“ปลัดเก่ง” เข้าวัดถวายความรู้แด่ “คณะสงฆ์ธรรมยุต” ย้ำเร่งผลักดันโรงเรียนสังกัดอปท.7,849 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ร่วม“สร้าง DNA” ชาวพุทธที่ดี

วันที่  25 ธ.ค. 66  เวลา 13.30 น. ที่วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร แขวงบางจาก เขตพระโขนง กทม. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้ หัวข้อ “ภารกิจกระทรวงมหาดไทยด้านพระพุทธศาสนา” ในการประชุมเจ้าคณะจังหวัดคณะธรรมยุตประชุมสัญจรกับคณะอนุกรรมการคณะธรรมยุต ครั้งที่ 1/2566 โดยได้รับเมตตาจากสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการคณะธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เป็นประธานในพิธี โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขาธิการคณะธรรมยุต วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ เจ้าคณะภาค (ธ) เจ้าคณะจังหวัด (ธ) พระสังฆาธิการ พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร คณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความเมตตาของคณะสงฆ์ที่วันนี้ได้ให้โอกาสสนองงานเป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้ หัวข้อ “ภารกิจกระทรวงมหาดไทยด้านพระพุทธศาสนา” เพราะชาติบ้านเมืองของเราอยู่ได้ด้วยคณะสงฆ์ พระสงฆ์ผู้เป็นบวร นำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาช่วยอบรมกล่อมเกลาคนไทยตั้งแต่ในอดีต มุ่งหวังให้คนทุกคนเป็นคนดี ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ทำหน้าที่เป็นผู้คอยกล่อมเกลาให้บุคคลที่ทำงานรับใช้บ้านเมืองได้มีทศพิธราชธรรม เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้บ้านเมืองเราได้มีผู้ปกครองที่ดี ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการรวบรวมกำลังศรัทธาญาติโยมให้อยู่ในศีลในธรรม ทำให้มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้อภัย ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

“กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการอบรมกล่อมเกลาลูกหลานคนไทยผ่านกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า นับแต่อดีต รากฐานการศึกษา การอบรมสั่งสอน การเรียนรู้ ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า “โรงเรียน” ล้วนมีที่มาจาก “วัด” ทั้งสิ้น เมื่อความเจริญงอกงามของมนุษย์มาจากการศึกษา และเผื่อแผ่มาถึงญาติโยม เรียกได้ว่า พระสงฆ์ คือ ครู คลัง ช่าง หมอ เพราะประเทศไทยเรามีคณะสงฆ์ มีวัดเป็นแหล่งรวม “สรรพวิทยาการ” จึงทำให้เกิดสังคมพลเมืองที่มีคุณภาพ มีองค์ความรู้คู่คุณธรรม ขยายผลไปสู่การประกอบสัมมาอาชีพ ทำให้คนไทยและพุทธศาสนิกชนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นฆราวาสที่ดี ดูแลครอบครัว ชุมชน สังคม แต่ปัจจุบันสังคมเราให้ความสำคัญกับการทำงานด้วยความเมตตาของคณะสงฆ์ลดน้อยลงทว่ากระทรวงมหาดไทยยังคงตระหนักและเห็นความสำคัญของภาคีเครือข่าย “ผู้นำด้านศาสนา” โดยเฉพาะคณะสงฆ์ จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 3 โครงการสำคัญ คือ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ร่วมกับ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม 2) บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และ 3) โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่ หมู่บ้านศีลธรรม” ร่วมกับสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังผลักดันขับเคลื่อนให้โรงเรียนในสังกัด 7,849 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตลอดจนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้นำวิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาศีลธรรม โดยนำเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาแบบเบื้องต้น หรือพื้นฐาน มาทำให้ลูกหลานของเราได้มี “DNA” หรือพันธุกรรมของพุทธศาสนิกชนที่ดี เป็นคนดีมีหลักธรรมประจำใจ เกรงกลัวต่อบาป รวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำผลักดันให้เกิดขึ้นร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเราให้ความสำคัญเริ่มตั้งแต่ สร้าง “ครู ก ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” โดยในเดือนมกราคม 2567 ครู ก ทั่วทั้งประเทศ จะเข้ามาฝึกอบรม ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่งทั่วประเทศของกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา (ศอญ.) ซึ่งได้รวบรวมและจัดทำตำราหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยและมีครูผู้มีความรู้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นหลักชัย มาถ่ายทอดให้กับครู ก เพื่อขยายผลไปยังเยาวชนคนไทยได้มีความรู้ มีข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงต้องขอความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และคณะสงฆ์ ได้ให้คำแนะนำในการไปร่วมกันพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในบวรพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมถึงความรู้ที่สำคัญและจำเป็นกับการดำรงชีวิต ความกตัญญูกตเวที ที่เหมาะสมควบคู่กับวิชาศีลธรรม และพระคุณท่านทุกรูปในฐานะเจ้าคณะจังหวัดยังสามารถช่วยเป็นหลักชัยของจังหวัด หนุนเสริมระบบราชการที่ขาดแคลนครูบาอาจารย์หรือบุคลากรทางการศึกษาที่จะช่วยดูแลสั่งสอนอบรมลูกหลาน เพื่อจะได้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และฝ่ายบ้านเมือง ให้มีองค์ความรู้และมีแรงบันดาลใจหนุนเสริมทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

“หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้านพระพุทธศาสนา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หน้าที่ของคนมหาดไทยกับคณะสงฆ์ คือ การเป็นผู้นำของข้าราชการในทุกพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 8 หมื่นกว่าหมู่บ้าน ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ผู้นำนโยบายของรัฐบาลไปสู่พื้นที่ ร่วมกันกับคณะสงฆ์ดูแลพี่น้องประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ดังพันธกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย ได้พระราชทานค่านิยมนี้สืบทอดต่อกันมา โดยเริ่มตั้งแต่การมีบ้านเมืองสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะวัดเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่จะเป็นตัวอย่างการรักษาสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน รวมถึงการสนับสนุนการมีธนาคารขยะ เพื่อให้วัดเป็นต้นแบบของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของเรา เป็นวัด 5 ส ซึ่งต้องสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง รวมถึงห้องน้ำ ห้องสุขาของวัด ต้องมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ ดังนั้น เจ้าคณะจังหวัดทุกรูปจึงต้องเป็นผู้นำภาคศาสนาที่มีความสำคัญ ที่จะทำให้วัดทุกวัดเป็นต้นแบบ โดยรวบรวมหัวใจของพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์ทำให้วัดเป็นสถานที่ที่สะอาดสวยงาม เป็นโรงเรียน เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นสัปปายะ ที่ดึงดูดให้ผู้สนใจมาเที่ยวชมวัดอันเป็นสถานที่สำคัญที่จะหล่อหลอมหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การเป็นคนดีของสังคมในทุกมิติ” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางการทำงานให้สำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยการทำงานเป็นทีม สะท้อนว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องไม่ทำงานคนเดียว ต้องมีการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนตามแนวทาง “จังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” มีเป้าหมายเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทั้งการ “บูรณาการสรรพกำลัง” ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน และ “การบูรณาการงาน” เพราะงานทุกงาน งานของทุกกระทรวงในระดับพื้นที่ล้วนแต่เป็นงานของกระทรวงมหาดไทย ดังที่เราให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ไปขับเคลื่อนการค้นหาทุกปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นรายครัวเรือน ประมวลรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในระบบ ThaiQM จัดทำเป็นเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนแบบพุ่งเป้า และขอเน้นย้ำว่า “ความเมตตาของคณะสงฆ์ได้ช่วยสนับสนุนให้ผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ร่วมกับคณะสงฆ์ในรูปแบบ “หนึ่งตำบล หนึ่งพระสงฆ์” อันจะทำให้ภารกิจกระทรวงมหาดไทยด้านพระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมไทยกลับไปสู่สังคมแห่งความรักความสามัคคี สามารถพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี คนไทยทุกคนมีความสุข” ดังที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนวพระดำริให้กระทรวงมหาดไทย ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงทางอาหาร มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้นำภาคศาสนา คือ คณะสงฆ์เมตตาช่วยกันทำกับฝ่ายบ้านเมือง ส่งเสริมให้ฝ่ายศาสนาและฝ่ายบ้านเมืองเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ความสุขจะเกิดขึ้นกับสังคมอย่างยั่งยืน

Leave a Reply