พ่อเมืองแพร่ เดินหน้าขยายผล โคก หนอง นา น้อมนำพระราชดำริ “อารยเกษตร”

วันที่ 25 ต.ค. 66 นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผยถึง การขยายผลการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย โคก หนอง นา น้อมนำพระราชดำริอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โดยได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ นำโดยนายวีรกานต์ บุญตัน พัฒนาการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยนางนัยนันท์ ชูสกุลนิติสินธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ เข้าร่วมประชุมเครือข่ายโคก หนอง นา อำเภอลอง ณ ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอลอง จังหวัดแพร่

นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จากการหารือในครั้งนี้แนวทางการดำเนินงานในกิจกรรมการสร้างเครือข่ายโคก หนอง นา มีการดำเนินงานทั้งในรูปแบบ CLM (ระดับตำบล) และ HLM (ระดับหมู่บ้าน) โดยได้รับความคิดเห็นจากพัฒนาการอำเภอลอง นักวิชาการพัฒนาชุมชนอำเภอลอง และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา อำเภอลอง สิ่งสำคัญที่ทุกคนตั้งใจจะ Change for Good คือ การพัฒนาคน โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำเสมอว่า การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เป็นการ “พัฒนาคน” เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งหลักสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่ คือ ความรักใคร่กลมเกลียวสามัคคีร่วมกันของคนในชุมชน กล่าวคือ ต้องมีการแบ่งพื้นที่เป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน หย่อมบ้าน หรือ ป๊อกบ้าน เพื่อที่จะสามารถดูแลลูกหลานให้อยู่ในระเบียบวินัย มีความกตัญญูกตเวที รู้จักประเพณีวัฒนธรรม ขยันในการที่จะช่วยเหลืองานบ้าน และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง ทำให้บ้าน หรือชุมชนที่เราอยู่ปลอดภัย เราต้องทำให้ทุกครัวเรือนช่วยกันดูแล และประการที่สำคัญต้องมีการประชุมพูดคุยกันเป็นประจำสม่ำเสมอ

 

ต่อมาต้องนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การแยกขยะตามหลัก 3Rs (3ช) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยขยะรีไซเคิลเมื่อนำไปขายก็จะกลายเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชน เป็นกองทุนสวัสดิการในหมู่บ้าน โดยให้ทุกครัวเรือนมีสมุดเงินฝากประจำบ้าน การช่วยกันทำให้ชุมชนมีพื้นที่ส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ เช่น ป่าชุมชน ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นแหล่งอาหาร ยาสมุนไพร เช่น ใช้พื้นที่วัดทำเป็นลานธรรม ลานยาสมุนไพร เป็นสถานที่ในการที่จะช่วยถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม องค์ความรู้ เป็นรมณียสถาน เป็นที่ออกกำลังกาย ที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามโครงการทางนี้มีผลผู้คนรักกัน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“สำหรับการหารือในวันนี้ ได้มีการกล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการครุภัณฑ์ การทำสัญญายืมพัสดุ การใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ให้เป็นตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด การขับเคลื่อนก้าวต่อไป โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน ด้วย 5Ps ซึ่งประกอบด้วย 1) มิติสังคม (People) 2) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) 3) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) 4) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และ 5) มิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) และแผนการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน จังหวัดแพร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยนำแนวคิดการทำเกษตรผสมผสาน สอดคล้องกับหลักอารยเกษตร และหลักการของโคก หนอง นา ที่มีการปรับพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำ ให้มีบ่อน้ำที่จะใช้น้ำ มีเนินจากดินที่ขุดบ่อ เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็มีความสุขที่ได้ทำสวนของตัวเอง ซึ่งการทำสวนตัวอย่างนี้ นอกจากจะเป็นพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน เข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้ว ในขณะเดียวกันชาวบ้านจะมีผักสวนครัว หรือผัก ผลไม้ประจำถิ่นในพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ถือเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ การมีพืชพันธุ์ที่สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องไปซื้อ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุน ตามหลักคิด คือ “ซื้อให้น้อยที่สุด”” ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวเน้นย้ำ

นายชุติเดช มีจันทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่โคก หนอง นา ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ในปัจจุบันพบว่า จังหวัดแพร่ มีพื้นที่ โคก หนอง นา ทั้งหมด 215 แปลง โดยมีการดำเนินงานในรูปแบบ CLM (ระดับตำบล) 1 แปลง และ HLM (ระดับหมู่บ้าน) 63 แปลง และ โคก หนอง นา ในโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 152 แปลง ทั้งนี้ แนวคิดในการขยายผลการสร้างเครือข่าย โคก หนอง นา สู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความตั้งใจ Passion และจิตใจที่รุกรบของคนมหาดไทย ผู้นำต้นแบบ และภาคีเครือข่ายที่จะสานต่อปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยการเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ทำให้พี่น้องประชาชนเห็นประโยชน์ และปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนาความคิด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ยกระดับคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว เเละคนในชุมชน พร้อมร่วมกันพัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน

Leave a Reply