Buddhist School: พื้นที่สำหรับการสืบสานพระพุทธศาสนาและรักษาอัตลักษณ์ไตขึน

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai ได้โพสต์ข้อความว่า นับจากที่ได้เดินทางไปร่วมสานเสวนาร่วมกับผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ โรงเรียนวัดบ้านแงน และพระสงฆ์ที่สนใจในการปฏิรูปการศึกษาพระพุทธศาสนา ในพื้นที่รัฐฉานตะวันออก เพื่อร่วมกันทบทวน “ระบบและกระบวนการจัดการศึกษา” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการศึกษาให้สามารถตอบโจทย์ในสังคมปัจจุบันให้ได้มากที่สุด เมื่อปลายปี 2562 บัดนี้ได้มีความก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง โดยการพัฒนาจาก “แนวคิด” สู่ “การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ “สร้างโรงเรียน สร้างคน สร้างงาน สืบสานพระพุทธศาสนา รักษาและสืบทอดอัตลักษณ์ไตขึน”

ระหว่างวันที่ 13 – 16 กุมภาพันธ์ 2563 นำคณะเครือข่ายความร่วมมือ บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ มูลนิธิโพธิยาลัย ศิลปินอิสระ และภาคเอกชน ที่สนใจและสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้ง “โรงเรียนปะก๊ะจอง” ที่ “ธาตุม่อนช้าง” ในเอิ่งยางเกี๋ยง เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ เดินทางไปในพื้นที่อีกครั้ง เพื่อสำรวจพื้นเพื่อจัดทำ “มาสเตอร์แพลน” ในการใช้พื้นที่อย่างเป็นระบบ

เราได้แบ่งทีมงานออกเป็น 3 ทีม ประกอบด้วย 1) ทีมสำรวจภาพมุมสูง มี รศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี และคุณณัฐพงษ์ ศรีสุขล้อม เป็นแกนนำ พร้อมทีมศิลปินอิสระและโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา 2) ทีมสำรวจพื้นที่ภาคพื้นดิน นำโดยคณะนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแกนนำ 3) ทีมพูดคุยเพื่อวางแผนฯ มีสุทธิหลวงวัน และ รศ.เพทาย พงษ์เพียจันทร์ เป็นแกนนำ พร้อมคณะสงฆ์เอิ่งยางเกี๋ยง ทีมงานมูลนิธิโพธิยาลัย และบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

ผลการสำรวจพื้นที่จากทีมที่ 1 และทีมที่ 2 ได้ข้อมูลรายละเอียดทั้งภาพถ่ายมุมสูงที่สามารถมองเห็นพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ อย่างชัดเจน รวมถึงได้วัดพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอย่างละเอียด ตลอดถึงพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อกำหนดการใช้พื้นที่ในอนาคตอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ประเภทอยากสร้างอะไรตรงไหนก็สร้าง ซึ่งทำงานกันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย กระทั่งได้ผลงานเบื้องต้นสำหรับออกแบบโรงเรียนในรายละเอียดต่อไป ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมเพื่อสรุปแบบกันที่เชียงใหม่

ด้านทีมพูดคุยเพื่อวางแผนฯ ก็ได้คุยกันในรายละเอียดเกี่ยวกับ:

โครงสร้างการบริหารโรงเรียน ประกอบด้วย

คณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วยพระเถระสังฆะเมืองเชียงตุงเป็นหลัก
คณะกรรมการสถานศึกษา ประกอบด้วยคณะผู้บริหาร ผู้นำชุมชน และผู้ปกครองนักเรียน
คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้อำนวยการ (จองอกสยาดอ) เลขานุการ และครู

การจัดตั้ง

ออกประกาศคณะสงฆ์เมืองเชียงตุง จัดตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการ
เสนอกรมการศาสนา รัฐบาลเมียนมาร์ เพื่ออนุมัติจัดตั้งตามระเบียบ

การเปิดโรงเรียน

วันเปิดโรงเรียน ปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน โดยเชิญคณะสงฆ์เชียงตุง คณะสงฆ์รัฐฉาน แม่ทัพ ผู้แทนกรมการศาสนา ฝ่ายบ้านเมือง และผู้สนใจเข้าร่วม

นักเรียน

ดำเนินการสำรวจฐานข้อมูลนักเรียน (โดยสิทธิหลวง ครูอาสา) เพื่อให้ทราบข้อมูลจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้น ตั้งแต่ชั้นเคจี ตานหนึ่ง สอง สาม สี่ เพื่อการจัดห้องเรียนและครูผู้สอน

ครู

ขั้นตอนการรับครู ให้มีการสำรวจบุคคลากรในชุมชน สัมภาษณ์ ประชุมหารือ และให้มีส่วนร่วมในการออกสำรวจทำฐานข้อมูลนักเรียน
มีการวางแผนการพัฒนาศักยภาพครู ทั้งระยะสั้น ยะยะกลาง (ประกาศนียบัตร) ระยะยาว (ปริญญาด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา)

ด้านการพัฒนากายภาพของโรงเรียน

พื้นที่โรงเรียน
อาคารเรียน
อาคารบริหาร (พักครู)
ห้องสมุด
ห้องประชุม
ห้องพยาบาล
โรงอาหาร
ห้องน้ำ
สนามเด็กเล่น
เสาธง (ธงชาติพม่า พุทธศาสนา ชาติไต)

ด้านหลักสูตรเสริม เน้นให้ผู้เรียนค้นพบศักยภาพของตนเอง หาองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
ประกอบด้วย

ภาษาขึน ภาษาไต ภาษาไทย
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น
หลักสูตรสังฆะ (สามเณร)

ด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โรงเรียน

กำหนดคุณลักษณะของเด็กที่อยากเห็น โดยมีการสำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อศึกษาสภาพปัญหา และความคาดหวัง และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน รวมถึงมีการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

งานแต่ละด้าน ได้มอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบไปดำเนินการต่อ และคาดว่าจะมีสองกิจกรรมสำคัญที่อาจต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาหลักสูตรเสริม (เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาและรักษาอัตลักษณ์ไตขึน) และการพัฒนายุทธศาสตร์ (เป็นเข็มทิศในการขับเคลื่อนโรงเรียน)

ท่านที่สนใจในกิจกรรม “สร้างโรงเรียน สร้างคน สร้างงาน สืบสานพระพุทธศาสนา รักษาและสืบทอดอัตลักษณ์ไตขึน” ก็ติดต่อไปร่วมเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนกันได้ หรือจะแสดงความจำนงในการสนับสนุนได้ ครับ

ขอบคุณภาพ อ่านเพิ่มเติมที่:
ทีมสำรวจ “สร้างโรงเรียน สร้างคน สร้างงาน สืบสานพระพุทธศาสนา รักษาและสืบทอดอัตลักษณ์ไตขึน”

“สืบสานพระพุทธศาสนา รักษาอัตลักษณ์ไตขึน: บทเรียนสู่ประเทศไทย” (2)????????????…

โพสต์โดย Phramaha Boonchuay Doojai เมื่อ วันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2019

Leave a Reply