ชาวมหาดไทย จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ฯ  ปลูกป่าสน 100,000 กล้า ฟื้นคืนป่าต้นน้ำ สนองพระราชดำริ  “คนอยู่กับป่า” สู่ความยั่งยืน

วันที่  31 ก.ค. 66  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีวันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายให้จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอกัลยาณิวัฒนาบูรณาการกับทุกภาคส่วนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 100 ปีวันประสูติฯ ซึ่งภาคีเครือข่ายในพื้นที่ได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ มาอย่างต่อเนื่อง และนายอำเภอกัลยาณิวัฒนาได้เป็นผู้นำบูรณาการทีมอำเภอลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

“อำเภอกัลยาณิวัฒนาได้จัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ภายใต้ชื่อโครงการ “สนแสน (100,000) กล้า รักษ์ผืนป่า ฟื้นลำธาร คนกับป่า อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” มีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคีเครือข่าย และพี่น้องประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งพระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำให้ประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรอาหารตามธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนคนภาคเหนือได้มีป่ามีน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้นำแนวคิด Change for Good และหลักการทำงานกลไก 3 5 7 หลักการทรงงาน “บวร บรม ครบ” มาเป็นฐานคิดในการจัดกิจกรรมดังกล่าว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่เป็นหลักชัยในการเสริมสร้างพลังความสามัคคีของคนไทยทุกภาคส่วนในการมุ่งมั่นดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ พระราชดำรัสที่ทรงตรัสไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” โดยพระองค์ท่านได้ทรงสนองแนวพระราชปณิธานด้านการบริหารจัดการน้ำของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยความจงรักภักดี กิจกรรมนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายชาวจังหวัดเชียงใหม่ ได้มารวมตัวกันเพื่อร่วมกันปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ “การที่พวกเราคนไทยทุกคนได้รับความผาสุกร่มเย็น” พร้อมทั้งได้มีโอกาสร่วมกันน้อมนำและร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เพื่อขับเคลื่อนการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน รวมไปถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การสร้างความรักความสามัคคี เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะดินคือแหล่งกำเนิดของอาหารมากกว่า 95% ของโลก อันเป็นรากฐานของการสร้างอาหารที่ดี สู่ความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามประกาศเจตนารมณ์ของกระทรวงมหาดไทย โดยคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นการคืนผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ทำให้คนได้รับประโยชน์ เพิ่มพื้นที่แหล่งอาหาร ยาสมุนไพรรักษาโรค ได้รับความร่มเย็นจากการมีป่า สัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้มีที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล คนในชุมชนอยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างจิตสำนึกทำให้คนกัลยาณิวัฒนาสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน เพื่อขยายผลความยั่งยืนในลักษณะที่เป็นต้นแบบไปยังพื้นที่อื่น ๆ

ด้านนายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมเพื่อถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทอดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ในครั้งนี้ พวกเราชาวจังหวัดเชียงใหม่ขอเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ในการประกาศและแสดงออกถึงความภาคภูมิใจให้โลกรู้ว่า “อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ของพวกเรา มีป่าสนพันปี ผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งนอกจากกิจกรรมการปลูกป่าแล้ว ยังช่วยให้เกิดการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันของทุกภาคีเครือข่าย มีความรักใคร่สามัคคี ผ่านการร่วมกันปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง และการดูแลผืนป่าที่บรรพบุรุษของเราเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตปกป้องให้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านและพวกเราทุกคนมาร่วมกัน ถ่ายรูปแชะ โพสต์ภาพกิจกรรมสวย ๆ โชว์ แชร์ภาพกิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผู้คนทั้งประเทศไทยและต่างประเทศรู้ว่า “เชียงใหม่” บ้านฉันมีดี น้องพี่ดูแลกัน พร้อมผูกสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวทุกคน รวมทั้งร่วมกันเชิญชวนเพื่อนสนิทมิตรสหายมาเที่ยว มาแอ่วเชียงใหม่บ้านเฮาช่วงหน้าฝนเขียวขจี หรือ Green Season เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนก็จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียน คนในชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้สู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างความมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างยั่งยืน

นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอกัลยาณิวัฒนา ร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้อำเภอกัลยาณิวัฒนา หน่วยจัดการต้นน้ำในพื้นที่ และหน่วยงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ดำเนินการเพาะกล้าต้นสน 100,000 กล้า พร้อมด้วยกล้าไม้ชนิดอื่น ๆ อีก 100,000 กล้า รวมทั้งสิ้น 200,000 กล้า จำนวน 8 ชนิด ประกอบด้วย (1) ต้นสน 100,000 กล้า (2) ต้นกัลปพฤกษ์ 10,000 กล้า (3) ต้นทองอุไร 10,000 กล้า (4) ต้นสัก 20,000 กล้า (5) ต้นหวาย 10,000 กล้า (6) ต้นมะขามป้อม 20,000 กล้า (7) ต้นก่อ 10,000 กล้า (8) ต้นกาแฟ 20,000 กล้า มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการปลูกป่า ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล 22 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. พื้นที่เขตรับผิดชอบศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ เป้าหมาย สมาชิก 500 ครัวเรือน รับผิดชอบปลูกกล้าไม้ทั่วไป จำนวน 50,000 ต้น 2. พื้นที่รับผิดชอบองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาชิก 400 ครัวเรือน รับผิดชอบปลูกกล้าต้นสน จำนวน 50,000 ต้น ในพื้นที่แปลงรวม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองแดง บ้านโป่งขาว และบ้านสันม่วง ตำบลบ้านจันทร์ เนื้อที่ 440 ไร่ และพื้นที่ปลูกเสริมป่าในเขตรับผิดชอบดำเนินงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เนื้อที่ 26,540 ไร่ 3. พื้นที่ของส่วนราชการ พื้นที่ตำบลและหมู่บ้าน โดยหน่วยงานราชการ ร่วมกับ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล 22 หมู่บ้าน รับผิดชอบหมู่บ้านละ 4,500 ต้น ซึ่งรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 100,000 ต้น นอกจากนั้นแล้ว อำเภอได้มอบกล้าพันธ์ุเมล็ดผัก ไม้ผล ให้แก่ประชาชนชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนา ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ประมงครัวเรือน ต้นแบบ จำนวน 175 ครัวเรือน เพื่อเสริมสร้างอาชีพและรายได้ สามารถพึ่งตนเองช่วยเหลือคนอื่น ตามหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

Leave a Reply