัฒนาภรณ์ไม่ได้นำไปมอบให้นางสาวประนอม คงพิกุล ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ได้นำเงินไปใช้ในการก่อสร้างภายในวัดหงษ์

2. วัดตำหนัก (ภาวนาราม) ได้รับเงินอุดหนุนตามบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวดที่ บว. 0264 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 จำนวน 1,000,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงจำนวน 100,000 บาท และส่งมอบเงินคืนให้นางสาวประนอม คงพิกุล จำนวน 900,000 บาท

3. วัดจงกลณี ได้รับเงินอุดหนุนตามบันทึกขออนุมัติใช้จ่ายเงินประจำงวด ที่ บว. 0280 ลงวันที่26 พฤศจิกายน 2556 จำนวน 2,000,000 บาท และส่งมอบเงินคืนโดยนำเงินสดและแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายนางวรัญญู เพชรรัตน์ (พี่น้องร่วมบิดามารดากับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์) จำนวน 1,600,000 บาท มอบให้แก่นางสาวประนอม คงพิกุล

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

กรณีวัดโพธิ์ทอง

1. การกระทำของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงค์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

2. การกระทำของพระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ (ไพโรจน์ บุญโสม) และพระครูเกษมวัฒนาภรณ์ (วัฒนะ พิกุลทอง) มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

กรณีวัดตำหนัก (ภาวนาราม)

1. การกระทําของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงค์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

2. การกระทำของพระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ (ไพโรจน์ บุญโสม) มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

กรณีวัดจงกลณี

1. การกระทําของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงค์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

2. การกระทำของพระครูปลัดวิสุทธิวัฒน์ (ไพโรจน์ บุญโสม) พระมหาสมบัติ อาภากโร (สมบัติ ระสารักษ์) และนางวรัญญู เพชรรัตน์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย

เรื่องที่ 2 กรณีกล่าวหา นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวก ทุจริตเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ 2557 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ได้จัดสรรให้วัดเพลง (กลางสวน) กรุงเทพมหานคร วัดใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ วัดเกาะแก้วอรุณคาม จังหวัดสระบุรี วัดห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม และวัดกลางเหนือ จังหวัดสมุทรสงคราม (5 สำนวนคดี)

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 904/2556 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2556 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์และการจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ 2557 มีหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์และการจัดสรรงบประมาณเพื่อการบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดทั่วไปและวัดที่ประสบวินาศภัย ประจำปีงบประมาณ 2557 ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการซึ่งกำหนดไว้ในโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด โดยมีนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เป็นที่ปรึกษา นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน เป็นกรรมการ และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงค์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ เป็นกรรมการและเลขานุการซึ่งคณะทำงานดังกล่าวได้พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยการขอและการจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ประจำปีงบประมาณ 2557 จึงย่อมต้องทราบถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับวัดต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงค์ กลับจัดทำบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวดเสนอนางสาวประนอม คงพิกุล เพื่อเสนอไปยังนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้อนุมัติเงินอุดหนุนการบูรณะ และปฏิสังขรณ์วัดทั่วไปและวัดที่ประสบวินาศภัย ดังนี้

1. วัดห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม จำนวน 4,000,000 บาท ตามบันทึกขออนุมัติใช้จ่ายเงินประจำงวด ที่ บว 0264 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

2. วัดใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 4,000,000 บาท ตามบันทึกขออนุมัติใช้จ่ายเงินประจำงวดที่ บว 0287 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2556

3. วัดเพลง (กลางสวน) กรุงเทพมหานคร จำนวน 5,000,000 บาท และวัดเกาะแก้วอรุณคาม จังหวัดสระบุรี จำนวน 5,000,000 บาท ตามบันทึกขออนุมัติใช้จ่ายเงินประจำงวด ที่ บว 0296 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556

4. วัดกลางเหนือ จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 10,000,000 บาท ตามบันทึกขออนุมัติใช้จ่ายเงินประจำงวด ที่ บว 0297 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2556โดยที่วัดดังกล่าวไม่เคยมีคำขอรับเงินอุดหนุน และไม่ได้ประสบวินาศภัยแต่อย่างใด

การกระทำของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ กับพวก เป็นการอนุมัติเงินอุดหนุนการบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดที่ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยการขอและการจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ประจำปีงบประมาณ 2557 ทำให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แม้ว่าภายหลังจากที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโอนเงินเข้าบัญชีของวัด และวัดได้เบิกถอนเงินมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด โดยไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินหรือขอเงินคืนจากงบประมาณที่ได้รับก็ตาม

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติแต่ละสำนวนคดี ดังนี้

1. การกระทำของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

2. การกระทำของนางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงค์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย

อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สิ้นสุดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด 

กล่าวสำหรับ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานนท์ ก่อนหน้านี้ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีเงินทอนวัดหลายสำนวน และกรณีร่ำรวยผิดปกติวงเงิน 575 ล้านบาท ไปแล้ว

Leave a Reply