รายงานพิเศษ:การขับเคลื่อน“โคก หนอง นา” เมือง “ไพร่ฟ้าหน้าใส ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

            หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจดูโคก หนอง นา จังหวัดเพชรบูรณ์เรียบร้อย ทีมงานได้เดินทางไปจังหวัดสุโขทัยตามคำแนะนำของ “พี่สอ” สรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนว่า ที่จังหวัดสุโขทัย เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมทำโคก หนอง นา เป็นจำนวนมาก และที่นี่การดำเนินการค่อนข้างเข้มแข็ง

         “สุโขทัย” เป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชพระโอรสองค์ที่สามของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อาณาจักรสุโขทัยบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทุกด้านหลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบเรื่องเมืองสุโขทัยมากขึ้น คือ ศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดเกล้าให้จารึกอักษรไทยไว้เมื่อ พ.ศ. 1826  ซึ่งมีข้อความปรากฏในศิลาจารึกว่า

          “ไพร่ฟ้าหน้าใส ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า..”

          การเดินทางไปจังหวัดสุโขทัยคราวนี้แม้จะเป็นวันหยุด แต่จังหวัดท่องเที่ยวแห่งนี้ค่อนข้างเงียบเหงา ด้วยสถานการณ์โควิด -19 สถานที่พักหลายแห่งปิดตัวลง ห้ามรับประทานในร้าน โรงแรมที่พักไม่มีผู้คนเข้ามาพักเลยสักคนเดียว ทางโรงแรมต้องแจ้งรายชื่อผู้เข้ามาพักกับจังหวัดทุกคน

         มาจังหวัดสุโขทัยหลายครั้ง ครั้งนี้ดูเงียบเหงาที่สุด!!

       “ทับทิม” ทับทิม ม่วงทุ่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ บอกว่า จังหวัดสุโขทัยมีผู้เข้าร่วมโคก หนอง นา 1,206 แปลง  แยกเป็นระดับตำบล 59 แปลง และครัวเรือน 1,147 แปลง   นักพัฒนาต้นแบบหรือ นพต.จำนวน 636 คน ตอนนี้หลายอำเภอมีการขุดแปลงกันบ้างแล้ว บางอำเภอกำลังจะทำสัญญาจัดจ้างเพื่อขุด เว้นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติจังหวัดสุโขทัยบางแปลงทางกรมพัฒนาชุมชนขออนุญาตแล้ว แต่ช่างไม่กล้าเซ็นรับงาน ตรงนี้ก็ต้องแก้ปัญหาต่อไป

 

        การลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้มี “ทับทิม” เป็นไกร์กิตติมศักดิ์ แต่เนื่องจากจังหวัดสุโขทัยมีการเข้มงวดจากบุคคลพื้นที่เสี่ยงเจ้าจังหวัดมาก คัดกรอง อย่างเข้มงวด การลงพื้นที่ไกล ๆ  อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ทีมงานจึงขอดูแปลงตัวอย่างที่กรมพัฒนาชุมชนสนับสนุนในเขตอำเภอเมือง

        “พี่เจิด”  บรรเจิด เอี่ยมภู่  เจ้าของแปลงโคก หนอง นา ตัวอย่าง บนพื้นที่ 6 ไร่เต็มไปด้วยผัก ผลไม้ ปลาประเภทต่าง ๆ ทั้งปลานิล ปลายี่สก มีเลี้ยงไก่อารมณ์ดีด้วย

          พี่เจิด เป็นเกษตรกรที่เจริญรอยตามศาสตร์ของพระราชามาตั้งแต่เล็ก โดยผ่านการอบรมสั่งสอนมาจากพ่อและแม่ที่ยึดมั่นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อถามถึงว่า ทำไมจึงสนใจหันมาทำโคก หนอง นา พี่เจิดเล่าว่า

        พ่อแม่มีลูก 8 คน เลี้ยงและสอนมาแบบนี้เลย คือ เศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ พอกิน อยู่ใช้ พอร่มเย็น ตามทฤษฎีพ่อหลวง ใจมันรักแบบนี้ด้วย ทำมานานแล้ว ตอนหลังพัฒนาชุมชนลงมาช่วย มาชวน มีการมาเอามื้อสามัคคีกันถือว่าเป็นสิ่งที่ดี อยากทำมานานแล้ว ไปดูงานบ้าง ไปดูโครงการของท่านบ้าง เกี่ยวกับงานพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มันอยู่ที่โอกาสกับงานของเราด้วย นี่ก็พอดีมีโอกาสก็เลยทำและใจมันรัก มันชอบด้วย

         “ผมทำและอยู่แบบนี้มีความสุขมาก ได้อยู่กับธรรมชาติ มีอะไรก็แบ่งปันกัน เราทำแล้ว เราสามารถแบ่งปันให้คนอื่น ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ ไข่ไก่ หรือกล้วย ใครอยากได้มาเลย มาเอาได้เลย  ส่วนรายได้ประจำมาจากการทำนา ปลอดสารพิษ คนส่วนใหญ่ฉีดยา แต่สำหรับนาผมไม่ฉีด เขาได้ไร่ละ 70 ถัง ผมก็ได้ 70 ถังเหมือนกัน เดินตามพ่อหลวง ไม่มีวันอด  ยามท้อแท้ ผมแขวนรูปพระองค์ท่านไว้ จะมองท่าน เหมือนท่านให้กำลังใจเราตลอด เราก็มีกำลังใจ เรารู้สึกแบบนี้จริง ๆ

         ตอนนี้กรมพัฒนาชุมชนก็เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้เรา นำพันธุ์เกล้าผลไม้ต่าง ๆ เข้ามาปลูก ทั้งมะม่วง มะนาว แปลงนี้มีการเอามื้อสามัคคีไปเรียบร้อยแล้ว

        ผมมีอีกบทบาทหนึ่งกับกรมพัฒนาชุมชนคือเป็นผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ซึ่งมี 10 ภารกิจด้วย ก็มีหลายบทบาททั้งประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งอาสาสมัครเกษตร ชอบช่วยเหลือคนอื่นแบบนี้ มีความสุขดี งานถนัดด้วย เว้นพวกสาธารณสุข ไม่ขอเป็น เพราะเราไม่ถนัดที่จะทำ..”

        สิ่งเหล่านี้ได้รับการยืนยันจาก “พี่สว่าง” สว่าง แก้วนิล  ผู้ร่วมเข้าโคก หนอง นา อีกท่านหนึ่งซึ่งแปลงอยู่ไม่ห่างไหลกันมาก ตอนนี้ยังไม่ได้ขุด

        “แปลงของพี่ตอนนี้ยังไม่ได้ขุด แต่ทางพช.แจ้งว่าเร็ว ๆ นี้จะขุดแล้ว ลงสมัครเอาไว้แค่ 1 ไร่ เอาไว้ปลูกผัก ปลูกพืช  ที่กินได้  พวกพันธุ์หน่อกล้วย ตั้งใจจะเอาสวนเจิดเขานี้แหละ ที่นี่ใครมาเอาก็ได้ เจิดให้หมด เขาทำมานานแล้วเศรษฐกิจพอเพียง

        ส่วนตัวพี่เป็นสมาชิก อบต. เดิมที่ดินที่เข้าร่วมโคก หนอง นา ก็ปลูกข้าว แต่ไม่ค่อยได้ผลเท่าไร ก็เลยคิดจะทำสวนผสมผสานปลูกผัก ปลูกผลไม้ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครอบครัว

        ตอนนี้ยังไม่มีคนถอยนะ ที่ตำบลนี้มีประมาณ 18 หรือ 21 ครัวเรือนที่เข้าร่วม ตอนนี้มีแต่คนอยากเข้าร่วมโคก หนอง นา ส่วนบางรายมีทุนก็ทำเอง ขุดเอง ตรงหน้าอบต.ก็มี วันก่อนมีผู้ชายวัยเกษียณคนหนึ่งก็เดินมาถามว่า โครงการนี้ยังสมัครได้อยู่อีกหรือไม่ อยากสมัคร เพราะอยากทำโคก หนอง นา ..”

        จากการเดินทางไปหลายจังหวัดของทีมงานข่าว ต้องยอมรับว่า โคกหนอง นา เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สาเหตุมีหลากหลายปัจจัย แต่ประชาชนส่วนใหญ่เท่าที่ทีมงานพูดคุย บอกตรงกันว่า เพื่อต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่ายให้กับครอบครัว ในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และโครงการนี้มีทั้งพระสงฆ์และนักธุรกิจ ข้าราชการวัยเกษียณเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมากทั้งใช้งบประมาณส่วนตัวและงบของกรมพัฒนาชุมชน       “ฐมวรรณ คำบุศย์”  เป็นข้าราชการเกษียณ กรมที่ดิน มีธุรกิจจัดสรรที่ดิน ภรรยาทำธุรกิจสินค้าโอทอปที่มีชื่อในจังหวัดสุโขทัย ได้เข้าร่วมทำโคกหนอง นา ด้วย ตอนที่ทีมงานลงไปดูพื้นที่ยังไม่ได้เตรียมขุดบ่อหรือปลูกผักอะไร ฐมวรรณ คำบุศย์ บอกกับทีมงานตอนหนึ่ง ในช่วงระหว่างไปดูพื้นที่ขุดบ่อ โคก หนอง นา ว่า

        “ผมเป็นข้าราชการกรมที่ดินเก่า เกษียณออกมาแล้ว ก็ทำธุรกิจที่ดินในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งที่ดินสุโขทัยมีราคาแพง อย่างที่ดินตรงที่เรายืนอยู่ในตำบลบ้านหลุมอำเภอเมืองสุโขทัยนี้ ราคาประเมินไร่หนึ่ง 4 ล้านบาทขึ้น ราคาซื้อขายจริงมากกว่านี้มาก  ผมต้องการทำโคก หนอง นา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน กินอาหารปลอดสารพิษ ตอนอบรมให้ลูกชายไปอบรมแทน 4 คืน 5 วัน หวังว่าอนาคตหากทำสำเร็จก็จะมีสถานที่พักผ่อนและมีแหล่งอาหารพืชผักที่ปลอดสารพิษ”..

         บทบาทภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนถือว่าเป็นบทบาทฝ่าย“บุ๋น” เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนฐานรากที่สุดหน่วยงานหนึ่งในการ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงาน “ปิดทองหลังพระ” มาต่อเนื่อง การปรากฏขึ้นของโครงการโคก หนอง นา ทำให้บทบาทของกรมการพัฒนาชุมชนมีบทบาทเด่นชัด เข้าถึงชุมชนครัวเรือนและประชาชนจับต้องได้ มากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้

        แต่ในขณะเดียวกันคนของกรมการพัฒนาชุมชนทำงานหนักขึ้น รับภาระหนักขึ้น มีความกดดันมากขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและความต้องการของประชาชน ซึ่งต้องปฎิบัติตามระเบียบราชการอย่างเคร่งครัด

Leave a Reply