“เจ้าคุณพิพิธ” ออกโรงเตือนสติ “อย่าให้สีจีวร เป็นอัปมงคลในวงการคณะสงฆ์” (คลิป)

วันที่ 17 ก.ค. 65  พระเทพปฏิภาณวาที หรือ “เจ้าคุณพิพิธฯ” วัดสุทัศนเทพวรารามได้ออกคลิปเตือนสติ พระทะเลาะกันเรื่อง “สีจีวร”สะท้อนอะไร?? ความยาวประมาณ 52.23 นาที เว็บไซต์ข่าว “Thebuddh” ได้ถอดคลิปไว้บางช่วงบางตอนไว้ดังนี้

@อย่าทะเลาะกันเรื่องสีจีวร ระยะนี้เราคงได้ยินข่าวมาเรื่อยๆ เรื่องการใช้สีจีวรของพระสงฆ์ การใช้จีวรของพระสงฆ์ หรือผ้าไตรจีวรของพระสงฆ์นี้ ก็เป็นปัญหามาเยอะแยะแล้ว และก็จะกลายเป็นปัญหา ปัจจุบันนี้ เรื่องวิธีการครองจีวร เรื่องสีของผ้า ผ้าไตรก็แล้วกัน ก็กลายเป็นปัญหา แค่ปัญหาขี้หมาขี้แมว เอามาทะเลาะกันทำไม

ใครฟังคลิปนี้แล้วช่วยส่งๆ กันต่อไปหน่อยสิ  ไม่มีอะไรจะทำกันหรือไง ธรรมะธัมโม ไม่ได้เผยแผ่กันหรือไง เรื่องความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา โดยการไม่เผยแผ่กัน มันก็ถูกรุกด้วยการเผยแผ่ของศาสนาอื่น แล้วก็มาตีโพยตีพาย อย่างนั้นอย่างนี้ โอกาสเราดีกว่าเขาเยอะ แล้วสุดท้ายมาทะเลาะกันเรื่องสีจีวร มาทะเลาะกันเรื่องครองจีวร

@ฟังเกร็ดประวัติจีวร•

อาตมาจะเล่าเกร็ดประวัติให้ฟัง การครองจีวรมาแต่เดิม ก็มีการครองจีวรแบบอยู่ในวัด ก็นุ่งสบง ใส่อังสะตัวเดียว  อังสะก็คือผ้าเฉียงบ่า ต่อมา จึงมีอังสะลังกา แบบที่มีกระดุมติดข้างซ้าย แต่เดี๋ยวนี้ธรรมกายก็มาติดข้างขวา ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ก็ได้เหมือนกันแหละ อาจจะเพราะการครองจีวรแบบห่มดองพอรัดอกแล้ว  ไม่ต้องการให้เห็นซี่โครงพระ  ถ้าเป็นผ้าอังสะแบบเฉวียงบ่า ก็นิยมที่จะทำผ้าสำหรับผูกไว้ที่ชายโครง เพราะห่มแล้วจะได้ไม่เห็นชายโครงอ้วนผอม ผอมไม่เห็นชายโครง อ้วนไม่เห็นไขมันก็แล้วกัน

@ห่มสะพายควาย•

แต่เดิมอยู่ในวัด ห่มแบบพลุบพลับ ๆ เขาเรียกสะพายควาย สะพายควาย คือ รวบชายจีวรสองข้าง เอาข้างหลังมาพาดที่บ่า เอาข้างหน้าพับไป เอารักแร้หนีบ นี่เขาเรียก “สะพายควาย” เพราะว่าห่มแบบฉับพลันทันด่วน

แต่ว่า สะพายควายหรือพาดควายนี่ก็เป็นคำเยาะเย้ยพระที่ขี้เกียจ ขี้เกียจบิดจีวร เหมือนเอาผ้าไปพาดควาย พูดกันอย่างงี้เลย  แต่บางทีก็ต้องเห็นใจพระที่สูงอายุเหมือนกัน เพราะสมัยก่อน โยมมาแต่ละทีก็ไม่ได้นัดหมาย พระท่านก็หยิบผ้ามาแล้วรวบชายผ้าสองข้าง เอารักแร้ข้างขวา ดึงชายผ้าข้างซ้าย มาแล้วก็เอาข้างขวาปิด แล้วก็หนีบเหน็บไว้ที่รักแร้  ก็นั่งคุยกันตามสบาย

@การม้วนลูกบวบครองจีวร•

ในการครองจีวรแบบเดิม คือ การม้วนลูกบวบ  ต้องเข้าใจว่า ที่กลม ๆ นะ คือจีวรที่เหลือเขาเรียก ลูกบวบ เขาเรียกว่าอย่างนั้น  ม้วนเข้า ทำไมจึงม้วนเข้า ก็ต้องหาเหตุผลให้ได้  ไม่ใช่หาเหตุผลไม่ได้แล้วมาพูดกันเฉยๆ ไม่ใช่ข้างหลังมันตึง ไม่หย่อน ข้างหลังตึงข้างหน้าตึง แล้วปลายชายจีวร เดินสะบัดได้ก็แล้วกัน  สบงที่พระนุ่งก็เหมือนกัน บางรูปเอาไปเย็บเป็นผ้าถุง รู้ไหมนั่นคืออันตราย เวลาก้าวนี่มันก้าวไม่ออก ตกน้ำตกท่าหรือวิ่งหนีสัตว์ป่า มันก้าวไม่ออก

@การนุ่งสบง•

การนุ่งสบง คือ เปิดหน้าผ้า ความจริงต้องดึงหน้าผ้ามาปิดหนึ่งครั้ง ถึงจะสลับซ้ายสลับขวา เครื่องแต่งตัวลิเกผู้หญิงเขาก็เอาแบบพระ เพื่อจะเตะชายผ้าให้ได้  มันต้องหนีสัตว์ร้าย น้ำท่วม อุทกภัย  ต้องทิ้งผ้า ควายไล่ขวิดอย่างงี้ ผ้าก็เป็นปัญหาเหมือนกัน

@การห่มมังกรพันแขน•

การครองจีวรออกจากวัด  เขาเรียกว่า “ห่มมังกรพันแขน”  ภาษาพระ เขาเรียก ห่มมังกรพันแขน ท่านดูก็แล้วกัน การห่มเฉวียงบ่านะ ม้วนไปทางไหน  ห่มมังกรพันแขนก็มีวิธีการห่ม ต้องศึกษา ถ้าห่มดี ๆ ห่มเป็น มันจะแน่น เดินทางทั้งวัน มันก็จะขยับนิดหน่อยเท่านั้นเอง  การห่มมังกรพันแขนเป็นวิธีห่มผ้าที่คิดกันมาตั้งแต่เดิม  แล้วก็มีความละเมียดละไม

@ห่มดองครองผ้ารัดอก•

เวลาไหว้พระสวดมนต์ ทำสังฆกรรม ก็มีการห่ม ที่เรียกว่า “การห่มดองรัดอกครองผ้ารัดอก”  ต่อมา เขาเรียก “ห่มดอง”  ทำไมถึงเรียกห่มดอง เพื่อที่จะได้เตรียมผ้าสังฆาฏิเอาไว้เป็นผ้าสำรอง ภายในพิธีสังฆกรรม เกิดผ้ามันขาด  ให้เอาผ้าสังฆาฏิเป็นผ้าสำรอง เตรียมเอาไว้  หรือ ถ้าภิกษุรูปใดมีปัญหาเรื่องจีวร ให้เอาผ้านี้ไปช่วยเขา  จำเอาไว้ด้วย  ไม่ใช่เอาไปพาดบ่ากันเฉยๆ ต้องเข้าใจเหตุผลพระพุทธเจ้าด้วย ว่าเป็นผ้าสำรอง เพื่อสงเคราะห์พระภิกษุรูปอื่นในคราวจำเป็น  เราถึงต้องมีผ้า 3 ผืน คือผ้าไตรจีวร

@การห่มดองรัดอก ก็เพื่อไม่ให้ผ้าปลิว

การห่มดองรัดอก เป็นปริมณฑล ครึ่งหน้าแข้ง เพราะว่า เวลาทำวัตรสวดมนต์  รูปข้างหน้า อาจจะมีพระพรรษาสูงกว่า  แต่รูปข้างหลังอาจจะสกุลใหญ่กว่า ผ้านั้นก็จะปิดฝ่าเท้า ที่เป็นปริมณฑลนี่ พอนั่งคุกเข่าแล้ว ผ้าจีวรจะไปปิดฝ่าเท้า สังฆาฏิจะทับเพิ่มน้ำหนัก  ไม่ให้ชายผ้าจีวรปลิวการกราบพระ ไหว้พระ การสวดมนต์ ไม่มีใครอยากเห็นตีนใครหรอก ตีนแตกตีนอะไรนี่ พระพุทธเจ้าทรงคิดมานานแล้ว  นี่คือการครองจีวร  ให้เข้าใจกันตรงนี้ก่อน  ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ ประวัติศาสตร์การห่มจีวรมันก็จะหายไป แล้วหาเหตุผลไม่ได้ ต้องมาเถียงกันอยู่อย่างทุกวันนี้

สมัยก่อน เจ้าชายทั้งหลายบวช พระที่พรรษามากกว่าอยู่ข้างหน้า พระที่อยู่ข้างหน้าเท้าแตกบ้าง ไม่เป็นรูปทรงบ้าง เวลาสวดมนต์ไหว้พระ ทำสังฆกรรม มันจะงามไหม  หาเหตุผลให้มันได้ ท่านจึงต้องให้ผ้าจีวรทิ้งตัวลงมาปิดเท้าที่แตกดูไม่งาม

อีกอย่าง เวลาเรากราบอย่าลืมว่า พระเราไม่ได้นุ่งกางเกงใน เอาว่า ดูไม่งามก็แล้วกัน มันตุงๆ อยู่หว่างขาก็แล้วกัน นี่เรื่องจริงนะ   ท่านก็คิดของท่านมาหมดแล้ว

อย่าลืมว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นกษัตริย์  ลองดู การถกเขมร อย่าลืมว่า การที่ผู้ชายสมัยก่อนถกเขมรนี่ มันเป็นกางเกงในไปในตัวของมันเลย

การนุ่งผ้าถกเขมรหรือเรียกว่า หยักรั้ง ผ้านุ่งมันมีสองแบบ คือ ม้วนให้แข็ง เขาเรียก ปั่น ปั่นให้แข็งแล้วมาเหน็บพกเหน็บหลัง  เขาถึงเรียกกันว่า กระเบนเหน็บ เขาเรียกชายกระเบนเหน็บ ทำเหมือนหางปลากระเบน  แต่ถ้าเป็นนักแสดง ม้วนหน่อยนึงแล้วก็กระเบนเหน็บ ฉีกสองข้างออกมาปิดร่องก้น   ถ้าเป็นผู้หญิง ให้จีบหน้ายก  ถ้าเป็นพวกลิงพวกยักษ์ ก็จะมีผ้าปิดหน้าตั้งแต่สะดือลงไป

ตรงนั้นนั้นแหละเขาจำลองมาจากผ้าที่พระประธาน  ไปดูพระประธาน จะมีผ้าปิดอยู่ อันนั้นเป็นเรื่องของศิลปกรรม ประติมากรรม  แต่ถ้าหนุมานไม่มีผ้าปิดหน้าตรงนั้น แบะขาอออกมันจะงามมันจะน่าดูไหม มันก็ไม่งาม  นี่คือการปกปิด

@การห่มจีวรดั้งเดิมยังไม่มีธรรมยุติมหานิกาย

การห่มจีวรแบบดั้งเดิม ยังไม่มีคำว่า “มหานิกาย” ยังไม่มีนะ คำว่า “ธรรมยุติ”  “มหานิกาย” มันเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 4

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องการล่วงล้ำพระมหากษัตริย์ เดี๋ยวมีคนปากบอนไปว่า อย่างนั้นอย่างนี้

ต่อมา  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตั้งนิกายขึ้นมา เปลี่ยนการห่มจีวร เป็น “แบบรามัญ คือ บิดขวา”

ห่มบิดขวาไม่มีการห่มดองรัดอก ถ้าจะเข้าสังฆกรรมก็เอาผ้ามารัดอก  จึงเกิดการห่มจีวรแบบ รัชกาลที่ 4 เขาเรียกการห่มจีวรแบบ “พระราชนิยม”

ไปอ่านประวัติศาสตร์ดู  ในคราวนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ 3 ไปหาหนังสืออ่านได้

ความเสียใจของรัชกาลที่ 3  ทรงเห็นว่าไม่สามารถจะรักษาการห่มจีวรแบบเดิมเอาไว้ได้  แล้วท่านจะมีคำพูดคำหนึ่งว่า  พระราชหัตถเลขา ว่า “เพราะท่านเป็นเจ้าฟ้า” คือ ยอมพระอนุชา เพราะท่านเป็นเจ้าฟ้า แล้วท่านทรงผนวช  รัชกาลที่ 3 ท่านทรงไม่เถียงพระ  ท่านไม่มีเถียงพระเลย พระอนุชาของท่านก็เป็นเจ้าฟ้า ท่านเสียพระทัย  ลองไปดูจิตกรรมฝาผนังก่อนรัชกาลที่ 3 เถอะ  จะเห็นการครองผ้าของพระในยุคนั้น ถ้าเขียนถูก ไม่มีการบิดเบือนนะ

ด้วยเหตุนี้นั่นเอง  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ท่านสร้างวัดสุทัศน์ ในขณะนั้น พอดี ก็เลยทรงหล่อพระพุทธรูปไว้องค์หนึ่ง  พระพุทธรูปองค์นั้น ถ้าไปดูที่วัดสุทัศน์  จะมีพระ 4 ทิศ

พระ 4 ทิศนี้ จะมีพระปางไสยาสน์ มองไปทางเสาชิงช้า  ถ้าขึ้นวิหารวัดสุทัศน์ จนมาชั้นบนสุด จะอยู่ซ้ายมือ เป็นพระคันธกุฎี เป็นทรงจีน  อาตมาก็บูรณะไว้ร่วมกับศิลปากร  ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะมีพระพุทธเจ้านั่งห้อยพระบาท ในพระคันธกุฎีเหมือนกัน  บรรทมตื่นบรรทม  แล้วเดินอ้อมมาด้านหลัง  ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะเห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง กำลังครองจีวร นั่นแหละวิธีการจีบจีวร  รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างไว้  วิธีการจีบจีวร “ห่มแบบรัดอก หรือ ห่มดอง”  ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นพระพุทธรูปปางเสวยภัตตาหาร  ทรงทำภัตตกิจ ทรงใช้มือเสวยพระกระยาหาร

ที่เล่าเรื่องให้ฟัง ใครอยากรู้ว่า เป็นอย่างไร ให้ไปวัดกษัตริยาธิราช ไปหาเจ้าอาวาส ขอดูรูปปั้นพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ท่านจะเห็นทันทีว่า นี่ของเก่าเลยนะ นี่เป็นประจักษ์พยาน เป็นที่มา

ถามว่า พระพนรัตน์กับพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระพม่ารามัญ ห่มจีวรไม่เหมือนกัน ตามภูมิภาคของประเทศนั้นๆ ท่านดูพระพม่าก็แล้วกัน  จะสะพายควายเหมือนที่อาตมาเล่าให้ฟัง

ในเวลาทำสังฆกรรม ท่านจะนั่งกระโหย่ง นั่งยองๆ แบบหลวงพ่อคูณนั่งนั่นแหละ  นั่งแบบนี้เป็นแบบไทย ๆ เป็นแบบผู้ดีจริง ๆ แล้วก็มีเหตุผลหลายประการที่เรานั่งกันทุกวันนี้ แต่เอาเรื่องห่มจีวรก่อน  เพราะมันก็เกิดปัญหา

@เคยเกิดปัญหาจะให้วัดใหญ่ๆ เปลี่ยนการห่มจีวร

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ครองคณะสงฆ์  ก็ประสงค์จะให้วัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพ เปลี่ยนการครองจีวรเป็นแบบรัชกาลที่ 4  ก็เลยนิมนต์พระวัดใหญ่ ๆ ที่มีอำนาจในการปกครอง   ตอนนี้เป็นธรรมยุต มหานิกายแล้ว

เมื่อนิมนต์มาแล้วก็จัดสีผ้าไตรถวายถวายหน้าพระอุโบสถวัดมหาธาตุนี่แหละ  มีการประชุมแล้วท่านก็จะบอกว่าไปครองจีวร  เพราะท่านเป็นคนประเคนเอง  ไปครองจีวรก็คือ จีวรแบบนี้ แบบที่ธรรมยุติห่มทุกวันนี้  ไม่ได้โจมตีกันนะครับ

อ่านเอกสารที่วัดสุทัศน์  ประวัติวัดสุทัศน์ได้เลย  พระครูวิจิตรตระการโกศล (สงัด ญาณพโล)  ได้เรียบเรียงเอาไว้  เป็นประวัติของวัดสุทัศน์  พระครูวิจิตรตระการโกศล  เป็นพระที่เชี่ยวชาญ เป็นพระเขียนหนังสือ เป็นเลขานุการวัดมหาธาตุด้วย   เป็นนักสวดนักเทศน์   เป็นผู้ก่อตั้งสำนักเรียนบาลีวัดเกาะราษฏร์ศรัทธาธรรม  อำเภอเสนา อยุธยา  ซึ่งผมไปเรียนเป็นรุ่นแรก  ท่านจะเขียนเรียบเรียงเอาไว้  ตามประวติศาสตร์ ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่สร้างตำราให้เราเรียนหนังสือกันนี่แหละ  ก็บอกให้ไปครองจีวรเสียใหม่ แบบนี่ แบบธรรมยุตินี่แหละ

คราวนี้ ก่อนที่จะถึงวันนั้น  วัดราชบูรณะ วัดสระเกศ วัดพระเชตุพน วัดสุทัศน์   ก็มีการปรึกษากัน  ว่าจะเอาอย่างไร

@ห่มไม่เป็น เพราะพระอุปัชฌาย์ไม่ได้สอน

ตอนนั้น วัดสุทัศน์มีสมณศักดิ์สูงสุดในมหานิกาย จะทำอย่างไรกันดี  วัดอื่นไม่กล่าวถึงนะ วัดชนะสงครามไม่กล่าวถึง เพราะวัดชนะสงครามมีพระรามัญมาอยู่ และอยู่นอกเขตพระนคร  เอาพระในเขตพระนคร  หมายความว่าใกล้ ๆ เกาะรัตนโกสินทร์นี่แหละ  คือ ถ้าหัวหน้าเปลี่ยน  พระทั้งหลายก็ต้องเปลี่ยนตาม

เมื่อปรึกษากันดีแล้ว วัดสุทัศน์  วัดพระเชตุพน  วัดราชบูรณะ  วัดสระเกศ  ก็ตกลงกัน  เมื่อรับผ้าไตรแล้วก็ออกไปเปลี่ยน  เมื่อเปลี่ยนจีวรเสร็จแล้ว พอจะเข้าพระอุโบสถวัดมหาธาตุ  สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ตอนนั้น ยังไม่ได้ครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ครองจีวรแบบรัดอกเหมือนเดิม ก็เดินเข้าพระอุโบสถวัดมหาธาตุ    พอจะเข้าประตู  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถามว่าเปลี่ยนจีวรแล้วทำไมไม่ห่มแบบนี้ แล้วก็ชี้จีวรที่ท่านครองอยู่

สมเด็จพระสังฆราช(แพ) ทูลว่า  “ห่มไม่เป็น เพราะพระอุปัชฌาย์ไม่ได้สอน”

พระสงฆ์ทั้งหลายจำคำพูดผมไว้ ญาติโยมจำคำพูดอาตมาไว้  “ห่มไม่เป็น เพราะพระอุปัชฌาย์ไม่สอน”  แล้วมหานิกายก็เข้าอุโบสถ

ทรงกริ้ว กริ้วแล้วเรื่องอะไรจะเกิดขึ้น มันมีปัญหาตามมาทีหลังเยอะแยะ

@มหานิกายแท้มหานิกายแปลง•

ส่วนวัดมหาธาตุเปลี่ยน  จึงมีคำว่า “มหานิกายแท้” กับ “มหานิกายแปลง”  จำไว้นะ พระมหานิกายรูปใดที่ครองแบบธรรมยุต ก็เป็น “มหานิกายแปลง”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านครองสังฆมณฑล  ท่านเสด็จไปวัดไหน ท่านก็ไปประทานจีวรท่านก็แปลงหมดนะ

วัดที่ไม่ถือก็ห่มแบบเดิมง่าย ๆ ก็แล้วกัน  ไม่ต้องทะเลาะกัน  ผมไม่ชวนทะเลาะกับใคร  อาตมาไม่ชวนใครทะเลาะ เพราะผ้ากาสาวพัตร์ นี่แหละ ก็กลายเป็นปัญหาเรื่อง การครองจีวร

@อย่าบังคับกันเรื่องสีจีวร

แล้วเรื่องสีจีวร ก็เป็นไปตามพุทธบัญญัติ แล้วแต่ว่า อยู่ตามป่าตามเขา แก่นขนุน แก่นขาม เอามารวมๆ กัน เขาเรียกย้อมด้วยน้ำฝาด  แต่มันจะมีจีวรสีหนึ่ง  ซึ่งอยากจะบอกญาติโยม บอกพระว่า   “สีทอง” ตอนนี้ทองมันแก่ไปแล้ว กลายเป็นสีส้มไป  ทางอีสานเขาย้อมผ้าไหมถวายพระ เขาใช้สีทองดอกบวบ หรือ สีออกกึ่ง ๆ เนื้อฟักทอง คล้ำลงมานิดหนึ่ง ไม่วาวนัก   สีไพร  ไพรแก่ ๆ ใช้ไพรย้อมก็ได้  แต่ว่าผสมให้มันแก่ลงนิดหนึ่ง เพื่อพระผู้ใหญ่จะได้ไม่วาวนัก  ผ้าจีวรสีทองที่ท่านเห็นผมห่มนี้ หรือญาติโยมเห็นอาตมาห่มนี้  ไม่ใช่สีธรรมกาย  ธรรมกายไม่มีสิทธิ์บัญญัติจีวร  เขาห่มอนุวัตรตามจีวรสีหนึ่ง เท่านั้นเอง   ไม่ได้เข้าข้างใครนะ เดี๋ยวจะมา โอ้โห! ท่านเจ้าคุณพิพิธห่มสีธรรมกาย  ขอโทษนะสีธรรมกายไม่มี มีแต่สีพระพุทธเจ้า!!

@พระนางปชาบดีโคตรมีตัดจีวรทองถวายให้พระพุทธเจ้าครอง•

ทำไมจึงเป็นผ้าสีทองแบบนี้  ก็ต้องไปอ่านเรื่องครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์   พระนางปชาบดีโคตรมี พระแม่น้า คงจะสืบข่าวว่า พระพุทธเจ้าครองจีวรอะไร ครองจีวรอย่างไร  พระองค์ประสงค์จะถวายจีวร  ก็คนเป็นแม่ เรื่องเสื้อผ้าเป็นหน้าที่ของคนเป็นแม่  พระองค์ก็รับสั่งให้คนจัดแจง ให้ไปหาเมล็ดฝ้ายที่ดีที่สุด แล้วก็มาทำเป็นแปลงฝ้าย เป็นแปลงต้นแบบ แล้วเอาทองคำมาบดให้ละเอียด เหมือนเอาทองมาตีแล้วบดผสมน้ำเทรดต้นฝ้าย  ครั้งที่ 1 พอฝ้ายออกมาแล้ว สีก็จะเปลี่ยนไปจากสีขาวไปเป็นสีทอง ยังไม่พอพระราชหฤทัย จึงทรงทำอย่างนี้ถึง 7 ครั้ง เมล็ดฝ้ายก็กลายพันธุ์เป็นสีทองคำ

เมื่อพระองค์พอใจแล้วก็ทรงเย็บจีวรด้วยมือของพระองค์เอง  เพื่อจะถวายพระลูกชาย  หลานก็เลี้ยงเหมือนลูก ท่านก็ดูประวัติ  จีวรจึงออกมาเป็นสีทองคำ  กะว่าพระพุทธเจ้าห่มแล้วจะงามสมกับสีผิวของพระองค์ คือ วรรณะวรรณโณ ไปดูตำราพุทธลักษณะ  พระพุทธเจ้าทรงรับแล้วก็ยื่นส่งต่อๆ กันไป พระนางเห็นก็เสียใจ  สุดท้ายก็วนกลับมาน้อมถวายพระพุทธเจ้าอีก  พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นของสงฆ์แล้วก็ทรงครอง   นี่คือสีพิเศษที่คนอีสานเขาย้อมผ้า  ที่ผมห่มนี่เป็นตัวอย่างนะ

@สีทองผสมเป็นสีราชสีห์ อย่าโจมตีกัน

บางครั้งทำไมผมห่มสีกรักอออกทีวี   บางครั้งทำไมผมห่มสีแดง  ตอนผมเป็นเณรผมก็ใช้   ผมไปดูพระวินัยแล้วมันไม่ผิด  แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงมีเหตุผล ทรงมีเหตุผลว่า  ทำไมจึงเป็นผ้าสีนี้

โธ่!! เสือโคร่ง  เสือดาว มันมีสีของมันอยู่ สีที่พระห่มกันนี่นะ  สีราชสีห์นะครับ สีทองผสมนี่นะเป็นสีราชสีห์ เสือสางไม่กล้าหรอกครับ  แต่สีแดงนี่แก่กว่าดอกชบาหน่อย ก็เป็นสีที่อยู่ในจิตกรรมฝาผนังโบราณ ไปดูเถอะ สีนั้นแหละ ห่มแล้วไม่ผิด อย่ามาโจมตีกัน ไม่เอา ผมห่ม แล้วช่วยส่งคลิปไปด้วย ผมพูดอย่างนี้

@เปลี่ยนสีจีวรเป็นเหลี่ยมพระ•

คราวนี้ ต่อมา เรื่องสีจีวรพระในปัจจุบัน อย่าลืมนะครับว่า ทุกรูปมีสิทธิ์ครองจีวรสีอะไรก็ได้ ตามแต่ภูมิภาคจะมีสีนั้น แต่ต้องเป็นไปตามพระวินัย อย่าให้มันดำจัดจนเป็นสีขี้กะปิ อันนั้นไม่ใช่ มันมีสีขี้กะปิ กึ่งขี้โคลน ดำๆ อันนั้นไม่ใช่  เป็นเล่ห์ของพระ ว่า ฉันเคร่งนะฉันเคร่ง  เขาเรียก “เหลี่ยมพระ”  โยมจำไว้

พระก็อย่าไปทำ เรามาประมาณปานกลาง เขาเรียก “กรักแก่ กรักอ่อน” จะห่มสีกรักนะครับ  สีกรักคืออะไร สีกรักก็คือ เปลือกไม้ ถ้าเปลือกไม้มันจางหน่อยเขาก็เอาผ้าชาวบ้านมาย้อมด้วยสีกากี กากี แปลว่า กาก ที่ตำรวจใส่นี่แหละ  สีกากีนะสีกากไม้  พอย้อมผ้าพระสีจืดแล้วจึงเอามาย้อมผ้าชาวบ้าน จึงเรียกว่า “สีกากี” กากอันเกิดมาจากสีกากย้อมผ้าที่พระห่ม

@มหานิกายเคยประชุมที่วัดสระเกศ มหานิกายจะครองผ้าสีทอง

ทีนี้ เมื่อหลายปีก่อน จำไม่ได้ปีไหน มีการประชุมพิจารณาพระอุปัชฌาย์ของมหานิกายที่วัดสระเกศ   สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  ท่านก็ปรารภเรื่องการห่มจีวร  ว่าลักษณะของจีวรนี้ มันก็แปลกแยกไปแล้ว  จะขอความเห็น เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ที่ไปประชุมในวันนั้น  ว่าจะเอาอย่างไรกัน ตอนนั้น ผมเป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค 4 ผมก็นั่งฟังอยู่ด้วย  มีการเสนอความคิดเห็น  ก็ตกลงกันว่า “มหานิกายเราจะครองผ้าสีทอง”

มหานิกายเราจะครองผ้าสีทอง แต่ก็อย่าไปบังคับ เพื่อให้เขาสละจีวร เพราะว่า การสละจีวร มันอยู่ในพระวินัย อยู่ตามฤดูกาลเปลี่ยนจีวรตามพระวินัย การหาจีวร

เอาว่า เจ้าคณะภาคทำเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค   ภาคเหนือก็รับอาสา เพราะภาคเหนือเขาก็ย้อมจีวรเหมือนภาคอีสาน สีทองเหมือนกัน แต่ว่า เดี๋ยวนี้เขาใช้สีทองของร้านสังฆภัณฑ์ เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดสีเองเลย ความจริงพระต้องเป็นผู้กำหนดว่าใช้สีทองแบบนี้ ก็รับปากกัน

 แต่ถ้ามันถูกวินัยก็อย่าไปบังคับเขานะ

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม)  วัดชนะสงคราม ท่านก็นั่งยิ้มๆ  ท่านเป็นเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกันกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  วัดสระเกศ และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ  ท่านเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนกัน เขาเรียก นายร้อย จปร.วัดสามพระยา เหมือนกันกับนายร้อย จปร.  ทหาร

ทุกวันนี้ สถาบันประโยค 7,8,9 ไม่รู้อยู่ที่ไหน  จริง ๆ แล้วมันเป็นตำนานของวัดสามพระยา  ใครจบประโยค 7,8,9 จากวัดสามพระยา เขาจัดว่าเป็นนายร้อย จปร.

“เอาให้ถูกพระวินัยก็แล้วกัน”  สมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านก็บอกอย่างนั้น ส่วนการครองจีวรก็จะดู ท่านก็เลยกลับมาม้วน ม้วนเข้าตัวเรียกม้วนขวา แล้วบางทีท่านไปไหนท่านก็คลุม ๆ แต่ม้วนขวา  เหมือนสามเณรอออกนอกวัด ห่มคลุมแต่ม้วนขวา แต่อยู่วัดท่านก็ครองจีวรรัดอก

@ย้อนกลับไปดูเรื่องสีพระราชนิยม•

คราวนี้ ย้อนกลับไปดูเรื่อง “สีจีวร” ทำไมจึงเรียกว่า “สีพระราชนิยม”  อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องวินิจฉัยกันก็แล้วกัน

พระผู้ใหญ่ศึกษากันบ้างหรือเปล่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9   ท่านก็คงจะทรงได้ยินเรื่องราวของพระทะเลาะกันเรื่องจีวร  ว่า ช่วงไหน พระธรรมยุต เป็นสมเด็จพระสังฆราชก็อยากจะให้พระครองจีวรสีแบบธรรมยุต

ช่วงไหนมหานิกายเป็นสมเด็จพระสังฆราช ห่มสีทองนี้ สังฆราชก็อยากจะให้พระเข้าวังครองสีทอง  แต่ใครมันจะใหญ่กว่ากันละ

นี่คือเสียงทะเลาะของพระ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงสดับ  พระทะเลาะกันซะแล้ว

ประการที่สอง เนื่องจากมีการถ่ายภาพ นวัตกรรมเรื่อง ถ่ายภาพ  ปากพระทะเลาะกัน วิจารณ์กัน บ่นกันพรึมพรำ ไม่มีใครกล้าพูดดังๆ  เวลาเข้าในงานพระราชพิธี ในพระบรมมหาราชวัง ก็มีการถ่ายภาพ ไม่ได้ยินเสียง แต่สีมันทะเลาะกัน มันทะเลาะกันในกล้องนั่นแหละ  มีผู้เล่า  ผิดถูกอย่างไรขอรับผิดชอบ แต่ขอไม่ให้เป็นความผิด

เมื่อได้ยินพระทะเลาะกันเรื่องสีจีวร ก็อาจจะทรงครุ่นคิดว่า พระทะเลาะกันก็ไม่ค่อยดี  ถ่ายรูปออกมาก็ไม่ค่อยสวย  สังเกตไหมว่า เวลาเข้าวังเขาก็จะใส่ชุดปกติขาว มีเครื่องราช  ถ้าผู้หญิงก็แล้วแต่จะใส่ชุดผ้าไหม แต่ผู้ชายต้องปกติขาว แล้วเครื่องราชประดับชั้นไหนก็แล้วแต่ จะเหมือนกันหมด มองเหมือนกันหมด สิ่งที่ไม่เหมือนก็คือสายสะพายและเครื่องราชอิสริยาภรณ์  พระก็มี พัดยศ ก็ทรงอาจจะได้ยินเสียงพระ  มีผู้เล่า ก็รับสั่งให้ไปแถวเสาชิงช้า ไปซื้อสีกรักมาหนึ่งกระป๋อง แล้วก็ซื้อสีทองมาหนึ่งกระป๋อง สีกรัก คือ ธรรมยุต พระป่า  สีทองของมหานิกาย  เสร็จแล้วก็ทรงเอาสองสีมาผสมกัน แต่ก็มีผู้เล่าว่า องค์สมเด็จพระเทพฯ เป็นผู้ย้อม

นี่เรื่องจริงเท็จเป็นอย่างไรต้องขอพระราชอภัยโทษ  พอย้อมมาแล้ว สีกรัก 1 กระป๋อง สีทอง 1 กระป๋อง พอย้อมมาแล้วก็ยกขึ้นมาตาก

@สีพระราชนิยม คือ นิยมไม่ให้พระทะเลาะกัน

ตรงนี้ เป็น “สีสามัคคี” เป็นสีที่พระไม่ต้องทะเลาะกันด้วยปาก หรือแม้แต่ทะเลาะกันบนแผ่นฟิล์ม  แล้วก็ทรงปรารภว่า  มีพระผู้ใหญ่ มรณภาพไปแล้ว ท่านเล่าให้ฟังว่า ทรงปรารภ จากนั้นมา เวลาเข้าในงานหลวง ก็ใช้สีนี้ แต่ไม่รู้ว่า จะตั้งชื่อสีอะไร ก็เลยเป็นสีพระราชนิยม

มิได้หมายความว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงบังคับให้พระใช้สีนี้เท่านั้น”

ขอให้รูปที่ทะเลาะกันนี่ แล้วขยายผล ขยายผลไปๆ เพื่อพวกมึง เพื่อพวกกู ให้เข้าใจว่า  ไม่รู้จะตั้งชื่อว่าสีอะไร ก็เลยเป็น “สีพระราชนิยม”

พระราชนิยม คือ นิยมไม่ให้พระทะเลาะกัน  จำไว้ครับ  ญาติโยมจำไว้  นิยมที่จะไม่ให้พระทะเลาะกัน  แต่ไม่ทรงบังคับเมื่ออยู่วัดนั้น ๆ เท่านี้มันก็จบ มันจบตรงนี้   

@วัดสุทัศน์เป็นวัดที่ครองสีทอง•

วัดสุทัศน์เป็นวัดที่ครองสีทอง แต่ครั้นเวลามีงานกฐิน ถวายผ้าพระกฐิน ก็จะทรงถวายสีพระราชนิยม  เจ้าอาวาสท่านก็จะครองสีพระราชนิยม  ชุดเก่า เพื่อที่จะรับพระราชทานผ้าพระกฐิน แล้วก็ครอง  แต่ถ้าออกไปตามนอกวัด ท่านเจ้าอาวาส สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (วีระ) ท่านก็ครองผ้าสีทอง  แต่เวลาที่ท่านทำวัตรสวดมนต์ ครองผ้า ท่านครองไปจนกว่าจะกฐินอีกปีหนึง ท่านจึงจะครองสีพระราชนิยม คือ เป็นผ้าพระกฐิน  ท่านไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งวัดหรอกครับ นี้ เข้าใจตามนี้  อย่าไปบังคับกัน

สีพระราชนิยม หมายความว่า พระราชานิยมที่จะไม่ให้พระทะเลาะกันเรื่องสีจีวร  นิยมอย่างนั้น

@ได้อะไรกันขึ้นมาที่เถียงกันเรื่องสีจีวร

ส่วนงานต่างๆ ที่เราไป ถ้าไม่ใช่งานหลวง ก็ของใครของมันสิครับ  ทำไมต้องบังคับ ทำไมต้องมองกันด้วยหางตา เพื่ออะไร แล้วถามว่า ได้อะไรกันขึ้นมาที่เถียงกันเรื่องสีจีวรทุกวันนี้  ได้อะไรขึ้นมา มีแต่ความแตกแยก ไม่เป็นพระราชนิยม แล้วไม่ได้มีความรู้จริงๆ ด้วย

อย่าลืมนะครับ ผมเป็นเลขานุการรองเจ้าคณะภาค 4 เมื่ออายุย่าง 22 เท่านั้น  ผมตระเวนไปทั่ว  รู้ประวัติศาสตร์ เรื่องพระศาสนา เป็นมาก่อนใครด้วย ที่เป็น ๆ กันในปัจจุบันนี่แหละ

ใหญ่กว่าผม ผมไม่ว่าหรอก สมณศักดิ์สูงกว่า ไม่ว่ากัน เอาเถอะ  แต่ผมรู้เรื่องราวทั้งหมด ตะลอน ๆ ไปตามภาคต่าง ๆ  ต่อมาก็ไปบรรยาย ก็สอบถามเรื่องพระสงฆ์องคเจ้า เรื่องประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ก็สอบถามไป

ก็เหมือนผ้ารัดอกนี่ ทำไมอีสานถึงมีการทิ้งชาย  ผ้ารัดอกที่ทำด้วยผ้าไหม  วัดคลองเตยใน ท่านเจ้าคุณราช ปัจจุบันนี้ ท่านเคยถวายมา  ผ้าไหมถ้าทำเป็นผ้ารัดอก มันแน่น รัดอกไปแล้วตัวตั้ง เชียว เพราะกันกระดูกสันหลัง  หนึ่งรัดให้ผ้าอยู่ สองให้ผ้าแน่น ยกอะไรกระดูกจะได้ไม่หัก

ประคดอกนอกจากความเรียบร้อยแล้ว รัดแน่นๆ แล้วเวลาหายใจ เสียงสวดมนต์จะดังขึ้น จะยาวขึ้น  วันไหนที่ห่มคลุมไปแหล่ หายใจสั้น ถ้ารัดอกแน่นๆด้วยผ้าไหม  อานาปานสติมันจะได้ยาวขึ้น น้ำเสียงจะแข็งแรงขึ้น  มีเหตุผลทั้งนั้น ในพระศาสนา ญาติโยมก็ต้องเข้าใจ  ไม่เช่นนั้นแล้ว พระทะเลาะกัน คนมันก็ทะเลาะกัน

@พระโกสัมพีทะเลาะกันเรื่องน้ำล้างส้วม เดี๋ยวนี้พระทะเลาะกันเรื่องสีจีวร•

พระโกสัมพีทะเลาะกันเรื่องน้ำล้างส้วม จนแตกแยกกัน จนพระพุทธเจ้าหนีไปอยู่ป่า ไปอยู่กับช้างกับลิงดีกว่า  คนมันชอบทะเลาะกัน  เดี๋ยวนี้พระมาทะเลาะกันเรื่องสีจีวรเหรอ  ถ้าพระพุทธเจ้า พระองค์อยู่ท่านจะทรงทำยังไง หนีไปอยู่ป่าดีกว่า

ที่เรียนถวาย เล่าให้ญาติโยมฟังนี้ เป็นองค์ความรู้ และเป็นประโยชน์กับโยมในการที่จะถวายจีวร จะได้รู้ว่า จะถวายจีวรสีไหน  ถ้าอ้วนก็ซื้อแบบขยายข้าง จะมีพระร่างผอมกับพระร่างใหญ่ สบงก็มีขันธ์ กี่ขันธ์ 5 ขันธ์ 7 ขันธ์ 9 ขันธ์  แล้วแต่รูปไหนจะนุ่งแบบขันธ์ หรือนุ่งแบบผ้าเรียบ ซึ่งมีชายอยู่  ชายสบงข้างล่างข้างบนเหมือนกัน  ทำไมถึงทำอย่างนั้น เขาเอาไว้ให้มันทิ้งตัว ห่มแล้วมันไม่เฉวิบ

บางทีพระสงฆ์องคเจ้าเรานี่ไม่ได้วินิจฉัยอะไรกันเลย  ทำไมโยมจึงมีสไบ  ถ้าผู้หญิงยังมีระดูอยู่ให้ใช้ผ้าถุงเป็นสไบในเวลาเข้าวัด  ถ้าผู้หญิงหมดระดู ก็เป็นผ้าแถบไป เป็นผ้ากราบไป  ถ้ายังมีระดูให้ใช้ผ้าถุงแล้วก็รัดเข็มขัด ก็เหมือนพระพกผ้าสังฆาฏิ นี่แหละครับ  โยมก็เหมือนกัน ให้ดู  แต่ถ้าหมดระดูแล้ว จะใช้แบบเดิมก็ได้ ถ้ามีระดูเขาจะมีผ้ากราบผืนหนึ่งติดตัวไป  แต่ถ้าหมดระดูแล้วมีผ้ากราบด้วยก็ได้ เอาสไบเฉียงลงมา  แต่ถ้าผู้ชายก็ใช้ผ้าขาวม้า เขาจึงทำอย่างนั้น

ทำไมผู้ชายต้องพกผ้าขาวม้าไปอีกผืนหนึ่งละ ก็ทำเหมือนพระ  มันต้องวินิจฉัยให้มันถึงขนบธรรมเนียมที่เกิดมาจากศาสนา  ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะมาทะเลาะกัน

ใครฟังคลิปนี้ก็อย่าไปขยายความในเชิงเข้าข้าง กลับมาคิดใหม่ เพราะทุกวันนี้ ศาสนาก็ถูกรุกรานด้วยการไม่ค่อยเผยแผ่กันอยู่แล้ว  แล้วเราทะเลาะกันนี่ เจอหน้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีอะไรกัน กินข้าวด้วยกัน  ลับหลังนินทากันแล้ว แล้วจะนั่งฉันข้าวด้วยกันไปทำไม ลับหลังก็นินทากัน วิจารณ์กัน

@ทะเลาะกันเรื่องสีจีวร ไม่ผาสุกทั้งพระทั้งโยม กะทั้งผีก็ไม่ผาสุก•

เมื่อพระผู้ใหญ่เป็นอย่างนั้น พระผู้น้อยมันก็เอาด้วย  มันไม่เอาด้วยก็ไม่ได้ ก็เลยเป็นก๊กเป็นฝ่าย จะเอาอย่างนั้นอีกหรือครับ ไหนว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ไง  ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ นำประโยชน์สำเร็จ

สำเร็จ คือ อะไร  ญาติโยมก็ฟังไว้  ที่ไหนมีแต่ความสามัคคี ที่นั่นสร้างสรรค์ความเจริญ  เผชิญอุปสรรค อยู่ด้วยความผาสุก ถ้าพระสงฆ์ไม่ผาสุก มาเถียงกันเรื่องสีจีวร มันไม่ผาสุกหรอก ไม่ผาสุกกันทั้งโยมนั่นแหละ กะทั้งผีโน่น  ผีก็ไม่ผาสุก

ไปดูในโกสัมพีสิ โกสัมพีวัตถุ เป็นเครื่องเตือนใจ แล้วไม่ใช่เตือนใจเฉพาะนี่นะ เตือนใจสังคมด้วย  พระพุทธเจ้าเป็นสิริมงคล  ทะเลาะกันที่ไหนมงคลไม่มี มีแต่อัปมงคลเกิดขึ้น  “อย่าให้สีจีวร เป็นอัปมงคลในวงการคณะสงฆ์”

ฟังคลิปฉบับเต็มด้านล่าง

Leave a Reply