คณะสงฆ์จันทบุรี รับรางวัล “ขจัดความยากจน” จากกระทรวงมหาดไทย

วันนี้ (28 ก.พ. 67) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติคุณรางวัลผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ประจำปี 2566 (Leadership Award on Rural Development and Poverty Eradication 2023) โดยมีนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารกรม/รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางภาวินี ไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานสมาคมสถาบันทิวา นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ผู้แทนมูลนิธิเพื่อนหญิง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมรับชมผ่านระบบประชุมออนไลน์

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนประจำปี 2566 (Leadership Award on Rural Development and Poverty Eradication 2023) ให้แก่หน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ซึ่งมีที่ตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) ประเภทองค์กรนอกภาครัฐ (Non-Governmental Organizations: NGOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSOs) รางวัลชนะเลิศ คือ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด 2) ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) รางวัลชนะเลิศ คือ สมาคมสถาบันทิวา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ธนาคารไทยเครดิตจำกัด (มหาชน)

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ 3 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ประจำปี 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของท่านเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมช่วยให้ภาคราชการสามารถขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม จนได้รับการยกย่องว่าทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและจะเป็นภาคีเครือข่ายที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ “ภาคเอกชน” ถือเป็นภาคีเครือข่ายที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความปรารถนาดีที่จะช่วยเหลือภาครัฐในการสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับพัฒนาการจังหวัดในการเอาใจใส่ดูแลการดำเนินการของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 76 แห่ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้นำในการผลักดันให้ทำในสิ่งที่ดี และตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร รวมถึงกำหนดปฏิทินการประชุมกรรมการบริหารของแต่ละจังหวัด ช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการพูดคุย ปรึกษาหารือให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดผลดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” คือ การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย (Partnership) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 17 เพื่อที่จะได้ทำให้เป้าหมายข้อที่ 1 ถึง 16 เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง และยั่งยืน

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ทำหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนเสมอมา ด้วยการผลักดันส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพราะเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ทำให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นหมู่บ้านยั่งยืน โดยการสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชนในมิติยาไทย ทั้งการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและเกิดความเข้มแข็งในระดับกลุ่ม ระดับชุมชน อาทิ การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตร ซึ่งสถาบันทิวาได้มาช่วยทำให้เกิดการรวมกลุ่มภายใต้โครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ตามศาสตร์พระราชาของบันได 9 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 – 4 คือ หมู่บ้านยั่งยืน ที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ “พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” ขั้นที่ 5 – 6 คือ ส่งเสริมให้เกิดสังคมคุณธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ทำบุญทำทาน และขั้น 7 – 9 คือ การรวมกลุ่ม แปรรูป ทำการตลาด เพิ่มรายได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยประสานงานหลักกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนของประเทศไทย ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเพื่อรับรางวัลผู้นำอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนของประเทศไทย ซึ่งได้พิจารณาคัดเลือกองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนเพื่อรับรางวัลระดับอาเซียน และระดับประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศองค์กรที่ได้รับรางวัลด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 6 และรางวัลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเภทองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) จำนวน 5 รางวัล และประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน จำนวน 2 รางวัล รวมทั้งสิ้นจำนวน 7 รางวัล ดังนี้ 1) ประเภทองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ คณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรี และศูนย์ปฏิบัติการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (องค์กรสาธารณประโยชน์) จังหวัดเชียงราย รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด 2) ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สมาคมสถาบันทิวา รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้จังหวัดดำเนินการจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ในที่ประชุมกรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หรือในการประชุม/กิจกรรมที่จังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม

Leave a Reply