นักวิชาการพระพุทธศาสนาต้องรู้ภาษาบาลี

โดย..พิศาฬเมธ  แช่มโสภา

ทำไม นักวิชาการพระพุทธศาสนาและชาวพุทธจึงต้องเรียนภาษาบาลี ?

เป็นคำถามที่ง่าย แต่ตอบยาก เพราะต้องอธิบายกันยาว คงจะต้องขอเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก และอาจมีหลายตอน เพราะในประเทศไทยตอนนี้ มีปัจจัยที่เป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนามากมาย ว่างๆ จะนำมาร่ายยาวให้ฟัง..

ขอเล่านำร่องก่อนว่า การเรียนการสอนภาษาบาลีในประเทศไทย ถือว่ามี “มาตรฐานที่สุดในโลก” แห่งหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งนักธรรมและธรรมศึกษาด้วย

เพราะอะไรจึงเรียกว่า มีมาตรฐานที่สุดในโลก ?

เพราะมีหลักสูตรกำหนดไว้ว่า แต่ละชั้นจะต้องเรียนวิชาใดบ้าง ผู้สอนก็สอนไปตามที่กำหนด ผู้ออกข้อสอบ เรียกว่า “แม่กองธรรม หรือ แม่กองบาลี” ก็ออกตามมติผู้บริหารสำนักงาน ผู้จัดทำเฉลยข้อสอบก็จัดทำแล้วมาขัดเกลาอีกครั้งโดยคณะกรรมการ ผู้ตรวจข้อสอบก็ตรวจตามที่เฉลยไว้

ทั้งผู้สอน ผู้ออกข้อสอบ ผู้เฉลย ผู้ตรวจ ไม่ใช่รูปเดียวกันเลย !

การสอบนักธรรมและบาลีจึงเรียกว่า หินพอสมควรตามลำดับชั้น

โดยเฉพาะชั้น ป.ธ. ๘ – ๙ และ บศ. ๘ – ๙ แม้อาจตอบได้ ไม่ผิด.. แต่งฉันท์ แต่งไทย ได้.. ไม่ผิด..

แต่อาจตกได้  โดยเรียกว่า “ภูมิไม่ถึง” ตรงนี้ เป็นเรื่องเสียวสำหรับผู้สอบมากๆ

แต่เวลามาสอบได้แล้ว มาตรวจบ้าง จึงจะเข้าใจคำว่า “ภูมิไม่ถึง” เพราะมันมีอะไรบางอย่างที่บอก ถ้าไม่ได้ตรวจแล้วไม่รู้จริงๆ

จึงมีสโลแกนสำหรับผู้สอบบาลีว่า “ถ้ายากคงไม่มีใครสอบได้ ถ้าง่ายคงไม่มีใครสอบตก”

ที่ขีด /บาลีศึกษา ไว้ ก็เพราะว่า กองบาลีสนามหลวงได้อนุญาตให้ฆราวาสที่เรียนบาลีเข้าสอบสนามหลวง พร้อมกับพระเณรด้วย นับว่าเป็นเรื่องดีที่ชาวพุทธที่เรียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้จารึกพระไตรปิฎก จะได้มีการเรียนการสอนและการสอบร่วมกัน

มีผู้ร่วมดีใจเมื่อสอบได้ มีผู้ร่วมปลอบใจเมื่อสอบตก

ทราบว่า ได้มีการเปิดโอกาสให้ฆราวาสที่ลาสิกขาไปแล้ว ผู้ใดประสงค์จะลงสอบต่อจากที่สอบได้ไว้เดิม ก็สามรถสอบต่อได้ แต่ต้องไปเริ่มสอบใหม่ ตั้งแต่ประโยค ๑ – ๒ มาเลย แม้ว่าก่อนลาสิกขา ท่านสอบได้ ป.ธ. ๕ แต่มาสอบบาลีศึกษาในสภาพฆราวาส แทนที่จะสอบ บศ. ๖ ได้เลย กลับต้องไปสอบใหม่หมด

ตรงนี้ น่าเสียดาย เพราะผู้สอบ ป.ธ. ๕ ได้แล้ว ความรู้ทางธรรมจะแน่นกว่าผู้เรียนบาลีศึกษา เพราะตอนเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาจะแตกต่างกัน ขอนำเรียนแม่กองบาลีสนามหลวงก่อน แล้วจะนำมาอธิบายให้ฟัง

บางท่านก็ยอมไปสอบเริ่มต้นใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง..

ถือเป็นการมาเคาะสนิมและร่วมกันอนุรักษ์การศึกษาภาษาบาลีให้คงอยู่ต่อไปอีก

ทราบว่า พระพรหมโมลี แม่กองบาลีสนามหลวง ได้มีแนวคิดที่จะให้มีการพูดภาษาบาลีกันบ้าง ในเวลาเรียน ให้ครบกระบวนการเรียนการสอน คือ อ่าน เขียน พูด และฟัง ตามหลักการของภาษาศาสตร์

คงต้องติดตามกันต่อไป..

 

////////////////////////////////////////////////

 

Leave a Reply