“ชูศักดิ์” มอบโยบาย “พศ.” 8 ข้อ เน้น “คุ้มครองพุทธ -แก้ปัญหาที่ดินวัด”

วันที่  31 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เดินทางมาเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมคณะ ประกอบด้วย ดร.นิยม เวชกามา อดีตส.ส.จังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย  และ คณะที่ปรึกษา  โดยมี นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัด 76 จังหวัด  พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ คอยต้อนรับ

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ได้กล่าวรายงานโดยสรุปถึงพันธกิจ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า  สำนักงานพระพทุธศาสนาแห่งชาติมีพันธกิจ สำคัญ 5 ประการคือ  หนึ่ง เสริมสร้างให้สถาบันและกิจการทางพระพุทธศาสนามีความมั่นคงและยั่งยืน สอง ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาสงฆ์และเการเผยแผ่ สาม การจัดการศึกษาคณะสงฆ์เพื่อผลิตศาสนทายาท สี่ พัฒนาพุทธมนฑลให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก และ ห้า  จัดการศาสนสมบัติกลาง  พร้อมกับกล่าวถึงงบประมาณประจำปีพุทธศักราชที่ได้รับจำนวน 5,466 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบอุดหนุนกิจการคณะสงห์ตามภารกิจ 6 ด้าน ในขณะที่คณะสงฆ์ปัจจุบันมีทั้งหมด 273,298 รูป จำนวนวัดแบ่งเป็นมหานิกาย 38,934 วัด ธรรมยุติกนิกาย 4,588 วัด จีนนิกาย 16 วัด อนัมนิกาย 25 วัด ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายอาทิ โครงการคิลานุปัฎฐาก ฐานข้อมูลพระภิกษุสงฆ์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในวัดตามโครงการอารามภิรมย์ เป็นต้น

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล  ได้กล่าวตอบและพร้อมมอบนโยบายว่า  การกำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถือว่าเป็นบุญของเรา เพราะได้ใกล้ชิดกับคนที่ทำงานด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกับพระสงฆ์ ตอนแรกคิดว่าการได้ทำงานตรงนี้คิดว่าจะสบาย ร่มเย็น วันแรกที่เข้ามาทำเนียบเจอเรื่องร้อนเลยคือ เรื่องดิไอคอน ที่พระท่านไปเทศน์แล้วเป็นประเด็น ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านไปแล้ว  ซึ่งก่อนจะพูดถึงโยบาย ขอให้ดูรัฐธรรมนูญ มตรา 67 ที่ระบุไว้ว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีกาฟรบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรานี้แหละเป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายสำคัญในการคุ้มครองและอุปภัมถ์พระพุทธศาสนา

“สำหรับนโยบายสำคัญ เรื่องแรก  ที่อยากจะพูดถึง คือผมมีความรู้สึกว่า การทำลายพระพุทธศาสนามิได้เกิดจากบุคคลภายนอก แต่เกิดจากบุคคลภายในของเรา ตรงนี้อยากให้สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ  ทำอย่างไร จึงจะป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อพระพุทธศาสนาของเราในภาพรวม เรื่องที่สอง ปัญหาที่ดินวัด ปัญหานี้สำผัสได้ตั้งแต่เป็น ส.ส.แล้ว ปัญหาที่ดินวัดทับซ้อน เช่น ทับพื้นที่ป่า สปก. ที่ดินสาธารณะ ที่ดินกระทรวงทรัพย์  การแก้ปัญหาทีละวัดไม่จบ จึงคิดว่า ควรตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีตนเป็นประธาน ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เชิญมาทุกหน่วยงานมาเป็นคณะกรรมการ เช่น กรมที่ดิน กระทรวงทรัพย์ กระทรวงเกษตร  คิดว่าหากทำได้แบบนี้จะแก้ได้ทั้งระบบ  ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีต้องลงนามแต่งตั้ง นโยบายที่สาม แนวทางการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา การดูแลบูรณะวัด เรื่องนี้ของฝากสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติว่า จำต้องมีระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ อย่าใช้ดุลพินิจส่วนตัว เพราะมันจะถูกตั้งคำถาม  หากจำเป็นต้องรื้อระเบียบก็ต้องทำ  นโยบายที่สี่  เรื่องสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาชนตรงนี้อยากให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการให้เป็นประโยชน์กับประชาชนจริง ๆ อันนี้ส่วนแรก ส่วนที่ 2 อันต้องดูกฎกติกาว่ามันจะต้องแก้ไขอย่างไร เรื่องบวช ประเพณีให้มันได้ประโยชน์จริง ลดเลิกสิ่งที่ไม่มีสาระ ให้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เรื่องที่ห้า การปรับโครงสร้างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เดียวเราก็คงต้องมาดูกันว่าจะปรับโครงสร้างอะไรบ้าง เรื่องที่หก เรื่องศาสนสมบัติ เรื่องให้วัดเป็นศูนย์กลางชุมชนอย่างแท้จริง ทำอย่างไรให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่พึ่งของชุมชน เรื่องที่เจ็ด องค์พระประธานพุทธมณฑล อันนี้ต้องบูรณะโดยเฉพาะฐานพระประธานที่มีรอยร้าว ซึ่งเท่าที่ทราบกรมศิลป์มาดูเรียบร้อยแล้ว เรื่องที่ 8 เป็นนโยบายของรัฐบาล เลย คือ การบูรณาการการทำงานร่วมกัน การใช้ระบบไอที การทำงานทะเบียนของพระสงฆ์ สรุปใจความสำคัญที่ต้องเป็นนโยบาย เน้น คือ การคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขที่ดินวัด  และการสร้างกฎระเบียบกติกาการอุปถัมภ์ ดูแลวัด บูรณะพระอาราม ให้มีความเหมาะสม.. ”

Leave a Reply