ปลัดมท.น้อมนำแนวพระราชดำริร.9และร.10 มาแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมเพื่อความยั่งยืน

ปลัดมหาดไทยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และร.10 เป็นต้นแบบแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน พร้มทั้งใช้ Bigdata เป็นฐานข้อมูลแก้ปัญหาอย่างครบวงจร

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565 ที่ห้องราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ ชั้น 5 กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายการบูรณาการการขับเคลื่อนและขยายผลนโยบายภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติแบบบูรณาการ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ชี้แจงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้แก่ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารหน่วยงานราชการ ในส่วนภูมิภาค ภายใต้หลักสูตร ป.ย.ป. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุม และมี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่วันนี้ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้แก่ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารหน่วยงานราชการ ในส่วนภูมิภาค ภายใต้หลักสูตร ป.ย.ป. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อให้การบริหารราชการภูมิภาค โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารระดับท้องถิ่น มีการขับเคลื่อนการพัฒนางานกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยสำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ในแต่ละระดับ ไปขยายผลในพื้นที่ จะช่วยสนับสนุนให้กระทรวงมหาดไทยได้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อลดความอดอยาก ความหิวโหย ความเหลื่อมล้ำ ดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทาง สำนักงาน ป.ย.ป. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่นได้เข้าร่วมคณะ ป.ย.ป. ด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ได้กล่าวว่า สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตร ป.ย.ป. ทุกระดับ มาปีนี้เป็นปีที่สอง เพื่อสร้างกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจในการปฏิรูปประเทศและการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในปีนี้ กำหนดประเด็นเร่งด่วนสำคัญจากยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้แก่ 1) การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญกับภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ 2) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงอุทกภัย และ 3) การพัฒนาสมรรถนะทุนมนุษย์เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต และกำหนดหลักสูตรระดับ ป.ย.ป. 1 คือ ผู้บริหารระดับหัวหน้าหน่วยงาน ปีนี้จะประกอบด้วยท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารระดับปลัดกระทรวง อีก 11 ท่าน รวมถึงหลักสูตร ป.ย.ป. 2 คือ ผู้บริหารระดับรองอธิบดี และหลักสูตร ป.ย.ป. 3 คือการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ให้กับผู้บริหารหน่วยงานราชการในส่วนภูมิภาค และผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จากนั้น เวลา 10.10 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายและเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกลว่า ปัจจุบันย่างเข้าสู่เดือนตุลาคมซึ่งจะมีการเริ่มใช้ปีงบประมาณใหม่มีการเริ่มต้นการใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เราจึงต้องมาปรับเปลี่ยนการขับเคลื่อนการทำงานจึงเป็นที่มาของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้สำหรับผู้ปฏิบัติการของภาครัฐในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กับข้าราชการส่วนกลางที่จะต้องสอดประสานกันบูรณาการร่วมกันระหว่างข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น จะต้องมีการประเมินการทำงานช่วงเวลาที่ผ่านมาและแก้ไขความผิดพลาดเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำในเรื่องเดิมอีก สำนักงาน ป.ย.ป. จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการขับเคลื่อนการแก้ไขกฎหมายแก้ไขระเบียบ เพื่อให้ดำเนินการไปได้ด้วยดี ขอเป็นกำลังให้ทุกท่าน ปฏิบัติหน้าที่ให้สมดังความคาดหมายของประชาชนด้านการบริการของเราให้งานขับเคลื่อนได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและให้ประเทศชาติพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้เสนอหัวข้อ การสร้างต้นแบบการบริหารน้ำอย่างยั่งยืน ที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีการศึกษาโครงการพระราชดำริ ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสและแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นแนวทางไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน ทั้งในมิติการป้องกันปัญหาภัยแล้ง และการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ยังผลทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังใจความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2533 ความว่า “.. เราควรพิจารณาว่า ถ้าสามารถที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วม สกัดไว้ไม่ให้ลงมาท่วม ก็จะบรรเทาการท่วมและลดความเสียหาย ฉะนั้นการหาทางที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วมเอาไว้ได้ สำหรับให้เป็นน้ำที่ให้คุณที่ช่วยให้มีรายได้ ก็จะเป็นการดีเป็นทวีคูณ.. ..การที่จะทำโครงการที่แยบคาย เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายในการท่วมนั้น และเพิ่มพูนผลิตผลในหน้าแล้ง ก็ได้ผลสองเท่าตัว คือไม่ต้องใช้เงินแก้ไข หรือบรรเทาทุกข์ของประชาชน ซ้ำจะได้ให้ประชาชนทำกินได้ เพิ่มพูนขึ้นไปเกือบสองเท่า..” อันเป็นกรอบความคิด ที่ทรงชี้ให้เห็นถึงภัยพิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยในส่วนของการสร้างต้นแบบที่ พระองค์ทรงทดลอง คิด และปฏิบัติ เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนในเรื่องปากท้อง ปัจจัย 4 สิ่งแวดล้อม สังคมความรักความสามัคคี ระหว่างที่น้องประชาชน อีกเรื่องที่สำคัญคือ “ทฤษฎีใหม่”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นความโชคดีของพวกเราคนไทยทุกคนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนคนไทยที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ทุกคนได้รอดพ้นจากภัยพิบัติจากธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังใจความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสเรื่อง “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความว่า “โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกันรักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน.. ..มีเป้าหมายที่แน่นอนคือ ความอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และการเสริมคุณภาพชีวิต หัวใจคือคุณภาพชีวิตของเรา การเกษตร เป็นอาหาร เป็นสิ่งที่เป็นหลักของชีวิตของเรา.. ..ในยุคนี้คือเกษตร เกษตรคือประเทศ ก็คือผืนดิน (Sustainable Agronomy) คืออารยประเทศ เกษตรประเทศ ก็คืออารยประเทศ ทำได้โดยประยุกต์หลายๆ ทฤษฎีที่ได้ทรงรับสั่งไว้..” ที่กล่าวมานี้ กระทรวงมหาดไทยใช้กรอบการสร้างต้นแบบการบริหารน้ำอย่างยั่งยืน มาเสนอเป็นต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ประกอบกับการใช้ Bigdata เช่น ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ข้อมูลน้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก มาอินทิเกรตข้อมูลเพื่อเป็นข้อมูลผ่านระบบอัจฉริยะ มาให้เรียนรู้ทั้งประเทศได้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply