ปลัดกระทรวงมหาดไทย เชิญชวนร่วมกิจกรรมวันดินโลก’65 ที่วัดป่าศรีแสงธรรมอุบลฯ ย้ำจะคืนให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินทองสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 16.00 น. ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงแนวทางการจัดกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทยในปี 2565 นี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การสร้างการรับรู้เรื่องวันดินโลกแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน และจิตสำนึกในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการรณรงค์ นิทรรศการ สื่อประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งจะปรากฏตราสัญลักษณ์ของวันดินโลก และตราสัญลักษณ์ ธีม หรือหัวข้อการจัดงานในปีนี้ ของ FAO คือ อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins) เพราะกระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจที่จะนำรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award 2022 (ประจำปี 2565) มาสู่ดินแดนมาตุภูมิ หรือกลับคืนสู่ผืนแผ่นดินไทย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร พระผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งดินโลก” จึงขอเชิญชวนทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างความตระหนักในความสำคัญของวันดินโลก ไม่ใช่เพียงแค่วันที่ 5 ธ.ค. 65 ที่จะถึงนี้เท่านั้น เเต่ขอให้เกิดความตระหนักถึงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อช่วยกันสืบสาน รักษา ต่อยอดสิ่งดี ๆ สร้างเป็นวิถีชีวิต ( Way of Life) ในการร่วมกันดูแลทรัพยากร และขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนให้ทุกการปฏิบัติงาน ทุกความมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันดินโลกของพี่น้องทั้งหลาย ของทุกหน่วยงานภาคีภาคส่วนต่างๆ สามารถวางแผนสื่อสารการดำเนินการร่วมกันในภาพรวมของความร่วมมือกันทั่วประเทศ ทุกจังหวัด เพื่อนำรางวัล King Bhumiphol World Soil Day Award อันมีคุณค่า กลับมาเป็นความภาคภูมิใจให้กับพวกเรา และแผ่นดินไทยของเรา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ Global Soil Partnership หรือ GSP ครั้งที่ 6 ได้มีการรับรองการจัดตั้งรางวัล King Bhumibol World Soil Day ประจำปี (WSDA) เพื่อเป็นเครื่องมือยกย่องบุคคล และ / หรือ สถาบันที่พยายามจัดงานเฉลิมฉลองที่ประสบความสำเร็จตามกรอบการรณรงค์วันดินโลกของ โดยวัตถุประสงค์ของ WSDA คือ การสนับสนุนผู้จัดงานวันดินโลก (WSD) ในทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเฉลิมฉลองที่ท้าทายและโดดเด่นทั่วโลก รางวัลนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแชมป์ในการก่อตั้งวันดินโลกอันโด่งดังในขณะนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตัดสินใจในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลกอย่างเป็นทางการ เพื่อรับทราบถึงการทรงงานตลอดพระชนม์ชีพและพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านผ่านการจัดการดินอย่างยั่งยืน ซึ่งรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล และเช็คมูลค่า 15,000 เหรียญสหรัฐ
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า เราต้องเข้าใจก่อนว่า ร้อยละ 95 ของอาหารที่พวกเราทุกคนบนโลกนี้รับประทานกันอยู่ มีต้นกำเนิดมากจากดิน และจากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ปริมาณวิตามินและสารอาหารในพืชผัก ผลไม้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่งผลถึงสุขภาพของร่างกายและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุกคน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและการชะล้างพังทลายของดิน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2534 ความว่า “…การปรับปรุงบำรุงดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน…” และทรงพระราชทาน “หลักคิด” ที่ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสอนให้คนได้เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลบนทางสายกลางในระบบของโลกระหว่าง มนุษย์ สรรพสัตว์ สิ่งแวดล้อมและนิเวศวัฒนธรรม “หลักทฤษฎี” ที่เน้นการใช้ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ ด้วย “วิธีปฏิบัติ” ที่ธรรมดา ๆ ชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปทำต่อได้ เช่น การห่มดิน การปลูกหญ้าแฝก กำแพงที่มีชีวิต เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อช่วยรักษาดิน และใช้ความอุดมสมบูรณ์ของดิน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่พี่น้องประชาชน ผ่านโครงการพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ ให้สมาชิกของสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science: IUSS) ทั่วโลก ได้ประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ของพระองค์
“”ดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการ เกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อ ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มนุษย์ใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นตัวกรองและทำน้ำให้สะอาด เป็นรากฐานของสิ่งมีชีวิต เปรียบเสมือนผิวหนังที่มีชีวิตของโลก ช่วยผลิตอาหารให้คนทั้งโลก เพราะมี แร่ธาตุ อากาศ และอินทรีย์วัตถุ ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่สมบูรณ์ บำรุงต้นกล้าให้เจริญเติบโต เพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร นำไปเลี้ยงคนทั้งโลก และผลผลิตทางการเกษตร เป็นรายได้หลัก หนึ่งของประเทศ เป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย “คืนดินดีให้ผืนแผ่นดินไทย สร้างสรรค์ความสมดุลธรรมชาติ และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้เป็นแผ่นดินทอง” ซึ่งในการจัดงานวันดินโลกในปี 2565 นี้ ประเทศสมาชิกองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เห็นพ้องร่วมกันให้กำหนดหัวข้อการจัดงานในชื่อ Soils, where food begins ซึ่งเน้นความสำคัญของการสร้างสุขภาพดินที่ดี นำไปสู่ความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามมา ภายใต้แนวคิด One Health ซึ่งหมายถึง การพัฒนาสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ภายใต้เป้าหมาย การพัฒนาความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 4 ด้าน หรือ Four better ประกอบด้วย Better Production (การผลิตที่ดี) Better Nutrition (โภชนาการที่ดี) Better Environment (สิ่งแวดล้อมที่ดี) Better Life (ชีวิตที่ดี)” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาถ่ายทอดสู่พี่น้องประชาชน โดยการ “พัฒนาคน” เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ เป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งความสำเร็จที่ผ่านก็ได้เห็นเชิงประจักษ์แล้วว่า การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่โคก หนอง นา ที่ช่วยพลิกฟื้นชีวิต ฟื้นความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ดิน โดยใช้หลักธรรมชาติ ทั้งการเลี้ยงดินเพื่อให้ดินเลี้ยงพืช การห่มดิน การเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์จากโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน การส่งเสริมการปลูกพืชปลูกผักสร้างความมั่นคงทางอาหาร การปลูกป่าสามอย่างเพื่อประโยชน์สี่อย่าง การปลูกหญ้าแฝก การสร้างคันนาทองคำ การลดปริมาณการใช้สารเคมีในการผลิตผ้าทอ ผ้าฝ้าย ผ้าใยสับปะรด ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กระทรวงมหาดไทย ได้นำองค์ความรู้ไปเผยแพร่ให้กับคนในชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาและสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างสังคมและชุมชนอารยะ หรือที่เรียกว่า Change for Good ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับภูมิสังคมของประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา
“ความท้าทายที่สำคัญ คือ ภายใต้กลไกการทำงานของกระทรวงมหาดไทย เราจะสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้ทั่วทั้งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของดินได้หรือไม่ ซึ่งที่มาประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้ก่อตั้งรางวัลวันดินโลกเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดความอุดสมบูรณ์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) และการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs ซึ่งการจัดกิจกรรมวันดินโลกในวันพรุ่งนี้ 2 ธ.ค. 65 ตั้งแต่ 07.30 – 12.00 น. ที่วัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จะมีการจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ “วันดินโลก” และมีการประกาศเจตนารมณ์ เพื่อให้เกิดการรับรู้และการสร้างความตระหนักดรู้เกี่ยวกับความสำคัญของดิน และมีกิจกรรมWorkshop เพื่อสร้างการเรียนรู้ใน 4 ด้าน คือ การผลิตที่ดีขึ้น (Better Production) การมีโภชนาการที่ดีขึ้น (Better Nutrition) การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (Better Environment) และ การมีชีวิตที่ดีขึ้น (Better Life) หากท่านใดสนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมก็ขอเรียนเชิญโดยช่วงเวลาในการรับลงทะเบียนจะเริ่มตั้งแต่ 07.30 – 08.30 น. หรือสามารถรับชมผ่าน Facebook Live ได้ที่ Facebook กระทรวงมหาดไทย PR ซึ่งมีกำหนดจัดงาน 7 วันต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์แห่งการสร้างความตระหนัก (Awareness Week) ตั้งแต่ 2-8 ธันวาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 7 อำเภอ ได้แก่ 2 ธ.ค. จะเป็นกิจกรรมการ Kick-off ณ วัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ที่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 3 ธ.ค. ที่ศูนย์ศึกษาเเละพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี 4 ธ.ค. ที่อำเภอทุ่งศรีอุดม 5 ธ.ค. ที่อำเภอกุดข้าวปุ้น 6 ธ.ค. ที่อำเภอน้ำยืน 7 ธ.ค. ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร และ 8 ธ.ค. ที่อำเภอโขงเจียม และจะมีการจัดกิจกรรมพร้อมกันทั้งประเทศในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดเจน ในวันที่ 5 ธ.ค. 65 นี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชนทุกท่าน และทุกภาคีเครือข่าย จะเข้ามาร่วมขยายผลการสร้างตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ทำให้แนวคิด “คืนแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทอง” เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นมรดกไปสู่รุ่นลูกหลานของเรา มนุษยชาติ และเพื่อโลกใบเดียวของเรา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
Leave a Reply