เทศกาลสงกรานต์ “อบต.กุดลาด” จัดงาน “สงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน”

วันที่ 22 มีนาคม 2567 มีรายงานว่า เทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลกุดลาด จัดงาน “สงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน 2567  ”  เพื่อร่วมฉลองในโอกาสที่ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป โดยงานจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-16 เมษายน 2567  สำหรับรายละเอียดการจัดงานมีดังนี้

 ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป เป็นพิธีเปิดงาน โดยจะประกอบพิธีอัญเชิญหลวงพ่อเงิน 700 ปี ขึ้นมาจากวัดป่าพระพิฆเณศวร์ ซึ่งเป็นสถานที่ขุดพบหลวงพ่อเงิน ตั้งแต่ปี 2515 ผ่านมาตามถนนริมหาดบุ่งสระพัง แล้วมาบรรจบกับขบวนแห่หลวงพ่อเงิน บริเวณโรงเรียนบ้านปากน้ำ จากนั้น จะเคลื่อนขบวนแห่เข้าสู่วัดปากน้ำ

สำหรับขบวนแห่หลวงพ่อเงิน จะประกอบด้วยขบวนรถม้า ขบวนขันหมากเบ็ง และขันหย่องดอกไม้แบบท้องถิ่นอีสาน ขบวนธงชัยและธงแผ่นผ้า ขบวนต้นเงิน และขบวนประชาชนแต่งชุดพื้นบ้าน จากหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด

ในวันที่ 14 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป  จะอัญเชิญหลวงพ่อเงินไปแห่ดอกไม้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด  ระหว่างเส้นทางที่แห่หลวงพ่อเงินผ่านไป ให้ประชาชนเตรียมดอกไม้และน้ำอบน้ำหอมไว้สรง

สำหรับประเพณีแห่ดอกไม้ เป็นประเพณีสงกรานต์อุบลแบบโบราณ ซึ่งได้หายไปจากชุมชนมานานแล้ว  โดยเมื่อวันสงกรานต์มาถึงเข้า วัดต่าง ๆ จะ อัญเชิญพระพุทธรูปลงสรง ประชาชนจะออกไปเก็บดอกไม้มาสรงน้ำพระ ซึ่งดอกไม้ที่บานหน้าแล้งในภาคอีสานไม่ค่อยมี นอกจากดอกมันปลาและดอกพะยอม ที่บานในหน้าแล้ง เป็นดอกไม้ส่งกลิ่นหอม  ต้องไปหาเก็บตามทุ่ง ตามป่า พอได้ดอกมันปลาหรือพะยอมแล้ว ก็จะแห่เข้าหมู่บ้าน มีการประโคมฆ้องกลองฟ้อนรำกันมา ส่วนคนที่ไม่ได้ไป ก็จะรอในอยู่ในระหว่างทาง เตรียมน้ำไว้รดสรงให้พระเณรและผู้คนที่ร่วมอยู่ในขบวนแห่ดอกไม้  ใครได้ดอกไม้อะไรก็จะฝากให้พระเณรนำไปสรงน้ำพระในวัดด้วย

ซึ่งในปีนี้ เป็นปีที่ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลกุดลาด จึงถือเป็นโอกาสในการพื้นฟูประเพณีแห่ดอกไม้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง  แต่มีการปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทของบ้านเมืองปัจจุบัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป

สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์อุบลโบราณ ก็สามารถเข้าร่วมขบวนแห่ได้ ตามวันเวลาดังกล่าว

Leave a Reply