วันที่ 28 มิถุนายน 2568 ที่ลานพุทธมณฑล จ.นครปฐม พระธรรมวชิรสุนทร เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี รก.ประธานหมู่บ้านรักษาศีล 5 พระธรรมวชิราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดตากฟ้า จ.นครสวรรค์ พระราชมหาเจติยาภิบาล รก.เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ จ.ปทุมธานี พร้อมคณะเดินทางลงไปสำรวจพื้นที่ พร้อมให้กำลังใจคณะทำงานหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยมี นายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถวายการต้นรับ
สำหรับกิจกรรม “สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” สืบสานพระราชปณิธานในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จะจัดระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2568 ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยการผนวกโครงการที่ขับเคลื่อนกิจการของคณะสงฆ์ 8 เครือข่าย ประกอบด้วย 1.โครงการทุนระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 2.โครงการกองทุนศึกษาบาลี 3.โครงการอบรมพระนักเทศน์พระธรรมกถิกาจารย์ 4. โครงการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์พระคณาจารย์ด้านกรรมฐาน 5.โครงการพระธรรมจาริก 6.โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 7.โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และ 8. หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อปต.
โดยภายในงาน “สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ในครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ กิจกรรมเทศนาธรรมสี่ภาคสี่ภาษา เทศนาปุจฉาวิสัชนา 2 ธรรมาสน์ นิทรรศการแสดงผลงานของหน่วยงานคณะสงฆ์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เวทีเสวนาของผลผลิตทุนเล่าเรียนหลวงการประกวดเขียนบทความทางวิชาการทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรมสี่ภาค พิธีมอบโล่แก่ผู้มีผลงานดีเด่น และพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ลานองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
สำหรับโครงการกองทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย มีปฐมเหตุความเป็นมาว่า “พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและทรงเป็นพุทธมามกะทรงทำนุบำรุงอุปถัมป์พระพุทธศาสนาให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน โดยทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยตลอด” ในมหามงคลวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง “โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ขึ้น และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนปฐมฤกษ์ เพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณรให้มีโอกาสศึกษาพุทธศาสนาขั้นสูงที่ลึกซึ้งแตกฉานจากสถาบันพุทธศาสนาในประเทศ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และกองบาลีสนามหลวง รวมทั้งจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักทางจิตใจของประชาชน สร้างความร่มเย็นในสังคมด้วยหลักพุทธธรรมที่ถูกต้อง ครั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอุปถัมภ์ค้ำจุนรักษาพระพุทธศาสนาให้เกิดความยั่งยืน ทรงเอาพระราชหฤหัยสืบสาน รักษา และต่อยอด “โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ตามโครงการที่มีมาแล้วแต่ต้นและโครงการฯ ได้มีนโยบายสนับสนุนในโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อันมีส่วนช่วยให้ระบบการศึกษาของพระสงฆ์ไทยตลอดจนการเผยแผ่พุทธธรรมเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นในอนาคต
Leave a Reply