“ปลัดมหาดไทย” เปิดงานแสดงโขนพะราชทานด้วยความจงรักภักดี สนองพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด

 วันที่ 9 เมษายน 2566  วานนี้เวลา 19:00 น. ที่วงเวียนธรรมจักร ทางเข้าวัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานและร่วมรับชมการแสดงโขนพระราชทานจังหวัดสระบุรี ประจำปี 2566 เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” โดยมี คุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางวันทนา ดำธรรม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสระบุรี  นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย นางสุจิตรา ศรีนาม นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คุณนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง นายเรืองลักษณ์ เรืองยังมี นายอำเภอพระพุทธบาท นายสัญญา บุญ-หลง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี นางวันเพ็ญ นันทปัญญา นายกเทศมนตรีเมืองพระพุทธบาท หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และภาคีเครือข่าย ในพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดสระบุรี และจากจังหวัดใกล้เคียง ร่วมรับชมกว่า 4,500 คน

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะ และนักแสดง ร่วมประกอบพิธีคำนับครูเพื่อความเป็นสิริมงคล และนำผู้ร่วมรับชมเปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างกึกก้อง ก่อนทำการแสดง โดยภายหลังจบการแสดง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบช่อดอกไม้ให้แก่ตัวแทนนักแสดง ตัวแทนนักดนตรี ผู้เขียนบท ผู้กำกับ และผู้อำนวยการแสดง และรับมอบของที่ระลึกจากคุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่มั่นคง ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงโขน ที่ถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย เพื่อให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมสำคัญของชาติ ดังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงเล็งเห็นว่า หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ก็จะทำให้สูญหายไปตามกาลเวลา

 

“ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาให้คณะนักแสดงโขนจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงมาทำการแสดงที่จังหวัดสระบุรีในครั้งนี้ นับเป็นความโชคดีของชาวจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ที่ได้รับโอกาสในการชมอย่างใกล้ชิดได้สัมผัสกลิ่นอายของนาฏยกรรมโบราณ และเป็นการร่วมสืบสานจารีตธำรงเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย “โขน” ถือเป็นสุดยอดศิลปะการแสดงชั้นสูงและได้รับการประกาศจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ประกาศให้ขึ้นบัญชีการแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561″ นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ทรงมีพระอัจฉริยภาพทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ ด้วยพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงมีต่อแผ่นดินไทยนานับประการ จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เพื่อสนองพระเดชพระคุณ เฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาล ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานพระราชกรณียกิจ ทำนุบำรุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งทรงพระราชทานให้คณะนักแสดงโขนจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงมาแสดงที่จังหวัดสระบุรี เป็นจังหวัดที่ 5 หรือเป็นจังหวัดที่ 2 หลังจากประเทศต้องประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิค-19) เป็นปฐมฤกษ์ของปี 2566 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของชาวสระบุรี และจังหวัดใกล้เคียง

“ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ คณะครูบาอาจารย์ และพี่น้องท่านผู้มีเกียรติที่เดินทางมาให้กำลังใจนักแสดง และพาลูกหลานมาชมโขน เพิ่งนับได้ว่าทุกท่านได้ร่วมกันสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ผู้ทรงมีพระราชดำริ ในการทำให้ประชาชนคนไทยได้หวงแหน ได้ภาคภูมิใจ ในความเป็นชาติไทย และทำให้การแสดงโขน ได้ซึมซับเข้าไปอยู่ในหัวใจของเด็กและเยาวชน เข้าไปอยู่ในหัวใจของลูกหลาน และพวกเราทุกคน อันจะทำให้การแสดงศิลปะนาฏกรรมชั้นสูงนี้คงอยู่อย่างยั่งยืนนานคู่กับแผ่นดินไทยสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดสระบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี เทศบาลเมืองพระพุทธบาท และทุกหน่วยงาน ที่มีส่วนในการจัดการแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้ และขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด และส่งเสริมสิ่งที่ดีเหล่านี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชน ลูก หลาน ของชาวจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ให้ได้เป็นผู้ที่มีความภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาติไทย เพื่อให้การแสดงโขน รวมถึงศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ เจริญงอกงามไพบูลย์อยู่คู่กับประเทศไทย สนองพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริตลอดไป

ด้านนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีได้ขอรับพระราชทานพระมหากรุณาคณะโขนศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงประจำชาติไทย มาจัดแสดง ณ จังหวัดสระบุรี เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ในการอนุรักษ์ทำนุบำรุงและสืบสานนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ และร่วมสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังให้เด็กเยาวชนและประชาชนชาวไทยเกิดความรัก และความภาคภูมิใจในคุณค่าแห่งศิลปะการแสดงชั้นสูงประจำชาติไทย โดยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาให้คณะโขนศาลาเฉลิมกรุงมาจัดการแสดงโขนพระราชทาน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดหนุมานชาญกำแหง ในระหว่างวันที่ 8 – 9 เมษายน 2566 ที่วงเวียนธรรมจักร ทางเข้าวัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแสดงโขนพระราชทานจังหวัดสระบุรี แสดงโดยคณะนักแสดงจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงในครั้งนี้ เป็นคณะโขนที่ได้คัดเลือกนักแสดงกว่า 100 คน ได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย จากหลากหลายสถาบัน อำนวยการแสดงโดย คุณนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง โดยการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ชุด “หนุมานชาญกำแหง” จับตอนตั้งแต่กำเนิดหนุมานจนได้เป็นข้าทหารของพระราม ช่วยพระรามรบกับทศกัณฐ์จนชนะ และได้รับประทานสมญาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตจักรกฤษณ์พิพรรธพงศา ครองเมืองนพบุรี ประกอบด้วยการแสดง 8 องก์ องก์ 1 กำเนิดหนุมานชาญกำแหง องก์ 2 วานรอ่อนแรงด้วยต้องสาป องก์ 3 ขุนทหารรับอาสาสืบหนทาง องก์ 4 ช่วยสีดา-ล้างสหัสกุมาร องก์ 5 คุมทหารถมศิลา จับมัจฉาอรทัย  องก์ 6 ลวงเอาดวงใจทศกัณฐ์ องก์ 7 กุมภัณฑ์พ่ายแพ้หนุมาน และองก์ 8 ขุนทหารครองพารา ถ่ายทอดผ่านการแสดงอันวิจิตรงดงามตระการตา และถูกต้องตามขนบจารีตแบบแผนดำเนินเรื่องด้วยการพากย์และเพลงหน้าพาทย์แบบโบราณ เรื่องราวสั้นกระชับด้วยการพากย์เจรจาที่สนุกสนานตื่นเต้นไปกับลีลากระบวนท่าของลิงที่หาชมยากยิ่งในปัจจุบัน และเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เปิดการแสดงจำนวน 2 รอบการแสดงเท่านั้น โดยเปิดการแสดงรอบแรกเวลา 19:00 น. วันที่ 8 เมษายน 2566 และการแสดงรอบที่ 2 เวลา 19:00 น. วันที่ 9 เมษายน 2566 โดยพี่น้องประชาชนผู้สนใจสามารถมารับชมการแสดงได้ไม่มีค่าใช้จ่าย

อนึ่ง เมื่อเวลา 17.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้ร่วมประกอบพิธีเปิดนิทรรศการการแสดงโขนพระราชทานจังหวัดสระบุรี ประจำปี 2566 เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ซึ่งเป็นการนำเสนอความเป็นมาของการจัดการแสดงโขน ซึ่งถือเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอดตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆไป นิยมแสดง 3 ประเภท คือ 1) โขนกลางแปลง  เป็นการเล่นโขนกลางแจ้งบนพื้นดิน ไม่มีการสร้างโรงแสดง ใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉาก ในการแสดง นิยมแสดงตอนยกรบ 2) โขนหน้าจอ เป็นโขนที่แสดงหน้าจอหนังใหญ่ เรียกว่า จอแขวะ ต่อมาภายหลังจึงมีการยกพื้นหน้าจอขึ้นเพื่อกันคนดูไม่ให้เกะกะตัวแสดงเวลาแสดงโขน และ 3) โขนฉาก เป็นการแสดงโขนที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการจัดฉากในการแสดงประกอบตามท้องเรื่อง แบ่งเป็นฉากเป็นองก์เข้ากับเหตุการณ์และสถานที่ เป็นต้น และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชดำริให้คณะผู้เกี่ยวข้องได้ต่อยอดในการเผยแพร่ “โขน” ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมสำคัญของชาติ ในรูปแบบ “โขนภาพยนตร์” อันเป็นวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดและเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องของบริษัท สหศีนิมา จำกัด และมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง โดยได้ร่วมกันผลักดันพร้อมด้วยพลังจากผู้สนับสนุนและบุคลากรโขนผู้ทรงคุณวุฒิ ขับเคลื่อนให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ในโลกยุคดิจิทัล ซึ่ง “โขนภาพยนตร์” ยังได้นำพามรดกของชาติอันทรงคุณค่าก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก้าวสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาผลงานวัฒนธรรมของชาติให้รุ่งเรืองสืบไป

Leave a Reply