“กระทรวงมหาดไทย” ทำอะไรบ้าง!! ปลัดเก่ง สรุปชัดงานเสวนาการขับเคลื่อนงานเพื่อความยั่งยืน ในงาน “โครงการหลวง 54”

วันที่  8 ส.ค. 66   เวลา 15.30 น. ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเสวนาเรื่อง “การขับเคลื่อนงานเพื่อความยั่งยืน” ในงาน “โครงการหลวง 54” โดยมีอาจารย์สุทธิพงษ์ สุริยะ (อ.ขาบ) อาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย คุณศิริบูรณ์  ณัฐพันธ์ พิธีกรจิตอาสา และมีพี่น้องประชาชนผู้สนใจ ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยหากกล่าวถึงคำว่า “ความยั่งยืน” แบบองค์รวมนั้น ในแง่ของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้เดือดร้อน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และท่านนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ได้บูรณาการภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน นำนโยบายของรัฐบาลไปขับเคลื่อนภายใต้ชื่อ “ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทำให้เราได้ค้นพบพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาความยากจน ซึ่งคำว่า “ความยากจน” นี้ หมายถึงความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เช่น ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีเลขที่บ้าน ไม่มีทุนการศึกษา ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาความยากจนจากระบบ TPMAP พบว่ามีประชาชนเดือดร้อน จำนวน 6.5 แสนครอบครัว

“แต่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ทำการสำรวจสภาพปัญหาความเดือดร้อนเพิ่มเติมด้วยแพลตฟอร์ม ที่พัฒนาโดยกรมการปกครอง ทำให้ได้พบสภาพปัญหาทั่วประเทศมากถึง  3.8 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 14.5 ล้านปัญหาความเดือดร้อน อาทิ เราพบพี่น้องประชาชนไม่มีบ้านอยู่อาศัยถึง 2 แสนครอบครัว ซึ่งเราก็ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ด้วยมิติยาไทย คือ การทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน “ด้วยน้ำใจคนไทย” ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น พระสงฆ์ นักธุรกิจเอกชน มูลนิธิ สมาคม ภาคประชาสังคมต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนภาคราชการ เพราะหากลำพังเพียงภาคราชการที่จะต้องทำงานตามกฎระเบียบ ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณไว้อย่างจำกัด คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น ยาไทย ที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เป็นตัวอย่างของการเสริมสร้างความยั่งยืนในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในแง่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ร่วมกับ UN Thailand เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อ ขับเคลื่อนขยายผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 17 ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) เป็นกลไกบูรณาการการขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นไปตาม SDGs ข้อต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ในเป้าหมายที่ 3 : การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ร่วมจัดงานโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 9 เฉลิมพระเกียรติ ภายใต้แนวคิด “คนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทยไร้สโตรค” (No STROKE for all Thais by NEW GEN) ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองส่วนหนึ่งเกิดจากการกินและการไม่ได้ออกกำลังกาย กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการรณรงค์กระตุ้นเตือนและส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ออกกำลังกาย และด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ช่วยกันสร้างการรับรู้ไปยังทุกภาคส่วน ทำให้ในขณะนี้มีผู้ที่รักสุขภาพ และภาคีเครือข่ายของผู้ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพ สมัครร่วมกิจกรรมในทั่วทั้งประเทศเกือบจะ 3 แสนคนแล้ว ซึ่งไม่เคยมีงานวิ่งที่มีคนร่วมงานเป็นจำนวนมากขนาดนี้

“กระทรวงมหาดไทย ยังได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และแนวทางพระราชดำริการสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาขับเคลื่อน “โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาขับเคลื่อนในทุกจังหวัด อำเภอ เพื่อยังผลทำให้พี่น้องประชาชนในทุกครัวเรือนได้มีอาหาร มีผักที่สะอาด ปลอดภัย ลดรายจ่าย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ทุกวันนี้มีพี่น้องประชาชนมากกว่า 14 ล้านครัวเรือน ได้ปลูกผักกินเองจนเป็นวิถีชีวิต และยังได้ช่วยกันทำให้พื้นที่สาธารณะ ถนนสาธารณะในหมู่บ้าน/ชุมชน ในตำบล ได้เป็นเส้นทางแห่งอาหารปลอดภัย เฉกเช่นที่ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ได้ทำให้ถนนของท้องถิ่น กลายเป็นถนนพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เป็นถนนแห่งการแบ่งปัน เป็นถนนแห่งความรักความสามัคคี นอกจากนี้ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์ให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อนำเศษอาหารที่เป็นขยะเปียกใส่ลงไป ย่อยสลายเป็นจุลินทรีย์สารบำรุงดินบำรุงพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร และต้นไม้ภายในบริเวณโดยรอบบ้าน กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผนึกกำลัง UN Thailand และ KBANK ประกาศความสำเร็จการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่อง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ สามารถแปลงให้กลายเป็นทุนกลับคืนสู่หมู่บ้าน/ชุมชนได้ในราคา 260 บาท/ตัน รวมเป็นเงิน 816,400 บาทในเฟสแรก และในระยะเวลาไม่ไกลจากนี้ เราจะมี 22 จังหวัด ร่วมประกาศความสำเร็จปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เราจัดเก็บได้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งต้องขอขอบคุณ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เป็นภาคีเครือข่ายภาควิชาการร่วมสนับสนุน โดยคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมความคิดริเริ่มต่าง ๆ โดยยกตัวอย่าง โครงการคัดแยกขยะที่เป็น “ตัวเร่งSDGs” ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระของชาติเรื่อง Bio – Circular – Green Economy : BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) พร้อมย้ำถึงสิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมประเทศให้มีต้นแบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเป็นรูปธรรมด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และกระทรวงมหาดไทยตลอดมา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระกรุณาธิคุณผ่านกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องแรก คือ เรื่องการส่งเสริมผ้าไทย โดยพระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยโดยทรงต่อยอดจากแบบดั้งเดิม (Tradition) ด้วยการใช้องค์ความรู้จากการทรงศึกษาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ประเทศอิตาลี ประเทศฝรั่งเศส โดยทรงพระราชทานพระดำริ Sustainable Fashion น้อมนำหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร  อันได้แก่ 1) ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ไม่ใช้ผ้าจากโรงงาน 2) ส่งเสริมการย้อมสีผ้าจากสีธรรมชาติ ใช้ใบไม้ รากไม้ คราม ไม่ใช้เคมี เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3) ส่งเสริมการผลิต ถักทอผ้าด้วยมือ (Handmade) ไม่ใช้เครื่องจักร และ 4) ส่งเสริมศักยภาพ โดยทรงโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าซึ่งเป็นผู้ออกแบบ  (Designer) ชั้นนำ มาเป็นโค้ชจิตอาสาให้ชาวบ้าน 5) ทรงประมวลรวบรวมองค์ความรู้และเป็นบรรณาธิการหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK เพื่อให้ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้า ได้มีความรู้ความเข้าใจและปรับเทคนิควิธีการให้สอดคล้องกับความนิยมชมชอบของสังคมโลกปัจจุบัน และ 6) ส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่นในหมู่บ้าน/ตำบล มาเรียนรู้เรื่องการถ่ายทอด การออกแบบตัดเย็บ ตามโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำรินี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการประเมินรับรอง Carbon Footprint จากการผลิตสิ่งทอในระดับท้องถิ่น อันเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

“ด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น และสายพระเนตรที่ยาวไกล ภายหลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระดำริในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย จนทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว พระองค์ยังทรงคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความยั่งยืน จึงได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งพระราชทานพระดำรัสว่า “หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือการทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน” พร้อมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริว่า “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ขับเคลื่อนขยายผลในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ ด้วยการเริ่มที่ครัวเรือน มีการแบ่งกลุ่มบ้านเป็นป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน กลุ่มละ 10-20 ครัวเรือน ดูแลช่วยเหลือเกื้อกูล ปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน คัดแยกขยะ มีการจัดกิจกรรมสร้างความรัก ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จัดกิจกรรมสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ถ่ายทอดสู่เด็ก เยาวชน ลูกหลาน โดยน้อมนำแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานหลักการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยทรงสรุปจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจผ่านโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการไว้ว่า จะต้อง 1) เปิดเวทีพบปะพูดคุยอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 1 ปี 2) ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมเสนอแนะ 3) ร่วมลงมือทำ และ 4) ร่วมรับประโยชน์ ความสุขอย่างยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมชิมอาหารจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้แก่ 1) ไข่ต้มใบชา ซึ่งเป็นผลิตผลจากโครงการหลวง ต้มกับน้ำใบชา 2) ไก่อุ๊บ เป็นการนำเนื้อไก่มาคลุกเคล้าส่วนผสมขิง ตะไคร้ พริกขี้หนู กระเทียม มะเขือเทศ และสมุนไพรต่าง ๆ จากโครงการหลวง และ 3) หมั่นโถวธัญพืช พร้อมทั้งเชิญชวนพี่น้องประชาชน ได้เลือกซื้อสินค้าผลผลิตจากโครงการหลวง ระหว่างวันที่ 3 – 14 สิงหาคม 2566 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

Leave a Reply