ส่องเศรษฐีหัวใจพอเพียง! ตอบจดหมาย “บิ๊กตู่” จัดงบฯหนุนไทยฟื้นจากโควิด ตามศาสตร์พระราชา : ดร.มหาสำราญ สมพงษ์ รายงาน
ขณะนี้มหาเศรษฐีไทยจำนวน 20 คนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายเปิดผนึกเชิญมาร่วมมือกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 หลายคนได้ตอบรับพร้อมจำนวนเงินและแผนงานถึงมือพล.อ.ประยุทธ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็มีแนวทางที่แตกต่างกันไปตามพื้นฐานของแต่ละบุคคล
ส่วนแนวทางที่คนในคณะรัฐมนตรีต่างก็ลงความเห็นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางรอดเดียวเท่านั้น ทันทีพล.อ.ประยุทธ์ประกาศเชิญชวนมหาเศรษฐี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee” โดยตั้งหัวข้อเรื่องว่า “แนวทางการปรับตัวภายใต้ภาวะวิกฤตโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเชิญชวนมหาเศรษฐีไทยจำนวน 20 คน โดยระบุว่า
จากที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ทางคณะทำงานของผมได้นำรายงาน 2 ชิ้นของทาง McKinsey & Company มาถอดบทเรียนการรับมือกับโควิด-19 สรุปเรียบเรียงเป็นภาษาไทยไว้ ล่าสุดได้เพิ่มบทความอีก 1 ชิ้น “How to Restart National Economies during the Coronavirus Crisis” โดย McKinsey & Company (เดือนเมษายน 2563) ประกอบกับบทวิเคราะห์ของคณะทำงานของผมร่วมเข้าไปด้วยในชื่อ “ปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่รอดในยุคโควิด-19”
เนื้อหาครอบคลุมมาตรการสำคัญที่แต่ละประเทศใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เครื่องมือในการช่วยประเมินและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง ตลอดจนนัยสำคัญที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้
สำหรับผู้ที่สนใจตามไฟล์นี้ https://drive.google.com/file/d/1o-0Nuw-z7zGba7TrFOCLV8LVvbVbfkob/view?fbclid=IwAR0p8MLYagrq_CFTAkTO_1HCqQQq4zRBDD-D7TpG1nT9mg_1fWpFhmCdLBI
อย่างไรก็ตามตอนท้ายนี้ของรายงานได้สรุปว่า
ก็สอดรับกับความเห็นของพล.อ.ประยุทธ์ คราวเข้าร่วมประชุม สุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยได้เสนอแนวคิดข้อที่ 4. เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2563 ที่ระบุว่า “เสนอให้อาเซียนถอดบทเรียนและประสบการณ์จากการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับ ความท้าทายต่างๆ ที่อาจคุกคามชีวิตของประชาชนในอนาคต โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายในและการพึ่งพาตนเองของภูมิภาคในระยะยาวให้มากขึ้น” https://www.banmuang.co.th/news/politic/188185
และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2563 ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เสนอว่า “ถือโอกาสใช้วิกฤตนี้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ในรูปแบบ “เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ” https://www.banmuang.co.th/news/politic/185643
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมทางไกลเปิดตัว Regional Action Group for Asia Pacific จัดโดย World Economic Forum (WEF) เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการรับมือกับ COVID-19 รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการรื้อฟื้นเศรษฐกิจและสังคมหลังการระบาด COVID-19 ก็ได้ระบุว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี คือการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกทั้งได้น้อมนำปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตระหว่างการเผชิญกับโรคระบาด
ทั้งนี้ตอน 2 ทุ่มกว่าของวันที่ 25 เม.ย.2563 เพจ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee ก็ได้โพสต์ข้อความย้ำอีกครั้งว่า
ความพอเพียงยังคงเป็นคำตอบ ในโลกหลังวิกฤตโควิด-19
จากที่ผมได้นำเสนอเรื่อง 7 รอยปริปั่นป่วนโลก 7 ตราบาปหลังโควิด 7 ขยับเปลี่ยนเปลี่ยนโลก ไปแล้วนั้น แสดงให้เห็นว่าพวกเรากำลังดำรงชีวิตอยู่ใน “โลกที่ไร้สมดุล” ความไร้สมดุลในสภาวะที่พวกเราต้องอิงอาศัยกันมากขึ้นเป็นปฐมบทของความไร้เสถียรภาพ ความไม่มั่นคงปลอดภัย และความขัดแย้งที่รุนแรง ที่สะท้อนผ่านความเสี่ยงและภัยคุกคาม จนกระทั่งก่อเกิดเป็นวิกฤตโลกในที่สุด
วันนี้ผมขอนำบทความใหม่ล่าสุดที่ผมได้เขียนขึ้นมาแชร์ให้กับทุกท่านถึงคำตอบสำหรับโลกหลังโควิด-19
มีผู้รู้กล่าวไว้ว่า “You can’t stop the waves but you can learn to surf.” เราหยุดคลื่นไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้การโต้คลื่นได้ ดังนั้นพวกเราต้องคืนความสมดุลให้กับโลกธรรมชาติ ปรับสมดุลในปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เราจะต้องเตรียมความพร้อม มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทัน ใช้ปัญญา มีเหตุผล รู้จักความพอดี ความพอประมาณ ความลงตัวซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่อยู่ใน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ในหลวงล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ของเราทรงคิดค้นขึ้นมากว่าสามทศวรรษแล้ว
ที่สำคัญในโลกหลังโควิด-19 การกระทำของบุคคลหนึ่ง จะส่งผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้อื่นไม่มากก็น้อย จนอาจกล่าวได้ว่า “จากนี้ไป ผู้คนในโลก สุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน” ครับ
สามารถ Download “โลกเปลี่ยน คนปรับ: ความพอเพียงในโลกหลังโควิด” ได้จากลิ้งค์นี้ครับ https://drive.google.com/file/d/162o8RwMMMuRqtB4y3lWgDfzA5uyaRgYf/view?fbclid=IwAR0yV49VYZ3DR-7Sna6CblZJYysyaSL1Ity0un2bwchrBMP9opJKLSUUrZ8
ดังนั้น จะมาวิเคราะห์ดูว่า จดหมายของมหาเศรษฐีไทยที่ตอบพล.อ.ประยุทธ์นั้นมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง
ล่าสุดนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ตอบจดหมายความว่า สิ่งที่ผมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไปคือ พัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทานเป็นแก้มลิง 4.0 และโครงการเกษตรผสมผสาน
นายเฉลิม อยู่วิทยา หนึ่งในมหาเศรษฐีเมืองไทยที่พล.อ.ประยุทธ์ทำจดหมายขอความร่วมมือ ได้ตอบจดหมายความว่า “ผมและครอบครัวอยู่วิทยาจะให้การสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้น จำนวน 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรกเพื่อทำโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา อาทิเช่น สถาบันอาศรมศิลป์ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในการสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนที่มีเป้าหมายชีวิต เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการฝึกปฏิบัติวิธีการสร้างแหล่งอาหาร เพื่อดูแลตนเองและครอบครัว จาก 100 คนแรกที่ผ่านการบ่มเพาะ จะออกไปแบ่งปันให้กับคนอื่นอีก 100 คน ก่อนที่จะขยายออกไปสู่อีก 100 ชุม ชนใกล้เคียง ด้วยโมเดลการพึ่งพาตนเองแบบนี้จะนำพา คนไทย 1 ล้านคนให้รอดพ้นจากความอดอยากที่เผชิญอยู่ได้ นอกจากนั้นเรายังพร้อมที่จะสนับสนุนที่ดินว่างเปล่าของครอบครัวเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ใช้เป็น ต้นทุนในการเรียนรู้และพัฒนา”
ขณะที่นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นเศรษฐีคนแรกๆได้ที่ตอบจดหมายระบุว่า “ตั้งงบฯไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขุดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ แต่กรณีนี้ต้องให้รัฐบาลยินยอมที่จะให้มีการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ด้วย เมื่อแต่ละจังหวัดมีน้ำใช้เพียงพอ เกษตรกรก็สามารถจะจับปลาไปขาย และมีน้ำไว้ทำนาปรัง เชื่อว่า ปีหน้า ราคาข้าวน่าจะสูงขึ้น เพราะปีนี้น้ำแล้ง ปลูกข้าวไม่ค่อยได้ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์กว่าการเอาเงินไปให้รัฐบาล หรือโรงพยาบาล ซึ่งผู้มีความสามารถหลายคนก็บริจาคกันไปมากแล้ว”
นี้คือมหาเศรษฐีเมืองไทยหัวใจพอเพียง ที่ได้ตอบจดหมายระบุที่จะจัดงบฯหนุนให้ประเทศไทยฟื้นจากโควิด-19 ตามศาสตร์พระราชาหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) ที่จะเป็นฐานของภาวะปกติใหม่ (New normal) และจะเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลก (New Economy) อันจะเป็นทางรอดของมนุษยชาติ ที่ไวรัสโควิด-19มาเตือนและพิสูจน์ให้เห็นว่าเศรษฐกิจทุนนิยมพ่ายแพ้อย่างราบคาบ
Leave a Reply