ย้อนรอยคดี “เงินทอนวัด”

วันที่ 5 ม.ค.65  จากกรณีที่  “ราชกิจจากิจจานุเบกษา” เผยแพร่ การตอบกระทู้ขอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีที่  นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อชาติ ตั้งกระทู้ถาม จากมติมหาเถรสมาคม ให้พระภิกษุ 7 รูป เข้าข่ายอาบัติปาราชิก จากกรณีทุจริต “เงินทอนวัด” ว่าเป็นการพิจารณาแบบเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากพบว่า มีกรณีแบบนี้ในหลายวัดทั่วประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ยืนยันว่า ไม่ได้เลือกปฎิบัติ  แต่เป็นการทำหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ได้มีการตรวจสอบแล้ว

ผู้สื่อข่าว “thebuddh” ได้สอบถามประเด็นนี้จาก นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล คิดเห็นอย่างไรต่อคำตอบของนายกรัฐมนตรี พอใจหรือไม่อย่างไร   นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล  กล่าวว่า “เราถามไปเหนือ นายกรัฐมนตรีตอบไปใต้ ตอบไม่ตรงสิ่งที่เราถามสักเรื่อง ฆราวาสจะเป็นพระภิกษุได้ มันเข้ามาตามพระธรรมวินัย มิใช่กฎหมาย ตอนแรกบอกว่าท่านหลุดจากพระภิกษุเพราะกฎหมาย แต่วันนี้ศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้วว่า ท่านไม่ผิด เราต้องคืนสถานภาพความเป็นพระภิกษุให้กับท่าน เท่าที่ทราบหน่วยงานตรวจสอบงบประมาณประจำปีอย่าง สตง. ท่านก็บอกแล้วว่าไม่พบการทุจริต  กำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ตอบไม่ตรงกับกระทู้ที่เราถามไป ประเทศไทยปกครองด้วยกฎหมาย จะเอาความรู้สึกส่วนตัวมาทำงานไม่ได้ ทุกวันนี้สังคมมันยุ่งเพราะเอาความรู้สึกส่วนตัวทำงาน ไม่ได้ยึดระบบกฎหมาย”

ในขณะที่ นสพ.คมชัดลึกออนไลน์  ได้ย้อนรอยคดีทุจริต  “เงินทอนวัด”  ปมอาบัติปาราชิก ของพระเถระ 7 รูป 3 วัดดัง

ย้อนไปเมื่อปี 2561 คดีทุจริต “เงินทอนวัด” นับเป็นคดีใหญ่ ที่สะเทือนวงการพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ของประเทศไทย จากการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำกำลังเข้าตรวจค้นผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอดีตผู้อำนวยการสำนักพุทธงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เชื่อมโยงพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป กลายเป็นข่าวที่กระทบต่อความรู้สึก และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

เหตุการณ์นี้ เริ่มต้นเมื่อกลางปี 2560 จากการเข้าร้องเรียนของเจ้าอาวาสวัดห้วยตะแกละ จ.เพชรบุรี แจ้งความกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ “ปปป.” เปิดโปงข้าราชการ ที่มีการโอนเงินให้กับวัดเพื่อสร้างอุโบสถ จำนวน 10 ล้านบาท แต่ต้องโอนกลับคืนให้กับข้าราชการ จำนวน 9 ล้านบาท ส่อพฤติกรรมมีพิรุธ ทาง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” หรือ พศ. จึงเดินหน้าตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัด ร่วมกับ ปปป. แบ่งการทำงานเป็นระลอก โดยระลอกแรกลงพื้นที่ตรวจค้น 10 จุด เป็นบ้านพักข้าราชการระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งช่าติ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด พบเอกสารการทุจริตงบบูรณะ และปฏิสังขรวัดของตั้งแต่ปี 2555- 2559 เป็นการเบิกจ่ายไป 33 วัด พบมีการทุจริต 12 วัด มีข้าราชการระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนา และ พลเรือน เกี่ยวข้อง 10 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท

ส่วนลอต 2 เป็นการตรวจสอบ 3 เรื่อง ประกอบด้วยการตรวจสอบงบปฏิสังขรและพัฒนาวัด งบอุดหนุนเพื่อเผยแผ่ศาสนา และงบการศึกษาพระปริยัติธรรม

พบทุจริต “เงินทอนวัด”  23 วัด โดยการตรวจสอบในครั้งที่ 2 นี้ พบการทุจริต 141 ล้านบาท พบผู้เกี่ยวข้อง 19 คน เป็นข้าราชการ 3 คน พลเรือน 2 คน และพบพระสงฆ์เกี่ยวข้องจำนวน 4 รูป จนนำไปสู่การตรวจสอบในลอตที่ 3 ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นลอตที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคม และพุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง เนื่องจากการตรวจสอบพบทุจริต “เงินทอนวัด” ดังใน กทม. 3 วัด คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสัมพันธวงศาราม และวัดสามพระยา ส่วนข้าราชการ พศ.ที่ร่วมทุจริต ก็ยังเป็นกลุ่มเดียวกับลอตที่ 1 ถึง 2 และลอตที่ 3 นับเป็นการตรวจสอบพระเถระชั้นผู้ใหญ่ถึง 7 รูป คือ

1.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

2.พระพรหมเมธี (จํานงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม

3.พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา

4.พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระเมธีสุทธิกร) (สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

5.พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

6.พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา

7.พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คํามา) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการเขียนโครงการเบิกงบประมานแต่นำไปใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ หลังจากนั้น จึงมี  “ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่ประกาศ เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 7 รูป และที่โด่งดังที่สุด คงหนีไม่พ้นกรณี “พระพรหมสิทธิ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ “พระพรหมเมธี” อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ซึ่งรายหลัง หลบหนีไปขอลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ถึงขนาดที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ณ ขณะนั้น ต้องบินไปประสานทางการเยอรมนี เพื่อพยายามรับตัวกลับมา

แต่ในที่สุด ผลคำพิพากษาของศาล ระบุว่า พระเถระ 5 รูป ของวัดสระเกศฯ ไม่พบการทุจริต และไม่ได้มีความผิดเข้าข่ายอาบัติปาราชิก จนต้องทำให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ ทำให้เมื่อเดือน เม.ย.2564 อดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ได้ประกอบพิธีเจริญชัยมงคลคาถา ในโอกาสพระภิกษุอธิษฐานครองผ้าไตรจีวรรับเข้าหมู่สงฆ์ และ ได้กลับมาห่มจีวร อีกครั้ง

การเดินหน้าตรวจสอบคดีทุจริต “เงินทอนวัด” แม้เจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าทำงานมาถึงลอตที่ 4 โดยเป็นการเดินหน้าตรวจสอบวัดทั่วประเทศ ที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมากกว่า 1 ล้านบาท ในช่วงปี 2555-2560 แต่ทุกอย่างยังดูเงียบ และกลับมามีกระแสอีกครั้ง จากกระทู้ครั้งนี้ วัดที่ถูกกล่าวถึงอีก 30 กว่าวัด จะถูกปัดกวาดเช็ดถูให้ “วงการสงฆ์” กลับมาสะอาดหมดจดอีกครั้งหรือไม่

สำหรับกระทู้ถามของ ดร.นิยม เวชกามา พรรคเพื่อไทย ได้รับการยืนยันว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ตอบกลับมา ซึ่งกระทู้ถามจะเจาะรายวัดว่า แต่ละวัดได้รับเงินอุดหนุนอย่างไร จำนวนเงินเท่าไร และเหตุผลสำคัญเพราะอะไรจึงไม่ถูกดำเนินคดีเหมือนกับพระมหาเถระ 3 วัด คือ วัดสามพระยา วัดสระเกศและวัดสัมพันธวงศ์

Leave a Reply