รายงานพิเศษ : บทบาท “มจร” กับงาน “วิสาขบูชาโลก” จากอดีตสู่อนาคต.!!

นับแต่องค์การสหประชาชาติมีมติรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของชาวโลก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 โดยเรียกวันสำคัญนั้นว่า The Day of Vesak โดยผู้ริเริ่มเสนอให้วันวิสาบูชา เป็นวันสากลของโลกหรือวันสำคัญของโลกเป็นอดีตทูตศรีลังกาชื่อ “ลักษมัน กทิรคามาร์ (Lakshman Kadirgamar”  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา 34 ประเทศรับรอง จนสมัชชาองค์การสหประชาชาติให้การรับรองวันวิสาขบูชา ให้เป็นวันสำคัญ (Buddhist Holiday or Buddhist observance) ตั้งแต่บัดนั้น

เหตุผลสำคัญที่ประชุมสหประชาชาติรับรองวันวิสาขบูชาให้เป็นวันสำคัญของโลกเนื่องจากเห็นว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางหรือเป้าหมายของ สหประชาชาติ อยู่แล้ว อีกเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคำสอนของพระองค์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ

กิจกรรมวันวิสาขบูชานานาชาติ หรือ “วันวิสาขบูชาโลก” สำหรับปีนี้ ประเทศไทยมีกำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 19 -20 พฤษภาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “พุทธวิถีสู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี” ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ และพุทธมณฑล ซึ่งปีนี้พิเศษกว่าทุกปี กิจกรรมงาน

วิสาขบูชาโลก รัฐบาล มหาเถรสมาคม จัดเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติกิจกรรมหนึ่งเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2567  โดยแม่งานหลัก คือ “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ   ภายใต้อำนวยการของ “พระพรหมบัณฑิต”  ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICDV)

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ภายใต้การกำกับของ “มหาเถรสมาคม” และอีกสถานะหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ปัจจุบันการจัดการศึกษาในประเทศ ประกอบด้วย 11 วิทยาเขต 28 วิทยาลัยสงฆ์ 3 หน่วยวิทยบริการ และสถาบันสมทบในต่างประเทศอีก 5 แห่ง มีทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรอินเตอร์ ระดับชั้นปริญญาตรี-โท-เอก มีจำนวนทั้งสิ้น 20,346รูป/คน ประกอบด้วยนิสิตปริญญาตรีจำนวน 14,356 รูป/คน นิสิตปริญญาโท 3,748 รูป/คน นิสิตปริญญาเอก 2,242 รูป/คน  (ข้อมูลปี 2566)

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีพระสงฆ์นานาชาติเดินทางมาศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ทั้งหลักสูตรอินเตอร์ และหลักสูตรภาษาไทยมากกว่า 1,300 รูป/คน จาก 28 ประเทศถือว่า มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก อันนี้ยังไม่นับรวมการศึกษาระดับประกาศนียบัตรซึ่งปีนี้มีคน “หนุ่มสาว” จากประเทศเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางมาสมัครเรียนอีกนับ 10,000 คน

“มจร” จัดงาน “วันวิสาบูชาโลก” ในนาม มหาเถรสมาคม รัฐบาล และประเทศไทย ปีนี้นับเป็นปีที่ 19 ซึ่งใน “เว็บไซต์” ของมหาวิทยาลัยระบุว่า การจัดงานวิสาขบูชาโลกนั้น “มหาวิทยาลัย” แห่งนี้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว โดยจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับมหาเถรสมาคม และรัฐบาลไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำชาวพุทธโลกว่าด้วยวันวิสาขบูชาโลก วันสำคัญสากลของโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ  การประชุมครั้งนั้นเน้นส่งเสริมการศึกษา การปฏิบัติ การเผยแผ่ และปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งร่วมกันจัดการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาทั้งที่ศูนย์ประชุมใหญ่และศูนย์ประจำภูมิภาค

ในปีถัดมาคือ ปี 2548 ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขบูชาโลกอีกครั้ง และในปีนี้เองที่ประชุม “วันวิสาขบูชาโลก”  อันประกอบด้วย พระสังฆราช ประมุขสงฆ์ นักปราชญ์ชาวพุทธจากทั่วโลก มีมติเอกฉันท์ให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก” พร้อมกับขอให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานอยู่ที่ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เห็นโอกาสตรงนี้ จึงจัดตั้ง “วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ” หรือ IBSC”  จัดตั้ง “ศูนย์อาเซียน” และ “วิทยาลัยพระธรรมทูต” ขึ้น เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

หากนับการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก 19 ครั้ง มีบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา รับเป็นเจ้าภาพจัดเพียงแค่ 3 ครั้ง คือ “ประเทศเวียดนาม”  รับเป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขบูชาโลก 2 ครั้ง ในปี 2551 และปี 2557 และ “ประเทศศรีลังกา” รับเป็นเจ้าภาพจัดงาน 1 ครั้งในปี 2561 นอกนั้นประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดงานตลอดทั้ง 16 ครั้ง

“พระพรหมบัณฑิต” กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะ ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก  กล่าวไว้ว่า เหตุผลสำคัญที่พระสังฆราช ประมุขสงฆ์ รวมทั้งชาวพุทธนานาชาติ ยกให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก”  เนื่องจาก หนึ่ง ประเทศไทยประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา สอง ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นพุทธมามกะ และ สาม ผู้นำของประเทศเป็นพุทธศาสนิกชน  เหตุนั้น การจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ทุกประเทศจึงมีฉันทามติร่วมกันว่า หากปีไหนประเทศสมาชิกไม่พร้อม ขอให้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ หรือ วิสาขบูชาโลก ตลอดไป

เนื่องจากปีนี้เป็นปีพิเศษสำหรับประชาชนชาวไทยและประเทศไทย เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาล มหาเถรสมาคม รับเป็นเจ้าภาพ พร้อมกับมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็น “แม่งาน” ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ  ร่วมกันจัดงาน โดยมี พระพรหมบัณฑิต เป็นประธานอำนวยการในฐานะ ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICDV)  เชิญประเทศมาร่วมงานทั้งหมด 73 ประเทศ คาดว่ามีนานาชาติมาร่วมไม่ต่ำกว่า 1,500 รูป/คน

สำหรับกำหนดการจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชานานาชาติ วันสำคัญสากลของโลกครั้งที่ 19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567  จะมีการประชุมเชิงปฎิบัติการโครงการพระไตรปิฏกฉบับภาษาอังกฤษ  ณ วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ เป็นการดำเนินการเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐบาล มหาเถรสมาคม กระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2562 โดยนำพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐพระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย 45 เล่ม แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่เป็นต้นฉบับในการแปล และเทียบเคียงเนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับอื่นเพื่อให้เนื้อหาถูกต้อง ซึ่งคนริเริ่มเสนอโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ ขอให้รัฐบาล มหาเถรสมาคม ดำเนินงาน คือ ศ.ดร. มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ประธานโครงการจัดตั้งศูนย์พหุภาษา การแปลและล่ามแห่งอาเซียน

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2567 จะมีกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย หรือ “มมร” ภายใต้หัวข้อ “การประยุกต์ใช้การเจริญสติ เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี”  ซึ่งวันเดียวกันนี้ โครงการพระไตรปิฏกฉบับภาษาอังกฤษ  ณ วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร ก็มีจัดประชุมตลอดทั้งวันเช่นกัน

สำหรับวันที่ 18 พฤษภาคม 2567  บรรดาแขกนานาชาติจากทั่วโลกเริ่มทยอยเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย พำนักตามโรงแรมที่ทางเจ้าภาพคือ “มจร” ได้จัดเอาไว้ ซึ่งเหมือนทุกปี ณ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง จะมี “ฝ่ายปฎิคม” ซึ่งเป็นพระภิกษุ คฤหัสถ์ รวมทั้งพระนิสิตนานาชาติจิตอาสาร่วมไปต้อนรับ ซึ่งผู้ร่วมงานนานาชาติมาจากประเทศไหน  “ฝ่ายต่างประเทศ” มจร มอบให้พระนิสิตจิตอาสาต้นทางให้ดูแลประเทศนั้น ๆ   ซึ่งปีนี้มีผู้นำประเทศ พระสังฆราช ประมุขสงฆ์ระดับ V.I.P.” ประมาณ 14 ประเทศ ทั้งรองประธานาธิบดีอินเดีย ผู้นำสงฆ์จากจีน เวียดนาม ศรีลังกา เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า เป็นต้น

วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 วันเปิดงาน ณ อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ปีนี้ “สมเด็จพระสังฆราช” มีพระบัญชาให้ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์”  กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานแทนพระองค์ และโดยมี “นายพิชิต ชื่นบาน”  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์  มีการถ่ายทอดสดผ่านช่อง NBT และทรูวิชั่น รวมทั้ง MCU.TV สามารถชมได้ทั่วโลก มีล่ามภาษาแปลทั้งไทย อังกฤษ จีน

และภายในงานจะมีกิจกรรมทั้งวัน ทั้งกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ฯ การอ่านสาส์นและสุนทรพจน์จากผู้นำชาวพุทธ การประชุมหัวข้อย่อย ๆ   ของแต่ละกลุ่ม

สำหรับวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร เป็น “วันไฮไลท์” ยิ่งใหญ่ ทุกปีผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกมาร่วมงาน มีการกล่าวสุนทรพจน์และสาส์นจากบุคคลสำคัญ ทั้ง เลขาธิการ UN สาส์นจากผู้อำนวยการ UNESCO สำหรับประธานเปิดงานวันที่ 2 เน้นคฤหัสถ์ บางปี “พระบรมวงศานุวงศ์” เสด็จมาเองหรือ ผู้แทนพระองค์ บางปีก็เป็นผู้นำรัฐบาล ปีนี้ในกำหนดการ มีปาฐกถาพิเศษของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “พุทธวิถีสู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี”  ภาคเย็น ๆ เป็นประจำทุกปีผู้นำชาวพุทธ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจะเดินทางไป “พุทธมณฑล” เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ เวียนเทียน แต่ปีนี้เป็นปีพิเศษ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดกิจกรรมให้ชม “ขบวนแห่บุปผชาติ” พร้อมการเดินธรรมยาตรา เสร็จแล้ว มีการเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2567

“วันวิสาขบูชาโลก” ตลอดระยะที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดงาน ได้สร้างชื่อเสียงให้กับ “มจร” เป็นที่รู้จักและ “ยอมรับ” จากทั่วโลก ทั้งจากคณะสงฆ์เถรวาท มหายานและวัชรยาน เนื่องจากการประชุมวันวิสาขบูชาโลกแต่ละครั้ง จะมีผู้นำประเทศ พระสังฆราช ประมุขสงฆ์ นักปราชญ์ ชาวพุทธนานาชาติ เดินทางมาพร้อมกับสื่อมวลชนที่เสนอข่าวไปทั่วโลก ทำให้ “ประเทศไทย” มีข่าวเชิงบวกออกไปสู่โลกกว้าง การจัดงาน “วันวิสาขบูชาโลก” จึงเป็นกิจกรรมสำคัญ ไม่เฉพาะต่อ “คณะสงฆ์” หรือ “มจร”  เท่านั่น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย ต่อพระพุทธศาสนา และการท่องเที่ยว ทั้งยังทำให้รัฐบาล มหาเถรสมาคม และประชาชนชาวไทย ได้รับเกียรติและเป็นที่ยอมรับ จึงควรอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ร่วมมือร่วมใจกัน จัดกิจกรรมวันวิสาขบูชาโลก!!

Leave a Reply