ปลัดเก่ง มอบทุนการศึกษาบุตรหลานชาวราชสีห์ เน้นย้ำ สิ่งสำคัญของการศึกษาเล่าเรียนต้องมี “หัวใจนักปราชญ์” เตือน ผู้ปกครองต้องดูแลลูกหลานเด็กเล็กให้ใช้มือถือเท่าที่จำเป็น

วันนี้ (9 ม.ค. 67) เวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบทุนการศึกษาแก่บุตรของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นายกสมาคมจดหมายเหตุไทยและที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และบุตร ธิดา ของบุคลากรผู้ได้รับทุนการศึกษา ร่วมพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้โอวาทแก่ผู้ได้รับทุนการศึกษาและพบปะผู้ปกครอง โดยกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับลูก ๆ หลาน ๆ และผู้ปกครองทุกคน นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาดไทยที่ได้เห็นลูก ๆ หลาน ๆ ได้รับทุนการศึกษาในวันนี้ ซึ่งตนและผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยทุกท่านมีความปลาบปลื้มยินดี และเป็นกำลังใจกับผู้ปกครองและลูกหลานทุกคนให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ขอให้ได้ประสบพบกับสิ่งที่พึงประสงค์ ประกอบการงานอาชีพใดก็ขอให้สำเร็จ

“การที่จะประสบผลสำเร็จได้ ลูก ๆ หลาน ๆ ต้องตั้งใจที่จะศึกษาเล่าเรียนโดยยึดเอาหลักการเรียนรู้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสอนไว้ให้สำหรับคนที่อยู่ในวัยเรียนหรือคนที่ประสงค์ในการที่จะประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนหรือประกอบการงานอาชีพ นั่นก็คือ “หัวใจนักปราชญ์” อันประกอบไปด้วย “สุ จิ ปุ ลิ” โดยเริ่มจาก “สุ : สุตะ” คือ การฟัง เมื่อเราอยู่ในห้องเรียนขอให้ตั้งใจฟังให้ดี เพราะว่าเราจะได้ไม่เสียสมาธิไปทำอย่างอื่น มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่คุณครูกำลังสอน การตั้งใจฟังที่ดีนี่เองจะทำให้ได้รับเนื้อหาครบถ้วน ถัดมาเป็นคาถาตัวที่ 2 นั่นคือ “จิ : จินตะ” คือ การคิด เพราะนอกจากการฟังแล้ว สิ่งที่เราควรดำเนินไปด้วยคือ “การคิด” คิดหาเหตุหาผลทบทวนความรู้เดิมที่เรามี และพิจารณาว่าตรงกับสิ่งที่เราได้เคยรับฟังหรือไม่ ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เรามีการทบทวนสิ่งที่ได้รับฟังอย่างเสมอ และสำหรับการคิดและการฟังนี้ ก็อาจจะมีทั้งความความคิดที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือฟังแล้วก็มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ ดังนั้น เมื่อเกิดความสงสัยหรือเกิดความไม่เข้าใจหรือมีความเห็นแตกต่าง เห็นไปในแนวทางอื่นไม่เหมือนที่ได้ฟัง ได้ยิน ได้อ่าน จึงต้องจำเป็นต้องมีคาถาตัวที่ 3 คือ “ปุ : ปุจฉา” ซึ่งก็คือ “การถาม” ที่มีหลากหลายวิธี อาทิ การถามคุณครู ถามคุณพ่อ คุณแม่ หรือเพื่อนฝูง และในขณะเดียวกันหากมีคำถามก็สามารถดำเนินการหาสิ่งที่เป็นคำตอบได้ โดยคำตอบที่เราได้มานี้ถ้าหากยังมีความไม่มั่นใจและหากยังมีความเคลือบแคลงใจ เราก็ยังสามารถค้นหาคำตอบได้ตามห้องสมุด ทั้งจากการค้นหา ค้นคว้าตำรับตำรา หรือใช้คอมพิวเตอร์ค้น E- Library หรือผ่านแพลตฟอร์ม ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่ามิให้เชื่อแต่เพียงหนังสือ หรือแต่เพียง Search Engine แต่ต้องคิดให้มีความรอบคอบด้วย และคาถาสุดท้ายก็คือ “ลิ : ลิขิต” คือ การเขียน การจดบันทึก ซึ่งถ้าหากเราฟังแล้วไม่ได้จดบันทึก หากระยะเวลาผ่านไปสิ่งที่ฟังนั้นอาจจะเลือนหายไปได้เพราะว่าพื้นที่ในสมองมีขีดจำกัด “การจดบันทึกนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืน” และในหลักการแพทย์ทำให้เกิดการ Remind ทำให้ความจำหนักแน่นขึ้น และถ้าเรานำสิ่งที่เราจดนั้นมาอ่านทบทวน จะแปรผันจากความจำระยะสั้นเป็นความจำอย่างยั่งยืนหรือความจำในระยะยาว” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญ คือ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ควรปลูกฝังให้ลูก ๆ หลาน ๆ ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ได้มีทักษะในด้านการอ่าน โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ ขอให้ได้อ่าน ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญของไทย อาทิ ประวัติของพระมหากษัตริย์ พุทธประวัติ ประวัตินักพัฒนา ประวัติของบุคคลสำคัญผู้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติ ผ่านสมุดภาพหรือสมุดการ์ตูน ซึ่งสมุดการ์ตูน ก็จะมีทั้งการ์ตูนวิทยาศาสตร์ หรือการ์ตูนในรายวิชาอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นสื่อที่น่าสนใจสำหรับลูกหลานในระดับปฐมวัยจนถึงประถมศึกษา และต้องช่วยกันเลี้ยงดูเขาพยายามอย่าให้อยู่กับโทรศัพท์มือถือมากจนเกินไป ใช้โทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็น เพราะอาจส่งผลเสียทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น และจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะและกระบวนการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ สำหรับในส่วนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และนิสิต นักศึกษา ก็ขอให้ได้ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

“ขอให้พี่น้องชาวมหาดไทยทุกคนได้มีความสุขร่วมกันในการเห็นลูกหลานของพวกเราได้เจริญเติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ สามารถพึ่งพาตนเอง เป็นที่พึ่ง เป็นที่ภาคภูมิใจของปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และวงศ์ตระกูล และหากคุณพ่อ คุณแม่ หรือท่านผู้ปกครอง มีสิ่งอื่นสิ่งใดที่จะให้พวกเราซึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน คือ “ครอบครัวมหาดไทย” สนับสนุนลูกหลานให้ได้รับการศึกษา หรือได้รับสิ่งดี ๆ ตลอดจนถึงการครองชีพด้านอื่น ๆ ขอให้ได้บอกกล่าวกันเพื่อให้ทางตน และพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวกระทรวงมหาดไทยได้มีโอกาสช่วยเหลือ อย่าได้มีความเกรงใจ เพราะพวกเราคือพี่น้องชาวมหาดไทยด้วยกัน มีหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อผนึกกำลังบำรุงขวัญกำลังใจในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยไปด้วยกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านนายดำรงศักดิ์ ยอดทองดี ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การมอบทุนการศึกษาวันนี้ เป็นการมอบทุนให้แก่บุตรของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนบุตรของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงมหาดไทย ที่ศึกษาในระดับ อนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ซึ่งมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี มีความประพฤติเรียบร้อย โดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการมอบทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นสวัสดิการ และเป็นขวัญกำลังใจ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัวของบุคลากรในสังกัด ทั้งนี้ ทุนการศึกษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสวัสดิการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงมหาดไทย จำกัด แบ่งทุนการศึกษาออกเป็น 2 ประเภท คือ ทุนผู้มีผลการศึกษาดีเด่น และทุนช่วยเหลือการศึกษา รวม 109 ทุน ประกอบด้วย ส่วนกลาง จำนวน 20 ทุน และส่วนภูมิภาค จำนวน 89 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 277,500 บาท

“สำหรับทุนการศึกษาของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรทุนส่งเสริมการศึกษาบุตรสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงมหาดไทย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รวม 393 ทุน ประกอบด้วย บุคลากรส่วนกลาง จำนวน 71 ทุน และบุคลากรส่วนภูมิภาค จํานวน 322 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 940,000 บาท โดยในส่วนภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จะได้จัดส่งเงินทุนการศึกษาดังกล่าวให้จังหวัดเพื่อมอบให้ผู้ได้รับทุนการศึกษาต่อไป” นายดำรงศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply