“นิกายมหาเย็น” รัฐมอญ??

ยามว่างดูสารคดีประวัติศาสตร์นอกตำรา เรื่อง “นิกายมหาเย็น จากนิกายมอญ สู่ธรรมยุติ ก่อนเผยแผ่กลับสู่เมืองมอญอีกครั้ง” อย่างตั้งใจ ที่ผลิตโดย คุณอดิศักดิ์ ศรีสม เจ้านายเก่าของผู้เขียนแล้ว หดหู่เดียวดายอย่างไรไม่รู้ ยิ่งเห็นสภาพกุฎิที่ท่านพักถูกปล่อยให้ทรุดโทรม อัฐบริขารของใช้ของท่านก็ไม่ได้ถูกจัดเก็บให้เป็นระเบียบยิ่งเศร้าใจ ทั้ง ๆ ที่ท่านคือ..ผู้วางรากฐานสำคัญให้คณะธรรมยุติกนิกายเจริญและมั่นคงอยู่ในดินแดนมอญ ประเทศเมียนมา คิดไปคิดมาในฐานะ “มอญเมืองไทย” อยากทำอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน

ในดินแดนพม่าคณะสงฆ์มี 9 นิกาย แต่พระสงฆ์มอญสังกัดอยู่เพียงแค่ 3 นิกาย คือ คณะสงฆ์รามัญนิกาย (คณะสุธัมมา) นิกายสะเวจิ้น และนิกายมหาเย็น และใน 3 นิกาย นิกายสะเวจิ้นมีจำนวนพระสงฆ์น้อยที่สุด รองลงมาก็คือมหาเย็นซึ่งเท่าที่รู้ตอนนี้มีวัดอยู่ประมาณ 87 วัดกระจายอยู่ทั่วรัฐมอญและเมืองย่างกุ้ง ส่วนคณะสงฆ์รามัญนิกายมีพระสงฆ์ประมาณ 10,000 รูป มีการสอบบาลีและมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นของตัวเอง ซึ่งวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เคยเดินทางไปจัดงานสัมมนา “พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ” และจะมีการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างทั้ง 2 สถาบันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562  ที่เมืองเมาะละแหม่ง ประเทศเมียนมา แต่หลังจากเซ็นแล้ว ดูเหมือนจะเงียบหายไป ไม่มีการทำงานร่วมกันต่อ..

“ผู้เขียน” เคยพาคณะสงฆ์และชาวพุทธจากรัฐมอญ ประเทศเมียนมา เคยเข้าเฝ้า “สมเด็จพระสังฆราช” พระองค์ทรงเล่าด้วยภาษามอญว่า  เคยไปรัฐมอญประมาณปี 2493 เดินทางโดยรถไฟไปเยี่ยมเยียนคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย (มหาเย็น) ในรัฐมอญ และหลังจากนั้นก็ไปต่อเนื่องหลายครั้ง

ความจริงประเทศไทยเราในคณะธรรมยุตเองก็มี “รามัญธรรมยุต” แฝงอยู่ มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง เท่าที่รู้ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 30 กว่าวัด อยู่แถวปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาครและลพบุรี แต่ไม่ได้รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น การทำกิจกรรมร่วมกันเริ่มจางหาย ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคณะธรรมยุติกนิกายประเทศไทยกับคณะสงฆ์รามัญธรรมยุติ (มหาเย็น) รัฐมอญ  ก็ขาดการเชื่อมต่อ เนื่องจากพระรุ่นหลัง ๆ  ไม่มีการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายไม่มีการสืบทอดรักษาความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้ง ๆ ที่คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในประเทศไทย มีพระสงฆ์เชื้อสายมอญอยู่มากมาย

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม คณะธรรมยุติกนิกายในดินแดนมอญหรือประเทศเมียนมา ชาวมอญจึงเรียกกว่า “นิกายมหาเย็น”  ทำไมจึงชื่อนี้ ผู้เขียนขออนุญาตนำบทความของ “คุณแผน แดนรามัญ”  มาให้ทราบกันดังนี้

 

วันนี้ขอเสนอชีวประวัติพระเถราจารย์รามัญ ผู้มีคุณูปการต่อวงการคณะสงฆ์ในเมืองมอญเป็นอย่างมาก พระเถระผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา รามัญธรรมยุตินิกาย หรือ นิกายมหาเย็น ในดินแดนพม่า จนเจริญรุ่งเรืองสืบมากระทั่งปัจจุบัน พระมอญรูปนี้ก็คือ “พระไตรสรณธัช (เย็น พุทฺธวํโส)” เปรียญ 5 ประโยค   อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรมงคลราชวรวิหาร (วัดลิงขบ) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

พระไตรสรณธัช มีนามเดิมว่า “เย็น”  ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 12  พ.ศ. 2383 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ท่านถือกำเนิดในตระกูลชาวมอญ แห่งบ้านคลองครุ หรือบ้านแหลมครุ เมืองสาครบุรี (ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองสมุทรสาคร และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนการเรียกชื่อ จากเมืองสาครบุรี เป็นจังหวัดสมุทรสาคร และปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) บิดามารดาของท่านไม่ทราบนาม ทราบเพียงว่าท่านเป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คน

ในวัยเด็ก ท่านได้เข้ารับการศึกษาภาษามอญและไทยขั้นต้นที่ วัดคลองครุ เมืองสาครบุรี ต่อมาท่านได้ติดตามพระอาจารย์มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯพระนคร และได้เล่าเรียนภาษาบาลีขั้นต้นในสำนักวัดบวรนิเวศฯ กระทั่งเมื่ออายุครบเกณฑ์บวช จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร โดยมี สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ โดยได้รับฉายาทางธรรมว่า “พุทฺธวํโส”

หลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่บวรนิเวศฯ พระนคร มาตามลำดับ ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมบาลี และได้เข้าสอบแปลบาลีสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนสอบไล่ได้เปรียญ 5 ประโยค ต่อมาท่านจึงได้รับพระราชทาน พัดยศ ตำแหน่ง พระมหาเปรียญ 5 ประโยค

พระมหาเย็น พุทฺธวํโส ท่านมีความเชี่ยวชาญในภาษามอญและภาษาบาลีเป็นอย่างดี ท่านได้เป็นพระมหาเปรียญผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยติธรรมประจำสำนักวัดบวรนิเวศฯ จนปรากฏมีศิษย์ศึกษาในสำนักท่านเป็นจำนวนมาก แม้แต่ ท่านเจ้าคุณฯ พระคุณวงศ์ (จู สิงฺโฆ) วัดปรมัยยิกาวาส จ.นนทบุรี สมัยเมื่อครั้งยังจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) ก็เคยเป็นศิษย์มาศึกษาอยู่กับท่านด้วย

ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2415 ท่านได้ลาสิกขา และได้เข้ารับราชการเป็น มหาดเล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์  กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2419 ท่านเดินทางไปเมืองหงสาวดี รัฐมอญ ซึ่งขณะท่านอยู่ที่เมืองหงสาวดีนั้น ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส มีความพอใจที่จะบวช จึงหันเข้าหาความสงบในร่มกาสาวพัสตร์โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่เมืองหงสาวดี รัฐมอญ ในช่วงนี้เอง ท่านได้พิจารณาเล็งเห็นว่า พระสงฆ์ในเมืองมอญนั้นเกิดความหย่อนยานในพระธรรมวินัย อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของชาวพุทธได้ ท่านจึงได้นำพุทธศาสนา ธรรมยุติกนิกายจากเมืองไทย ไปเผยแพร่ยังบรรดาวัดมอญ ในประเทศพม่าด้วย โดยท่านได้สร้างวัด และโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมขึ้นในเมืองมอญไว้เป็นจำนวนมาก จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศพม่าในนาม “นิกายมหาเย็น”

ท่านได้อยู่จำพรรษาที่เมืองหงสาวดีมาได้ระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย ซึ่งหลังกลับจากเมืองหงสาวดีนั้น ท่านก็ได้จาริกไปที่ต่าง ๆ  มิได้อยู่เป็นหลักแหล่ง ในระยะแรกท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดคลองห้า เมืองธัญญบุรี และวัดต่างๆในเขตเมืองปทุมธานีบ้าง ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดยานนาวา พระนครบ้าง และครั้งสุดท้ายท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบางละมุด เป็นเวลา 2 พรรษา  ต่อมาได้มีผู้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหาเย็น ไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ทรงทราบ พระองค์ทรงตระหนักในพระทัยว่า พระมหาเย็น รูปนี้ เป็นเปรียญผู้ใหญ่ถึง 5 ประโยค มีความชำนิชำนาญในภาษาบาลีเป็นอย่างดี กับทั้งยังมีคุณูปการะแก่พระญาติของพระองค์ด้วย อนึ่ง พระธรรมวิสารทะ(จู สิงโฆ) ซึ่งก็เคยเป็นศิษย์ของท่านเมื่อบวชคราวก่อน ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระคุณวงศ์ และโปรดให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ทางวัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) จึงว่างเว้นจากเจ้าอาวาส การที่จะหาพระภิกษุที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไปปกครองวัดนี้จึงเป็นการยาก เมื่อทรงพิจารณาแล้วก็ทรงเห็นอยู่แต่ พระมหาเย็น รูปนี้ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ พอที่จะบริหารกิจการงานคณะสงฆ์ได้ จึงทรงหารือกับ พระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระมหาเย็น พุทฺธวํโส เปรียญ 5ประโยค เป็นพระราชาคณะที่ พระไตรสรณธัช และโปรดให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล เมื่อปี พ.ศ. 2451 ซึ่งนับเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล รูปที่ 7 และเป็นเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายในยุครามัญนิกาย ก่อนที่จะถูกยกเลิก

กระทั่งในปี พ.ศ. 2459 พระไตรสรณธัช (เย็น พุทฺธวํโส) ท่านได้อาพาธอย่างหนัก และได้ละสังขารลงอย่างสงบ ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุท่านได้ 76 ปี ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล นาน 8 ปีเศษ

Leave a Reply