มหาจุฬาฯร่วมกับเครือข่ายวิจัยมุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไข มุ่งพัฒนาคุณธรรมสามารถจับต้องได้ผ่านพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยขอพิพาทภาคประชาชน และฝ่ายสื่อสารกิจกรรมหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า ร่วมโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายครอบครัวพลังบวกลดความรุนแรงในสังคม ภายใต้สานเสวนาเรื่อง “รวมพลัง ร่วมแก้ไข ปัญหาวิกฤติความรุนแรงในครอบครัว” ผ่านระบบโปรแกรม Zoom เริ่มต้นจากชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงานและทิศทางการทำงานความร่วมมือของภาคีเครือข่าย กล่าวเปิดงานโดยนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวสาระสำคัญว่า ถือว่าเป็นการรวมพลังในการขับเคลื่อนเพื่อการปกป้องแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของทุกคนต้องช่วยกันต้องอาศัยภาคีเครือข่ายร่วมกันในการป้องกันแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นการป้องกันสู่ความรุนแรงในสังคม โดยชุมชนถือว่าเป็นฐานรากในการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว
ครอบครัวไทยต้องไร้ความรุนแรง ถือว่าเป็นโครงการที่สร้างการตระหนักรู้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ถือว่าเป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเครือภาครัฐและเอกชน โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวตระหนักมากในการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ในปี ๒๕๖๔ มีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วยภาวะวิกฤตในปัจจุบันในประเทศไทย จึงมีการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยเครือข่ายมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อการป้องกัน โดยความรุนแรงในครอบครัวซึ่งมีการถูกกระทำส่งผลให้เกิดซ้ำบ่อยๆ เราพยายามใช้การไกล่เกลี่ยเข้ามาเป็นเครื่องมือแต่ยังเกิดความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ เราจะต้องสร้างให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักรู้ร่วมกัน
กระทรวงพยายามจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางเพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่าย มีการสำรวจจากนิด้าโพลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว แต่สิ่งสำคัญเราจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อการป้องกันสอดคล้องกับงานวิจัย โดยใช้ชุมชนเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาและป้องกัน จากการให้คำแนะนำเรื่องครอบครัว โดยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคนเข้ามาปรึกษาเป็นอันดับหนึ่งถือว่ามากที่สุด เราจะทำอย่างไรจะป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว เราจึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามาเป็นเครือข่ายเพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัว จึงเชื่อมั่นว่าการสานเสวนาในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว เราจะช่วยกันไม่นิ่งเฉยให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สะท้อนภาพรวมการขับเคลื่อนครอบครัวบวกไร้ความรุนแรงด้วยพี่เลี้ยงชุมชนผ่านโครงการวิจัย กล่าวสาระสำคัญว่า ทำอย่างไรครอบครัวจะไร้ความรุนแรง เพราะมีความเชื่อว่าคุณธรรมสามารถจับต้องได้ผ่านพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะต่อให้มีสิ่งยั่วยวนยังดำรงพฤติกรรมที่ดีไว้ได้ ไม่จำเป็นกฎหมายมาบังคับ ทำให้ศูนย์คุณธรรมตระหนักเรื่องครอบครัวถ้าเราจะมองมิติด้านคุณธรรมทุกระดับ เช่น การเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์ ปัจจุบันระบบนิเวศเราเปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตของเราเปลี่ยนไป เช่น เด็กติดเกม เราต้องตระหว่าทำอย่างไรจะไม่เกิดความรุนแรง เด็กจะดีจะต้องประกอบด้วยครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา ระบบนิเทศดีหมายถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อ จึงมีการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงในชุมชน ซึ่งสถานการณ์โควิดสะท้อนว่าสังคมเมืองขาดแหล่งที่พึ่งจริงๆ เราต้องสร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็ง “สร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งมีระบบพี่เลี่ยงในชุมชน” ทุกกระทรวงตอนนี้สนใจเรื่องครอบครัวเพราะมุ่งสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวนำไปสู่ชุมชน เราจำเป็นต้องมีระบบพี่เลี้ยงในชุมชน เช่น นักจิตวิทยา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ต้องพัฒนาคนในชุมชน เช่น ค่ายครอบครัวพลังบวก ค่ายไร้ความรุนแรง เป็นต้น โดยพี่เลี้ยงในชุมชนต้องการทักษะที่หลากหลาย การจะสื่อสารอย่างไร ทักษะการบริหารความขัดแย้งบริหารความรุนแรง เราจึงต้องอาศัยภาคีเครือทั่วประเทศ เป็นตลาดนัดคุณธรรม ความดีต้องมีพื้นที่ในสังคม คนดีต้องต้องมีพื้นที่ยืนในสังคม เราจึงมุ่งขับเคลื่อน ๔ จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา เชียงราย สุราษฎร์ธานี เราจึงต้องมีการโชว์ แชร์ เชื่อมกันในการทำงาน เราจึงมุ่งพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรม เรามีการพัฒนาวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม จึงขอบคุณภาคีเครือข่าย วช. ในการสนับสนุนทุนพัฒนาการวิจัยในครั้งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์และคุณกุสุมา พนอนุอุดมสุข นำการสานเสวนารอบที่ ๑ “Open space -Open Mind-Open Network” ประเด็นชวนคุย “บทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กรเครือข่ายในการทำงานเกี่ยวกับการลดความรุนแรงในครอบครัว” สาระสำคัญว่า การจะลดความรุนแรงจะต้องมีความเสมอภาคทางสังคม เมื่อสังคมไม่มีความเสมอภาคจึงเกิดความรุนแรงในครอบครัว จึงมุ่งแสวงความร่วมมือภายใต้เครือข่ายการทำงานร่วมกัน จึงมีศูนย์พึ่งได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งโควิดนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องเพศถือว่ามีความรุนแรงอย่างมาก การทำงานความรุนแรงในครอบครัวอย่าเอากฎหมายมาเป็นที่ตั้งเพราะเป็นเรื่องของครอบครัว จึงควรมุ่งพี่เลี้ยงในชุมชนเน้นการป้องกันมากกว่าแก้ไขเยียวยาหรือการลงโทษ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ การท้องที่ไม่มีความพร้อมถือว่าเป็นรุนแรงที่น่าเป็นห่วงมาก เป็นปัจจัยแห่งการตกงานจำนวนมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งในสังคมเมืองไม่มีใครดูแลใครต่างคนต่างอยู่ พอโควิดเข้ามาทำให้เราเห็นมิติของความรุนแรง เราจึงต้องมุ่งให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง
จากนั้นมีการสานเสวนารอบที่ ๒ “ถอดบทเรียนทักษะการจัดการกับความรุนแรงและการให้ความช่วยเหลือกรณีคนที่ได้รับผลจากความรุนแรงในครอบครัวควรเป็นอย่างไร” โดยมีการแบ่งกลุ่ม Breakout Room ๓ ห้อง ชวนคุยโดย ห้องย่อย ๑ คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง และ รศ.ดร.วรวิทย์ นิเทศศิลป์ ห้องย่อย ๒ คุณกุสุมา พนอนุอุดมสุข และ ดร.สีฟ้า ณ นคร ห้องย่อย ๓ รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ และ ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ ประเด็นชวนคุย รอบที่ ๑ ทัศนคติเชิงบวกกับความเข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ประเด็นย่อย ๑) ความรุนแรงในครอบครัวที่สังคมควรเข้าใจ ๒) ทำอย่างไรเมื่อมีเหตุความรุนแรงในครอบครัว (กรณีศึกษา) ๓) อุปสรรคอะไรที่พบและวิธีการแก้ไขที่นำไปสู่การให้ความช่วยเหลือจนเป็นผลสำเร็จ รอบที่ ๒ การคุ้มครองสิทธิและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ประกอบด้วย ๑) แนวปฏิบัติของท่านหรือองค์การในการให้ความช่วยเหลือ ๒) การสนับสนุนให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าสู่การดำเนินการทางกฎหมายเป็นอย่างไร ๓) ปัญหาอุปสรรคที่พบจากแนวทางที่ท่านและองค์กรได้ดำเนินการรอบที่ ๓ อนาคตภาพยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีฯ เสนอแผนภาพกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองตามพระราชบัญญัติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ประเด็นย่อย ประกอบด้วย ๑)ใครบ้างที่ควรเข้ามาหนุนเสริมกระบวนการช่วยเหลือระดับชุมชน ๒)ทักษะใดบ้างที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะมาหนุนเสริมกระบวนการช่วยเหลือระดับชุมชน ๓)การทำงานร่วมกันเพื่อเสริมพลังในการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ด้วยการเสนอแนะเพื่อต่อยอดสู่แนวปฏิบัติ ผู้ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ จากนั้นกล่าวปิดการประชุม โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
ดังนั้น ในสถานการ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วงมากเกี่ยวกับความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยท่านอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้สะท้อนวิกฤตปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสูงอันดับหนึ่งในตอนนี้ จึงมุ่งเน้นการป้องกันแก้ไข ทำให้ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งมีระบบพี่เลี้ยงในชุมชน โดยมุ่งพัฒนาคุณธรรมสามารถจับต้องได้ผ่านพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงร่วมมือกับเครือข่ายทั่วประเทศในการวิจัยขับเคลื่อนมุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวไทย
Leave a Reply