ปู่ทองย้อย ซัด!!  พุทธไทย “กำลังเพี้ยน” นึกว่า ทำบุญ แค่ “บริจาคเงิน”

วันที่ 16 ธันวาคม 2566   เพจ “ทองย้อย แสงสินชัย”  ซึ่งเป็นเฟชบุ๊คส่วนตัวของ พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เปรียญธรรม 9 ประโยค   ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา  ช่วงหลัง ๆ มานี้มักโพสต์ คำอธิบายเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หลักธรรม พระวินัย เรื่องที่ชาวพุทธควรทำ และไม่ควรทำ ออกมาต่อเนื่อง อย่างเช่นล่าสุดได้อธิบายเกี่ยวกับไวยาวัจกร ดังความว่า   ไวยาวัจมัย : ทำบุญช่วยพระไม่ให้ต้องอาบัติ

คนไทยเรา พอพูดว่า “ทำบุญ” จะนึกออกอยู่อย่างเดียว คือบริจาคเงิน จนกระทั่งความหมายของคำว่า “ทำบุญ” กำลังเพี้ยน คือทำบุญหมายความว่าบริจาคเงินคำพระหรือคำในพระพุทธศาสนาเมื่อเอามาพูดกันในภาษาไทยที่เพี้ยนไปแล้วมีหลายคำ เช่น –

สันโดษ คนไทยเข้าใจว่า ขี้เกียจอุเบกขา คนไทยเข้าใจว่า ไม่รับผิดชอบ  ธุดงค์ คนไทยเข้าใจว่า พระแบกกลดสะพายย่ามสะพายบาตร  สังฆทาน คนไทยเข้าใจว่า ของที่จัดเป็นชุดสำหรับถวายพระ  ผ้าป่า คนไทยเข้าใจว่า งานระดมทุนเพื่อจัดหาของที่ต้องการ

กฐิน คนไทยเข้าใจว่า งานระดมเงินถวายวัดประจำปี  และที่เกี่ยวกับเรื่องที่ผมกำลังเขียน คือ “ไวยาวัจกร” ความหมายเดิมคือ ผู้ทำบุญไวยาวัจมัย เวลานี้เพี้ยนไปแล้ว เป็นการเพี้ยนที่มีกฎหมายรองรับเสียด้วย  เริ่มที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๒๓ บัญญัติไว้ดังนี้ –

มาตรา ๒๓ การแต่งตั้ง ถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ข้อ ๔ กำหนดไว้ดังนี้ –

ข้อ ๔ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ “ไวยาวัจกร” หมายถึงคฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –

ไวยาวัจกร : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ. (ป. เวยฺยาวจฺจกร).

คำว่า “เบิกจ่าย” คือทำอะไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ไม่ได้เก็บคำว่า “เบิกจ่าย” ไว้ แต่มีคำว่า “เบิก” และ “จ่าย”

ที่คำว่า “เบิก” บอกความหมายว่า “ขอให้จ่าย เช่น เบิกเงิน เบิกของ”

ที่คำว่า “จ่าย” บอกความหมายว่า “เอาออกใช้หรือให้ เช่น จ่ายเครื่องแบบ”

ตีความว่า “เบิกจ่าย” คือ ไป “เบิก” คือขอรับนิตยภัตจากหน่วยงานที่ได้รับเงินจัดสรรจากรัฐบาล แล้วนำมา “จ่าย” คือถวายแก่พระที่มีสิทธิ์ได้รับ  แล้ว “นิตยภัต” คืออะไร?  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ บอกไว้ว่า นิตยภัต : (คำนาม) อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์. (ส. นิตฺย + ป. ภตฺต).ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ปรับปรุงบทนิยามเป็นดังนี้ –

นิตยภัต : (คำนาม) อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์, เงินงบประมาณแผ่นดินที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อเบิกจ่ายถวายอุดหนุนอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ พระเลขานุการ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นต้น. (ส. นิตฺย + ป. ภตฺต).

สรุปหน้าที่ของไวยาวัจกรตามกฎหมายก็คือ (๑) เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของวัด (๒) ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัด

เวลานี้ ไปถามผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นไวยาวัจกรตามวัดต่าง ๆ ดูเถิด ท่านเหล่านั้นจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า หน้าที่ของข้าพเจ้าคือเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของวัดและดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดเท่านั้น ข้าพเจ้าไม่มีหน้าที่รับใช้พระ

ทั้ง ๆ ที่หน้าที่เดิมแท้ของไวยาวัจกรก็คือ รับใช้พระ!

คำว่า “ไวยาวัจกร” (คำบาลีว่า “เวยฺยาวจฺจกร”) แปลว่า “ผู้ทำการขวนขวายช่วยเหลือ” หมายถึง ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์, ผู้ช่วยขวนขวายทำกิจธุระของสงฆ์, ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวยฺยาวจฺจกร” ว่า servant, agent (คนรับใช้, ตัวแทน)จะเห็นได้ว่า หน้าที่เดิมแท้ของไวยาวัจกรคือรับใช้พระ คืองานอะไรที่พระทำไม่ได้ เพราะมีพุทธบัญญัติห้ามไว้ หรือเพราะไม่สมควรแก่สมณวิสัย หรือเพราะเหตุใด ๆ ก็ตาม คฤหัสถ์ชาวบ้านคนไหนเข้าไปรับช่วยทำให้ คนนั้นแหละท่านเรียกว่า “ไวยาวัจกร”

คนที่เข้าไปรับใช้พระ ช่วยทำงานให้พระหรือทำงานแทนพระเช่นนี้ ยังมีคำเรียกอีก ๒ คำ (เท่าที่ระลึกได้ในขณะนี้) คือ กัปปิยการก และ อารามิกชนคำว่า “กัปปิยการก” (กับ-ปิ-ยะ-กา-รก) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้สมควร” “ผู้ทำสิ่งที่เหมาะสม”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -กัปปิยการก : ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –

กัปปิยการก : (คำนาม) ผู้ปฏิบัติภิกษุในเรื่องปัจจัย ๔ คือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค.

คำว่า “อารามิกชน” (อา-รา-มิ-กะ-ชน) แปลว่า “คนผู้อยู่ในอาราม” “คนผู้ประกอบกิจในอาราม” “คนของอาราม” หมายถึง คนวัด หรือคนทำการวัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ไม่ได้เก็บคำว่า “อารามิกชน” ไว้ แต่มีคำว่า “อารามิก” บอกไว้ว่า “เกี่ยวกับวัด, ชาววัด”

“อารามิก” หรือ “อารามิกชน” คือชาวบ้านที่ช่วยทำงานให้วัด หรือทำงานแทนพระ มีพุทธานุญาตให้วัดมีคนเช่นนี้ได้

ต้นเรื่องในคัมภีร์กล่าวไว้ว่า พระสาวกรูปหนึ่ง ชื่อพระปิลินทวัจฉะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คราวหนึ่งจาริกมาถึงเมืองราชคฤห์ พบเงื้อมเขาแห่งหนึ่ง ทำเลสงบสงัดดี จึงช่วยกันกับภิกษุอื่น ๆ จัดแจงปรับสถานที่สำหรับเป็นที่ปลีกวิเวก

พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งมคธรัฐทรงทราบ จึงตรัสสั่งให้จัดคนไปช่วยทำกิจนั้นโดยวิธียกหมู่บ้านแห่งหนึ่งให้เป็น “อารามิก” (คำว่า “อารามิก” พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “คนทำการวัด”) คนในหมู่บ้านนั้นทั้งหมดมีฐานะเป็นคนทำงานให้วัด หมู่บ้านนั้นมีฐานะเป็นเอกเทศจากบ้านเมือง คือเป็นเหมือนสมบัติของวัด บ้านเมืองไม่เข้าไปใช้อำนาจ เช่นไม่เก็บภาษี ไม่เกณฑ์คนในหมู่บ้านไปสงครามเป็นต้น

ในเมืองไทยเราก็เคยมีธรรมเนียมยกหมู่บ้านถวายวัดแบบนี้ มีคำเรียกคนที่ทำงานรับใช้วัดว่า “ข้าพระ โยมสงฆ์”

“อารามิกชน” ที่สังคมไทยสมัยหนึ่งรู้จักกันดีคือ เด็กวัด

สมัยนี้ “อารามิกชน” ควรจะหมายถึงข้าราชการและหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์อันถูกต้องและชอบธรรมของคณะสงฆ์ ของวัด และของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นกำลังของแผ่นดินในอันที่จะอำนวยประโยชน์และความสุขแก่มหาชนตลอดจนถึงชาวโลกทั้งมวลสืบไป

กิจหลายอย่างภิกษุทำเองไม่ได้เพราะมีวินัยห้ามไว้ เช่น การรับเงิน เก็บเงิน การซื้อของ การขับยานพาหนะ เป็นต้น คฤหัสถ์ที่มีกุศลจิตประสงค์จะสงเคราะห์ภิกษุให้ไม่ต้องอาบัติเพราะทำกิจที่ผิดวินัย และเพื่อให้ภิกษุได้รับความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ จึงอาสาเข้าไปทำกิจนั้น ๆ แทนภิกษุ บุคคลเช่นนี้แหละเรียกว่า ไวยาวัจกร กัปปิยการก และ อารามิกชน

การรับใช้ช่วยพระไม่ให้ต้องอาบัติเพราะไปทำกิจที่ผิดสมณวิสัยเช่นนี้แหละ เรียกว่าทำบุญไวยาวัจมัย

ผมขอเชิญชวนให้ชาวเราหันมาสนใจทำบุญแบบนี้กันบ้างครับ..

Leave a Reply