ว่าด้วย..”สมมติเทพ”

ช่วงนี้เกิดมีกระแสกรณีเจ้าอาวาส วัดฝายหิน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สนทนากับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสบอกว่า

“เขาเป็นสมมติเทพ ชาวบ้านในประเทศไทยเคารพนับถือแต่ไหนแต่ไรมา อาตมาเสียดาย ติดตามข่าว ทำไมถึงไป คิดถึงขั้นนั้น แล้วถ้าโยมไม่คิด บริวารเขาคิด”

นายพิธา กล่าวตอบว่า “ครับ พวกเราไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้นครับ เราอยากให้พระองค์ท่านมั่นคงสถาพร”

ดูจากคลิป “เจ้าอาวาส” กับ “พิธา” พูดคุยกันอย่างสนิทสนม เจ้าอาวาสท่านเมตตาเดินลงจากบันไดลงไปต้อนรับพร้อมกับจูงมือพูดคุย ซึ่งเป็นไปด้วยความเมตตา อย่างกัลยาณมิตร ภาพออกมาสวยงามในฐานะผู้ใหญ่เมตตาต่อเด็ก พระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบเมตตาต่อญาติโยม

“ผู้เขียน” ในฐานะคนบวชเรียน เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบและยกย่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ และทั้งโดยส่วนตัว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้อุปถัมภ์ผู้เขียนมาหลายครั้งหลายครา คำว่า “สมมติเทพ” ก็ดี คำว่า “พระโพธิสัตว์” ก็ดี พวกเราถูกอบรมสั่งสอนและทั้งส่วนตัวเชื่ออย่างที่ท่านอาวาสวัดฝายหินเชื่อ

และในเชิงประจักษ์ภาพที่เห็นและปรากฏสถาบันพระมหากษัติย์ก็มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อสถาบันสงฆ์และสังคมไทย โดยเฉพาะรัชกาลปัจจุบัน

ทุกเรื่องที่คณะสงฆ์ทำ ทั้งเรื่อบสอบบาลี สอบนักธรรม  อบรมพระอุปัชฌาย์ การอุปถัมภ์พระผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ หรือแม้กระทั้งการส่งเสริมการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ ทุนการศึกษาหลวง  พระองค์ทรงดูแลทั้งสิ้น

อันนี้ยังไม่พูดถึง มหาวิทยาลัยสงฆ์อย่าง “มจร” ช่วงเกิดวิกฤติโควิด คนไม่มาทำบุญ พระนิสิตทั้งไทยและนานาชาติ 500 กว่าชีวิตเดือดร้อน เมื่อพระองค์ทรงทราบเข้าก็ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทุกวันนี้พระองค์ก็ยังทรงเมตตานุเคราะห์ไว้..อันนี้ไม่นับรวมการปฎิบัติธรรมส่วนพระองค์

อันนี้คือคุณูปการบางส่วนที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูสถาบันสงฆ์

ซึ่งเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรม ตามที่พระองค์ทรงประกาศไว้ตอนขึ้นครองราชย์ว่า

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพระพุทธเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสและได้นึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ ฉะนั้น บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการและให้การคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”

ส่วนความเชื่อเรื่อง “สมมติเทพ” หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพลงมาจุติเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อประกอบคุณความดีและสะสมบารมี โดยมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนากำกับเช่น ทศพิธราชธรรม , จักรวรรดิวัตร 12 ,ราชสังคหวัตถุ 4 ขัตติยพละ 5,  เมื่อเสด็จสวรรคตก็กลับขึ้นสรวงสวรรค์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับคติพราหมณ์มาจากขอม เรียกพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองว่า “สมมติเทพ” หรือ “เทวราชา” คือ ลักษณะการปกครองที่พระมหากษัตริย์เป็นคนเดียวที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน โดยมีความเชื่อว่าได้รับบัญชาสวรรค์หรือเป็นตัวแทนสวรรค์ลงมาปกครองมวลมนุษย์ เราเรียกการปกครองแบบนี้ว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช”

พระมหากษัตริย์มีความผูกพันกับสังคมไทยมาตั้งแต่สร้างประเทศ ทรงนำประชาชนรวมตัวกันสร้างบ้านเมือง ขยายอาณาเขตแว่นแคว้น สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงจนเป็นประเทศ ทรงปกป้องดินแดนและอาณาประชาราษฎร์จากการรุกรานของศัตรู ปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขและรุ่งเรืองก้าวหน้า พระมหากษัตริย์จึงอยู่ในสถานะผู้นำสูงสุดของสังคม เป็นที่รักเคารพ และเทิดทูนของอาณาประชาราษฎร์ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม

“หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ” ได้แสดงปาฐกถาธรรมทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรื่อง “การตามรอยพระยุคลบาทโดยทศพิธราชธรรม” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2530  เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“.เรามีหลักเกณฑ์ว่า ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือมีการเป็นผู้นำ แต่แล้วมันก็กระทบความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง คือว่ารัฐธรรมนูญมิได้ถวายพระราชอำนาจในการเป็นผู้นำโดยประการทั้งปวง ยังควบคุมอยู่บางอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สูญเสียการเป็นผู้นำ เพราะว่ามีการนำได้อีกหลายทาง หลายอย่างหลายประการ แม้จะไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีโอกาสที่จะนำในทางเศรษฐกิจ ในทางพัฒนา ในทางวัฒนธรรม ในทางการศึกษา อะไรๆ ซึ่งดีไปกว่าการเมืองซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวง เรียกว่าเป็นผู้นำในทางวิญญาณ เป็นผู้นำในทางวิญญาณ ฟังดูให้ดีๆ ว่าการทำให้เกิดความถูกต้องในทางจิตใจในการดำเนินชีวิต นี่เป็นการนำในทางวิญญาณ เราทั้งหลายสามารถที่จะถวายโอกาส หรือทำให้เกิดโอกาส จนพระประมุขแห่งชาติสามารถจะนำได้อย่างเต็มที่ ครบถ้วนทุกอย่างที่จะทำให้เกิดความสุข ความเจริญ เราทั้งหลายสามารถทำให้เกิดโอกาสแก่การนำโอกาสนั้น ถวายแก่สมเด็จบรมบพิธพระราชสมภารแห่งประเทศไทย จะได้ทรงนำได้ตามพระราชประสงค์ พระราชประสงค์ใดล้วนแต่เป็นพระประสงค์ที่ดี ที่ถูกต้อง เราก็ถวายโอกาสแห่งการนำอันถูกต้อง และเราก็ถือโอกาสประพฤติตามอย่างถูกต้อง คือประพฤติตามพระองค์ในการบำเพ็ญทศพิธราชธรรม”

ผู้เขียน สรุปไว้แบบนี้ว่า สถาบันสงฆ์ส่วนใหญ่รวมทั้งผู้เขียน เชื่อมาแบบนี้ และทุกวันนี้ความเชื่อนี้ก็ยังยืนหยัดยึดมั่นมิเสื่อมคลาย ส่วนใครจะเห็นต่าง ก็เป็น “สิทธิ” ของบุคคลนั่น..

แต่การไปต่อว่าโจมตีหรือต่อว่า “คนเห็นต่าง”  คงมิใช่วิสัยของบุคคลที่มีความคิด “หัวก้าวหน้า” หรือ ผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลง!!

Leave a Reply