เดินหน้ายกสติ -สมาธิเป็นฐานปฏิรูปเรียนพุทธในโรงเรียน

          ระหว่างวันที่ 17 -19 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมรอแยล รัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดทำโครงสร้างรายวิชาพระพุทธศาสนาและกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน ซึ่งมี พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.หลักสูตรสันติศึกษา และผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาาชวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนา และรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการและบรรยายพิเศษ ที่มาของกรอบคิดการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน เส้นทางการเรียนรู้ (Mindstone) แห่งการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐานและ (Timeline) การทำงาน การปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาโดยมีสตสมาธิเป็นฐานนั้น ได้เริ่มดำเนินการแล้วในระดับป.1 ป.4 ม.1และม.4 การประชุมครั้งนี้ เพื่อออกแบบหลักสูตรในชั้นป.2 ป.3 ป.5 ป.6 และ ม.3 ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษาต่อไป

         พระมหาหรรษาธมฺมหาโส กล่าวว่า  “ การออกแบบหลักสูตต้องคำนึงในยุคดิจิทัลลักษณะ ร็ว แรง ไว”เพราะเด็กเป็นยุคดิจิทัล คนจัดหลักสูตรต้องเข้าใจความเป็นดิจิทัล การออกแบบหลักสูตรจะต้องสอดรับกับเด็กในยุคปัจจุบันที่สุด สติและสมาธิจึงต้องเป็นฐานของทุกวิชาที่เด็กเรียน ต้องมีการบูรณาการ จะต้องเปลี่ยนชีวิตเด็กทั้งชีวิต สติสมาธิเปลี่ยนโครงสร้างของสมอง ทำไมจะต้องมีสติ เพราะสติสามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิต ผู้ออกแบบหลักสูตรจะต้องปฏิบัติด้านสติและสมาธิ จึงจะมีความลึกซึ้ง สติเป็นตัวสร้างกำแพงป้องกันกิเลส รักษาจิต สติสมาธิทำให้จิตมีความสงบ เด็กมีความนุ่มนวล จึงมีวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมให้เกิด 5 ประการคือ สติ เมตตา สุจริต เคารพ สัจจะ ให้เกิดความเหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงชั้น จะต้องมีการวางวิสัยทัศน์แต่ละหน่วยการเรียนรู้..”

        สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เพื่อดำเนินการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม อันจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนอย่างยั่งยืน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมคุณธรรม จริยธรรม โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการจำนวน 13 คน คือ

–   ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เป็นประธานกรรมการ

–  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มจร. และ นางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นรองประธานกรรมการ

–  กรรมการ 10 ราย คือ ศ.(พิเศษ)ดร.บรรจบ บรรณรุจิ, น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธุ์, นายศิริธัช โรจนพฤกษ์, นายพีระ รัตนวิจิตร, นายศรีชัย พรประชาธรรม, นายจงภพ ชูประทีป, นายอโณทัย ไทยวรรณศรี โดย นายพิเชฏษ์ จับจิตต์ เป็นเลขานุการ รวมทั้ง น.ส.รัตนา แสงบัวเผื่อน และ น.ส.ประภาพรรณ แม้นสมุทร เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยแนวทางการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมกับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

2) กำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การดำเนินการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน

3) ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน

4) ส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการทำงานเชิงบูรณาการด้วยวิธีการที่หลากหลาย

5) กำหนดแนวทางการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานตามความจำเป็นและเหมาะสม

7) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย

           *******************

ขอบคุณเฟชบุ๊ค :At HeaR

Leave a Reply