ปลัดมหาดไทยพร้อมแม่บ้าน สร้าง “เทวดาเหยียบมอม” ถวายพระธาตุแช่แห้ง หลังสูญหายไปกว่า 60 ปี

วันนี้ (26 เม.ย. 67) เวลา 09.00 น. ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานประกอบพิธีถวายทานเทวดาเหยียบมอม สร้างขึ้นทดแทนของเดิมของวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่สูญหายไปกว่า 60 ปี โดยได้รับเมตตาจาก พระชยานันทมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนพร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีโอกาสเดินทางมาตรวจติดตามการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดน่าน และได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระชยานันทมุนี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทวดาเหยียบมอม ซึ่งประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง และได้สูญหายไปเป็นเวลากว่า 60 ปี แต่ยังนับเป็นความโชคดีที่มีภาพโบราณปรากฏอยู่ จึงทำให้ยังมีเค้าลางและร่องรอยที่ทางวัดมีความประสงค์อยากจะได้จัดสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นมรดกเรียนรู้ของลูกหลานชาวจังหวัดน่าน ตลอดจนถึงนักท่องเที่ยวและประชาชน เด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จะได้มีโอกาสมาสักการบูชาพระธาตุแช่แห้ง ตลอดจนสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณวัด เมื่อทราบเรื่องดังกล่าว ตน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงปวารณารับเป็นเจ้าภาพ เป็นธุระในการสร้างเทวดาเหยียบมอม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดน่านต่อไป

“กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนตลอดจนประชาชนทุกช่วงวัยได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อันเป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงคุณงามความดีตลอดจนมรดกอันดีงามของบรรพบุรุษ อีกทั้งเรื่องราวทางพุทธประวัติ ตลอดจนความเชื่อต่าง ๆ วัฒนธรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ล้วนแต่เป็นการตอกย้ำถึงคุณค่าของความงดงามทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติไทย ซึ่งการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยไปสู่ลูกหลานเพื่อทำให้คนในชาติเกิดความกตัญญูกตเวที รู้ถึงความเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทำให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติ ของพื้นที่ อันจะยังผลทำให้ได้ตระหนักรู้ ซึมซับ และร่วมกันธำรงความเป็นชาติ เพื่อทำให้ชาติไทยเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง หรือที่เรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” ที่ผู้คนมีความรักและหวงแหนแผ่นดิน หวงแหนขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม และร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

พระชยานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ “เทวดาเหยียบมอม” ไว้ว่า เทวดาเหยียบมอมนั้นจะทรงเครื่อง มอมมีลักษณะคล้ายสิงห์ “แต่มอมเมืองน่านเป็นมอมชั้นสูง” มีลักษณะศีรษะจะเหมือนพญานาคประจำแม่น้ำน่าน หูจะเหมือนหนู “มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกและตั้งอยู่ที่จังหวัดน่านเพียงหนึ่งเดียว” ขาทั้งสี่ ครีบขาด้านหลังจะสามารถลงน้ำได้ เป็นครีบคู่ และอยู่บนบกก็ได้ โดยเทวดาที่เหยียบมอมนั้นเป็นเทวาประจำเมืองถือฉัตรประจำเมือง หรือภาษาล้านนาเรียก “เกิ้ง” เทวดาถือฉัตรสันนิษฐานว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงที่จะสามารถสร้างองค์ลักษณะนี้ได้เพราะฉัตรมี 5 ชั้นเหมือนฉัตรของวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ด้านบนยอดพระธาตุดอกจำปาบรรจุด้วยพระบรมสารีริกธาตุที่ยกขึ้นสูง ต่อจากพิธีนี้แล้ว นาคจะใส่สร้อยสังวานถือว่าเป็นพญามอมที่อยู่ประจำวัดพระธาตุแช่แห้ง ทั้งนี้จะได้มีการจารึกและเขียนเป็นประวัติศาสตร์ไว้ต่อจากนี้ไปคู่กับมอมอีกคู่หนึ่งที่สร้างไว้เรียบร้อยแล้ว ไม้ที่นำมาจำรัสสร้างเป็นไม้ตายชานแบบโบราณที่หมดอายุขัยและปรากฏอยู่ในวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ทั้งนี้ได้มีการกระทำประกอบพิธีบวงสรวงพลีกรรมขอรุกเทวดาประจำต้นไม้ทั้งหลายเพื่อนำมาสร้างโดยใช้ไม้เพียง 2 ท่อนประกอบเป็นมอมหนึ่งท่อนและเทวดาอีกหนึ่งท่อนต่อกันได้ เชื่อได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง “และนับว่าโชคดีที่มีภาพเก่าปรากฏให้เห็น วัดจึงดำเนินการจัดสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยทุกประการ”

“สำหรับตัวมอมนั้นเป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีลักษณะ มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันตามแต่ทักษะ ประสบการณ์ และจินตนาการของช่างที่ต้องการจะสื่อ สะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ลักษณะทั่วไปของตัวมอมในศิลปกรรมล้านนามักอยู่ในท่าทางเคลื่อนไหวต่างกัน มีทั้งตั้งสง่าดั่งราชสีห์ หมอบกระโจน วิ่งวนเป็นวงกลม หยอกเล่นเป็นคู่ หรือเหาะเหิน นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมตัวมอม นิยมประดับอยู่ตามวัด ทั้งแบบประติมากรรมลอยตัว นูนสูง และนูนต่ำ มีการปรากฏให้เห็นในรูปของส่วนประกอบในลวดลายประดับ รูปแบบศิลปกรรมบางแห่งปรากฏรูปเทวดายืนบนหลังมอม หรือยืนเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบลงบนศีรษะ หรือหลังของตัวมอม ซึ่งอาจจะหมายถึงเทวดา “ปัชชุนนะ” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อในสมัยก่อน เมื่อในหมู่บ้านเกิดฝนแล้ง ชาวบ้านจะนำเอาตัวมอมที่แกะจากไม้ทาสีมารวมกัน แล้วแห่ไปรอบหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าตัวมอมจะบันดาลให้ฝนตกได้ ประติมากรรมรูปตัวมอม เป็นพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์บอกเล่าถึงความเคารพศรัทธา คติ ความเชื่อ ที่บรรพบุรุษชาวล้านนามีต่อพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันรูปตัวมอมโบราณเกือบสูญหายหมดสิ้นแล้ว เนื่องจากการบูรณะมักมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะของตัวประติมากรรม ประกอบกับการถูกทำลายโดยธรรมชาติและมนุษย์ ผลให้อนาคตอาจไม่เหลือรูปแบบ ลักษณะดั้งเดิมของประติมากรรมตัวมอม ปรากฏให้คนรุ่นหลังได้เห็น” พระชยานันมุนี กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply