ย้อนอดีตการตีระฆังของพระสงฆ์ และ มูลเหตุการทำระฆังเล็ก ๆ ถวายวัด มีที่มาจากไหน?

 

ระฆังเป็นเครื่องตีที่หล่อด้วยโลหะเป็นรูปคล้ายลูกฟักตัด ตอนบนหล่อเป็นหูเพื่อเกี่ยวกับตะขอหรือโซ่สำหรับสอดคานแขวน ในสมัยพุทธกาล ระฆังสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ที่ไหน ใครเป็นผู้สร้างนั้น ยากที่จะคลายความสงสัยข้อนี้ลงได้ เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏชัด

คำว่า ระฆัง (บาลีว่า ฆณฺฏา, ฆณฺฏิ) ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี แต่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกอรรถกถาและฎีกาหลายแห่ง โดยส่วนมากจะระบุว่ามีการใช้ระฆังเป็นเครื่องบอกเวลา เป็นสัญญาณเพื่อปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือใช้ระฆังเป็นสิ่งอุปมาเปรียบเทียบ เช่น “วิตกชื่อว่ามีความตกลงเฉพาะแห่งจิตเป็นครั้งแรก เพราะมีความหมายว่ายกขึ้นเหมือนเสียงเคาะระฆัง”

หลังสมัยพุทธกาลราวพุทธศตวรรษที่ 10 มีการบันทึกเกี่ยวกับการให้สัญญาณโดยการตีระฆังเพื่อเรียกประชุมในหมู่พระสงฆ์ มักใช้ในกรณีที่มีพระสงฆ์อาพาธจําเป็นต้องได้รับการรักษา มีการสันนิษฐานว่าตำแหน่งของระฆังนั้นอาจตั้งอยู่บริเวณใกล้กับวิหาร แต่ไม่ปรากฏหลักฐานถึงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปร่างและวัสดุของระฆังและอาคารสำหรับแขวนระฆัง

ในสมัยสุโขทัย ในไตรภูมิพระร่วงมีการกล่าวถึงระฆัง มีข้อความว่าด้วยความสุขในอุตรกุรุทวีปตอนหนึ่งว่ามีการร้องระบำและบรรเลงดนตรีด้วย ฆ้อง กลอง แตร สังข์ ระฆัง กังสดาลเท่านั้น ไม่พบบันทึกว่าการใช้ระฆังเพื่อส่งสัญญาณ ต่อมาในสมัยอยุธยา ได้ปรากฏโบราณวัตถุเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงว่ามีการใช้ระฆังในพระพุทธศาสนาแล้ว ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นระฆังที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

นิโกลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกถึงการตีระฆังของพระสงฆ์ในสมัยนั้นว่าต้องทำเป็นวัตรประจำทุกวันเพื่อส่งสัญญาณในการเตรียมทำวัตรเช้า และยังเป็นการส่งสัญญาณบอกเวลาแก่ชาวบ้านให้เตรียมทำบุญตักบาตรอีกด้วย ดังที่บันทึกว่า

“พระภิกษุต้องตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ ทุกวันจะมีการตีระฆังใหญ่ปลุกให้ลุกขึ้นตั้งแต่ตีสี่และเรียกให้ไปสวดมนต์ในตอนเช้า ในฤดูที่มีลมพัดมาจากทางทิศใต้ พระภิกษุจะพร้อมกันเข้าไปในโบสถ์เมื่อสิ้นเสียงระฆัง แต่ในฤดูที่มีลมพัดจากทางทิศเหนือ ซึ่งอากาศค่อนข้างเยือกเย็นสักหน่อยนั้น ภิกษุส่วนมากยังคงจำวัดอยู่ ปล่อยให้มีการตีระฆังไปเปล่า ๆ ตามปรกติเท่านั้น เพราะไม่มีใครได้ยินเสียงเลย เสียงระฆังนี้เป็นเครื่องเตือนผู้มีศรัทธาให้เตรียมทำทานไปในตัวด้วย เพราะพระภิกษุจะออกรับบิณฑบาตทันทีที่การสวดมนต์เช้าได้สิ้นเสร็จลง…”

สำหรับการตีระฆังในช่วงเย็น นิโกลาส์ แชร์แวส เล่าว่า พระสงฆ์บางรูปที่เป็นพวกเสเพลต้องรีบกลับวัดให้ทันก่อนตะวันตกดินหรือก่อนตีระฆังช่วงเย็นอันเป็นสัญญาณในการเตรียมทำวัตรเย็น มิเช่นนั้นจะมีผู้สังเกตเห็น ดังที่บันทึกว่า

“ส่วนพระเสเพลซึ่งมีจำนวนไม่น้อยนั้น มักไม่อยู่ติดวัด เมื่อทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มักจะออกไปหาผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันและแสวงหาผู้รู้จักใหม่ต่อไป จะต้องกลับมาถึงวัดต่อก่อนเวลาตะวันตกดินเท่านั้น ระฆังใบที่ตีเตือนให้ลุกขึ้นสวดมนต์ในตอนเช้านั่นเอง จะตีเตือนให้กลับมาสวดมนต์ในตอนเย็น ซึ่งกินเวลานานเท่า ๆ กัน และจะขาดเสียมิได้ ด้วยเกรงจะมีผู้สังเกตเห็นว่าตนละเลยต่อวัตรปฏิบัติ เมื่อสวดมนต์แล้วก็ไม่มีอะไรทำ นอกจากเข้าจำวัดเท่านั้น…”

การตีระฆังทุกเช้าเย็นนี้ถือเป็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ ซึ่งกระทำสืบเนื่องเรื่อยมา ดังที่ สังฆราชปาลเลอกัวซ์ บาทหลวงในคริสต์ศาสนาซึ่งเดินทางเข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ 3-4 ได้บันทึกถึงการตีระฆังของพระสงฆ์ไว้ว่า

“ต่อไปนี้เป็นการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ พอไก่ขันก็ตีระฆังหรือตีกลอง คงจะเป็นสัญญาณปลุกให้พวกผู้หญิงลุกขึ้นหุงข้าวกระมัง ปลุกลูกศิษย์ หรือนักเรียนให้ลุกขึ้นเตรียมเรือ ระหว่างนั้นท่านก็สรงน้ำ แต่งกายไปลงโบสถ์เพื่อชุมนุมสวดมนตร์สองสามบทเป็นภาษาบาลี ต่อจากนั้นจึงมาลงเรือพายไปจอดตามหน้าร้านหรือหน้าบ้าน ซึ่งพวกผู้หญิงหมอบ ๆ ก้ม ๆ พนมมือ นิมนต์ แล้วตักข้าวสุกใส่บาตรให้ทัพพีใหญ่ พร้อมด้วยปลา ผัก ผลไม้ และขนม เมื่อเวียนจนจบทางและบาตรเต็มแล้ว ท่านก็กลับไปสู่วัด…”

ระฆังที่พบในวัดในประเทศไทยมีหลายประเภท มีการใช้งานที่แตกต่างกัน ระฆังที่คนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยคือระฆังที่ให้สัญญาณพระสงฆ์ในการทำวัตรเช้าเย็น เนื่องจากมีการใช้เป็นประจำทุกวัน โดยพระสงฆ์หรือสามเณรเป็นผู้ที่รับหน้าที่ในการตีระฆังทุกวันมิให้ขาด อันเป็นสัญญาณในการเตรียมทำวัตร เพื่อเป็นการรักษาวินัยพระสงฆ์

นอกจากระฆังแล้วยังมีกลองและฆ้อง ทั้งสามสิ่งอยู่เคียงคู่พุทธศาสนามานาน ถือเป็นเครื่องมือแจ้งสัญญาณให้พุทธศาสนิกชนทราบว่าถึงวันพระแล้วให้พร้อมกันทำบุญทำทานรักษาศีล พุทธศาสนิกชนบางส่วนจึงมีความเชื่อว่า การตีกลอง ฆ้อง ระฆัง เป็นการถวายเป็นพุทธบูชา เสียงที่มีความดังกังวานเปรียบเสมือนพระคุณของพระรัตนตรัยที่แผ่กังวานไปทั่วจักรวาล ด้วยเหตุนี้จึงนิยมจัดสร้างหรือนำระฆังมาถวายวัด หวังจะทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปไกล ทำให้ได้อานิสงส์ที่จะส่งผลไปยังชาติต่อ ๆ ไป

แต่เนื่องจากสร้างระฆังต้องใช้ทุนจำนวนไม่น้อย นี่จึงอาจเป็นมูลเหตุของการคิดทำระฆังเล็ก ๆ หรือบ้างเรียกกระดิ่งขึ้นมาไว้สำหรับแขวนตามเจดียสถานหรือชายคาพระอุโบสถ ประเด็นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “ประเพณีเดิมน่าจะเกิดแต่ผู้สร้างหรือบูรณะปฏิสังขรณ์เจดียสถานนั้นประสงค์จะแผ่ส่วนกุศลให้บุญเป็นนิจกาลดอกกระมังจึงทำระฆังอย่างนั้นขึ้นไว้…”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า คนไทยบางส่วนยังเข้าใจผิดว่าการตีระฆังตีเพื่อเอาบุญ แต่แท้จริงแล้วเป็นการตีเพื่อประกาศบุญ “คือเมื่อใครได้ทำบุญแล้วจึงตีระฆังให้เทวดามนุษย์ได้ยินเสียงเป็นสัญญาให้อนุโมทนาและรับส่วนบุญ ดูเป็นทำนองเดียวกับที่พูดว่า ‘กวาดวัดแกรกหนึ่งได้ยินถึงพรหมโลก’…”

ท้ายนี้ขอยกกลอนของ สมเด็จพระพุทธโษาจารย์ (วาสน) แห่งวัดราชบพิธ มาให้อ่าน ที่ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ว่า “คน = ระฆัง”

กลอนระฆัง ดังเมื่อตี มีเสียงเพราะ
ฟังเสนาะ หวานหู มิรู้หาย
ดุจคนดี มีศีล-ะธรรมพราย
ห่อนขยาย ยกตน ให้คนชม
กลองระฆัง ดังเอง พึงเกรงขาม
อย่าผลีผลาม ใกล้ชิด สนิทสนม
แฝงอุบาทว์ ชาติชั่ว อันมัวมม
คือคนชม ตนเอง เก่งกว่าใคร

 

ที่มา..Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม

Leave a Reply