เรื่องเล่า!! เที่ยวงาน “กองทุนเล่าเรียนหลวง”

“ผู้เขียน” ตั้งใจว่าจะไปเที่ยว ชม ชิม ช๊อบ คุย งาน “สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ระหว่างวันที่ 2 -4 กรกฏาคม 2568 ที่พุทธมณฑล ทุกวัน เพราะงานนี้ถือว่าเป็นงานครั้งประวัติศาสตร์ที่คณะสงฆ์ไทยนำโดย “พระพรหมบัณฑิต” ในฐานะประธานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม จัดขึ้นโดยร่วมกับภาคีเครือข่าย 8 เครือข่าย ทำเนียบองคมนตรี หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนหลายองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกัน ภายในงานมีโรงทานอาหารฟรี กินได้ตลอด พื้นที่กว้างขวาง สมกับเป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” 

“ผู้เขียน” เจอพระพรหมบัณฑิต คำถามแรกท่านถามว่า มีพระมอญได้รับทุนมาร่วมด้วยหรือเปล่า ซึ่งท่านรู้ว่าผู้เขียนเป็นมอญ และสนับสนุนพระสงฆ์มอญมาต่อเนื่อง และทั้งได้รับเมตตาจากท่านให้พระมอญและคฤหัสถ์มาร่วมงานวิสาขบูชาทุกปี

“ผู้เขียน” เข้าไปกราบ “พระพรหมเสนาบดี” ซึ่งถือว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่ไม่เคย “ทอดทิ้ง”  งานสำคัญระดับนี้ มาให้ทั้งกำลังใจและกำลังทรัพย์สนับสนุนโครงการแบบนี้เกือบทุกงาน ถาม “พระพรหมเสนาบดี” ถึงกันปฎิบัติธรรมที่ท่านไป “ปิดวาจา” ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ท่านก็เล่าว่า หากไม่ติดงานนี้ อยากไปอีก เพราะสุขแท้!!

“ผู้เขียน” ฟัง “สมเด็จชิน” สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เล่าเรื่อง โครงการวัดประชารัฐสร้างสุข ว่าเป็นมาอย่างไร มีเป้าหมายอะไรบ้าง ได้นิดหน่อย กราบ “พระเทพปวรเมธี” รองเจ้าคณะภาค 15 แจ้งว่าจะขอไปดูอีกเวทีคือ “เวที อ.ป.ต.” หรือ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เจอ “เจ้าคุณวีรพล” พระสุธีวชิรปฏิภาณ ในฐานะเลขา โดยมี “พระมหาอดิศักดิ์  อภิปญฺโญ” เจ้าอาวาสวัดบรมสถลหรือวัดดอนยานนาวา คอยเป็นลูกมือ ทักทายกันได้นิดหน่อย ฟัง “เจ้าคุณพล” พระธรรมวชิโรดม เจ้าคณะภาค 6 กำลังบรรยายแนวทางการสืบสาน ต่อยอด พัฒนา บูรณาการ และข้อเสนอแนะ การดำเนินการหน่วยงานอบรมประชาชนประจำตำบล มีพระคุณเจ้าเดินทางมาทั่วประเทศ นั่งฟังการบรรยาย ด้านล่างเห็น “เจ้าคุณปัญญา” พระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมรับฟังอยู่ด้วย

“เจ้าคุณพล” ลงจากเวทีเล่าว่า ความจริงหน่วยงาน อ.ป.ต.นี้ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 โดย “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” วัดสามพระยา ที่ตั้งภารกิจไว้ 8 ประการ ซึ่งประกอบด้วย ศีลธรรมและวัฒนธรรม  สุขภาพอนามัย  สัมมาชีพ  สันติสุข  ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์  กตัญญูกตเวทิตาธรรม และข้อสุดท้ายคือ สามัคคีธรรม ทั้ง 8 นี้ของ อ.ป.ต. ครอบคลุมงานที่คณะสงฆ์ทำอยู่นี้เกือบทุกประการ

“ผู้เขียน” เดินไปดู “โดม” หมู่บ้านรักษาศีล 5  เจอ “พระธรรมวชิรสุนทร” รก.ประธานหมู่บ้านรักษาศีล 5 พร้อมกับคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 หลายรูป เช่น เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี รองเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี  รก.ประธานหมู่บ้านรักษาศีล 5  ขนการแสดงจาก “นาฏศิลป์ลพบุรี” มาแสดงโชว์ให้บนเวที ในซุ้มดูแลมีชีวิตชีวา ภายในโดมหมู่บ้านรักษาศีล 5 มีของดีจากหลายจังหวัดมาออกบุธ เช่น ทุเรียน ขนม สินค้าโอทอป มาออกบุธ  โดมหมู่บ้านรักษาศีล 5 ดูเหมือนคนเดินจับจ่ายพลุกพล่านมากที่สุด ไม่เหงา คุยกับ พระมหาวิเชียร ชาตวชิโร. ป.ธ.9”  มือทำงานของหมู่บ้านรักษาศีล 5 บอกว่าที่มาส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านดีเด่นที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านรักษาศีล 5 มาจากหลากหลายพื้นที่ หลายจังหวัด โดยคณะสงฆ์เลือกของดีมาแต่ละภาคมาร่วมออกบูท

“ผู้เขียน” หลังจากเดินชมโดมหมู่บ้านรักษา ไปต่อที่โดม “วัดประชารัฐสร้างสุข” เจอ “หลวงพี่อู๋”  พระมหานพพร ปุญฺญชโย ป.ธ.9  วัดพระธรรมกาย ผู้ปิดทองหลังพระของโครงการนี้ ท่านพาชมบูทต่าง ๆ  ของโครงการ “วัดประชารัฐสร้างสุข” เมื่อถามถึง “พระธรรมรัตนาภรณ์” ประธานโครงการ “วัดประชารัฐสร้างสุข” บอกว่าอยู่ที่ “หอประชุมใหญ่”  ภายในโดม “วัดประชารัฐสร้าง” สุข สะอาดตา มีซุ้มจาก “มอญลาดหลุมแก้ว” ปทุมธานี มาออกบุทด้วย ส่งเสียงทักทายด้วยภาษามอญ เสียดายกลายเป็น “มอญแปลง” พูดมอญไม่ได้กันแล้ว

ต่อจากนั้นเจอ “โดม อปต.” เห็นทีมงานของ “วัดดอนยานนาวา” กำลังให้เด็ก ๆ แข่งขันกันวาดรูป โดยมี “สิ่งล่อ” ข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรรมของ “องค์ม่อน” พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี  สำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นรางวัล เสียงเด็กเจี๊ยวจ๊าว ดูแล้วคลื้นเครงดี

“เจ้าคุณขวัญ” พระศรีสุทธิเวที ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์บาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ซึ่งเป็น “พระอาจารย์” ของผู้เขียนที่ “ชุบเลี้ยง” มาตั้งแต่เป็นสามเณรเดินมาทักแล้วชวนไปที่โดม “พระวิปัสสนาจารย์” ซึ่งท่านบอกว่าได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องวิปัสสนาจารย์ โดยกิจกรรมนอกจากปฎิบัติธรรมที่ “อาคารปฏิบัติธรรมโพธิญาณมหาวิชชาลัย” ซึ่งตอนนี้ทั้งโยมและพระภิกษุกำลังปฎิบัติธรรมอยู่ประมาณ 300 รูป/คนแล้ว จัดพระวิปัสสนาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับ “ทุนเล่าเรียนหลวง” มาบรรยายวิปัสสนาที่นี้ด้วย พร้อมบอกว่า พระวิปัสสนาจารย์ที่นี้เก่งเรื่อง “กรรมฐาน” และบางรูปเก่ง “ภาษาอังกฤษ” หลายรูปเดินทางไปบรรยายกรรมฐานให้ชาวต่างประเทศ และอีกหลายรูปสร้างวัดในต่างแดน “ชาวต่างชาติ” สนใจปฎิบัติกรรมฐานกันมาก

“ผู้เขียน” ตั้งใจจะไปชมโดมของ “พระธรรมจาริก -พระนักเทศน์” รวมทั้งโครงการที่เหลือ  ดูเวลาแล้วไม่น่าจะพอเดินทางไปหอประชุมใหญ่ เห็นน้องสามเณรจาก “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” ประมาณ 60 รูป กำลังสวดมนต์และท่องบาลีด้วย “ภาษาอังกฤษ” ดูแล้ว “น่าชื่นใจ” ถามน้อง ๆสามเณรมาจากไหนกันบ้าง บางรูปมาจากโคราช บางรูปมาจากสระบุรี บางรูปมาจากกาญจนบุรี  มองไปบนเวทีเห็นป้ายขึ้นมา”บาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” แห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 100 ล้านบาท เห็นแล้วอุ่นใน สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยทอดทิ้งคณะสงฆ์ ทรงตั้งอยู่ในธรรม ตลอดต่อเนื่อง ก่อนกลับเห็น “เจ้าคุณประสาร” พระเทพวัชสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร ร่วมกับ นิสิตจาก มจร มมร และนักเรียนบาลี ที่ได้รับทุนจากในหลวงกำลังเสวนา “จากรุ่นสู่รุ่น:พระมหากรุณาธิคุณและสายธารแห่งทุนเล่าเรียนหลวง” ซึ่งทุกรูปเท่าที่ฟังก็สำนึกใน “พระมหากรุณาธิคุณ” ที่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง จนทำให้มีทุกวันนี้

“ผู้เขียน” สังเกตงานนี้ถือว่าเป็น “ประวัติศาสตร์” ของคณะสงฆ์ไทย  มี “องคมนตรี” มาร่วมงานทุกวัน มีเจ้าหน้าที่สำนักงานพระราชวัง ทำเนียบองคมนตรี หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน สนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากเป็นงานที่อยู่ใน “พระบรมราชานุญาต” เพื่อเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ซึ่งสำเร็จการศึกษาแล้วหรืออยู่ระหว่างรับทุนได้เผยแพร่ผลงานด้านการศึกษา การปฎิบัติ และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอันเป็นผลสำเร็จของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย  ถือว่าเป็น “เวที” ย่อมให้คณะสงฆ์และพระภิกษุได้แสดงฝีมือและบทบาท..ส่วนผลพลอยได้คือ ทำให้คณะสงฆ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จับมือกันทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา และสังคมประเทศชาติ

ความจริงช่วงบ่ายนี้ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ในฐานะ ประธานหน่วยอบรมประชาชนจะเดินทางมามอบโล่รางวัลให้แก่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พระธรรมจาริก ด้วย แต่ผู้เขียนขอกลับก่อน พรุ่งนี้ว่ากันใหม่..

Leave a Reply