“ชลน่าน” จับมือ “พวงเพ็ชร” นำ 14 องค์กร ปวารณาตนขับเคลื่อน “ธรรมนูญสงฆ์” ขึ้นทะเบียนเบิกจ่าย สปสช.ได้ ยัน “กุฏิชีวาภิบาล” สอดรับพระธรรมวินัย

วันที่  4 มกราคม 2567   ที่พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของ มส. เป็นองค์ประธานในพิธีปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566 “ธรรมมรรคาสู่ระบบสุขภาพที่สมดุล” โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำการปวารณาฯ ร่วมกับ 14 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันบรมราชชนก กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมการศาสนา แพทยสภา สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และเครือข่ายพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์

นพ.ชลน่านกล่าวว่า วันนี้ภาคีเครือข่ายประกอบด้วย สธ. พศ. ฯลฯ ได้ทำการปวารณาคือการประกาศยินยอมเข้ามารับใช้สานพลังขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ที่ปรับปรุงแล้ว เพราะในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการปรับปรุงทุก 5 ปี ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ จึงได้มาปวารณาตัวเพื่อสานพลังขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระสงฆ์ ซึ่งเป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย สานพลังระหว่างพระ ชุมชน และสังคม ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ 1. ทำให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้ 2.ทำให้ประชาชน ชุมชน ฆราวาส สามารถดูแลพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย และ 3.กลไกโดยรวมทั้งหมดที่จะเอื้อต่อการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ วันนี้จึงประกาศแนวทางทั้งหมด

“พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเอง เช่น จัดอบรมหรือสร้างพระคิลานุปัฏฐากดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธ และแนวทางที่เราใช้ดูแลให้เข้มข้นมากขึ้น คือ ดูแลพระสงฆ์อาพาธติดเตียง ระยะสุดท้าย ใช้สถานชีวาภิบาลที่ตั้งขึ้นในวัดได้ ก็จะอบรมพระคิลานุปัฏฐากให้เป็นพระนักบริบาลหรือ Care Giver ซึ่งหากได้ถึง 420 ชั่วโมงก็จะมีความจำเพาะ เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นการสร้างมิติการส่งเสริมป้องกันโรค วัดส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พระสามารถให้ความรู้ประชาชน เพราะมีความเคารพศรัทธา ก้จะสร้างมิติสุขภาพได้ดี” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีพระสงฆ์และสามเณร ได้รับการตรวจสอบสิทธิเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข 164,004 รูป ตรวจคัดกรองสุขภาพ 81,542 รูป เชื่อมโยงวัดกับหน่วยบริการ 9,622 แห่ง มีพระคิลานุปัฏฐากผ่านการอบรม 13,200 รูป มีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์ประเมิน 18,174 แห่ง และมีวัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรม 4,911 แห่ง การขับเคลื่อนในปี 2567 จะผลักดันงานฐานข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อยกระดับการเข้าถึงสิทธิการดูแลสุขภาพและเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ขับเคลื่อนงานกุฏิชีวาภิบาลและสถานชีวาภิบาลถวายการดูแลพระสงฆ์อาพาธและระยะท้าย จัดทำมาตรฐานการจัดบริการของสถานชีวาภิบาลสำหรับองค์กรพระพุทธศาสนา รวมถึงขึ้นทะเบียนวัดที่จัดบริการดูแลพระสงฆ์อาพาธ/ผู้ป่วย เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้

นพ.ชลน่านกล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังเป็นการอาพาธในพระสงฆ์มากที่สุด ทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคอ้วน ซึ่งมาจากพฤติกรรมความเป็นอยู่ ต้องยอมรับว่า การปฏิบัติมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกาย หรือพฤติกรรมของฆราวาสที่นำอาหารหวานมันเค็มมาถวาย ซึ่งถวายอย่างไรก็ต้องฉันเช่นนั้น จึงต้องมาให้แนวทางร่วมกันทำอย่างไรดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ถวายอาหารให้เหมาะสมอย่างไร ลดหวานมันเค็มอย่างไร สำหรับการดูแลพระสงฆ์เราตั้งเป้าหมายมีกุฏิชีวาภิบาลคือ 1 อำเภอ 1 วัด ที่มีอยู่ก็ดำเนินการอยู่ แต่จะเปิดอย่างเป็นทางการปลายเดือน ก.พ.นี้ ที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี และขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาลหรือกุฏิชีวาภิบาลกระจายทุกอำเภอ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมอาคารสถานที่ บุคลากร ที่จะดูแล ทั้งพระสงฆ์หรือบุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบสื่อสาร เทเลเมดิซีน เทเลฟาร์มาซี

“พระท่านให้ความสนใจเพราะเอาธรรมนูญสุขภาพมาสู่การปฏิบัติ ที่ต้องตามพระธรรมวินัย พระสงฆ์หลายรูป หลายสำนัก หลายนิกาย ท่านไม่สบายใจเวลาไปรักษากับ รพ. เพราะไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย พอเราลงไปดูเชิงระบบเพื่อให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยท่านก็สบายใจ” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฝ่ายคฤหัสถ์ กล่าวว่า ปี 2555 สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีฉันทามติพัฒนาประเด็นนโยบายสาธารณะเรื่องพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งพระสงฆ์มีความเสี่ยงอาพาธจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากของขบฉันและภัตตาหาร รวมถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และฐานข้อมูลพระสงฆ์ที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ ทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชนในระดับพื้นที่มากมาย ต่อมาในปี 2560 ได้พัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีกรอบแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ 3.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ มีผู้แทนคณะสงฆ์ หน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกลไก โดยปี 2567 การขับเคลื่อนยังคงมุ่งเน้นใช้ทางธรรมนำทางโลก

ด้าน นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคี ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ เช่น โครงการส่งเสริมพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อพัฒนาอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธ การจัดทำสมาร์ทการ์ดพระภิกษุและสามเณร โดยเชื่อมโยงข้อมูลพระภิกษุและสามเณร ให้ได้รับการบริการสาธารณสุขและสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการสังฆาภิบาลเพื่อพระสงฆ์อาพาธ ส่งเสริมวัดให้มีอาคาร สถานที่ในการสังฆาภิบาลดูแลพระสงฆ์อาพาธ โครงการส่งเสริมพระคิลานธรรม พระสงฆ์จิตอาสาที่ทำงานด้านการเยียวยาความสูญเสีย และดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติ ทั้งใน รพ.และชุมชน และโครงการพระบริบาลภิกษุไข้ เพื่อพัฒนาพระภิกษุสงฆ์เพื่อให้มีองค์ความรู้และทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และทักษะในการบริบาลพระภิกษุไข้ เป็นต้น

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการร่วมกันทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2567 หน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงขอปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ และจะขับเคลื่อนงานอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ สืบไป” นางพวงเพ็ชร กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ล่าสุด สปสช. ได้กําหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้ายเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะทำให้วัดสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการด้านชีวาภิบาล เพื่อให้การดูแลภิกษุหรือญาติโยมที่ป่วยระยะสุดท้ายได้ เป็นการส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ การเป็นผู้นำด้านสุขภาวะในชุมชนตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างแท้จริง

Leave a Reply