‘คนไทยไกลบ้าน หัวใจใกล้ธรรม’ บันทึกไว้ในความทรงจำ ติดตามธรรมจาริกของพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร.อธิการบดี มจร : พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผอ.หลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร รายงาน
ความจริงประการหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนในอเมริกาพูดตรงกัน ก็คือ อยู่เมืองไทย พระพุทธศาสนามีความจำเป็นน้อยกว่าในอเมริกา หรือจะกล่าวอีกอย่างคือ ตอนอยู่เมืองไทย เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา แต่วันหนึ่ง เมื่อต้องกลายเป็นคนไทยไกลบ้าน พระพุทธศาสนากลับเป็นสิ่งที่จะต้องเข้ามาช่วยเติมเต็มพลังสติ พลังความเชิ่อ พลังความเพียร พลังสมาธิ และพลังปัญญา
ชีวิตที่ต้องดิ้นรน ต่อสู้ ปากกัดตีนถีบ อีกทั้งต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยวเหงา ขาดเพื่อน พ่อแม่ และญาติมิตรมาคอยทำหน้าที่ในการเติมเต็ม วัดไทย โดยพระสงฆ์ไทย ที่สะท้อนบทบาทและสถานะพุทธแบบไทยๆ จึงมีบทบาทและภาระสำคัญในการเติมเต็มพลังดังกล่าว นอกจากนี้ วัดไทยยังมีหน้าที่คอยช่วยเหลือ และหาทางออกให้แก่พี่น้องคนไทยในประเด็นต่างๆ ด้วยเช่นกัน ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงเอาวัฒนธรรมไทย และวิถีไทยเผยแพร่ออกสู่สายตาของสังคมโลกผ่านวัดต่างๆ ทั่วโลก
15 วันของการติดตามพระเดชพระคุณพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้เห็นคนไทยที่พยายามบูรณาการวิถีไทย วิถีอเมริกา และวิถีพุทธ ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างประสมกลมกลืน วิถีเช่นนี้ จึงเป็น #วิถีใหม่ ที่คนไทยไกลบ้าน ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ผ่านมิติแห่งภาษา วัฒนธรรม และประเพณี จากคนไทยหัวใจแบบท้องถิ่นสู่การการอยู่ร่วมในวิถีแห่งวัฒนธรรมโลก (Local Culture to Global Culture)
เส้นทางการเดินทางตั้งแต่เมือง San Antonio มลรัฐเท็กซัส ภายใต้การดูแลอุปัฏฐากของคุณหมอโรคหัวใจนามณัฐพงศ์ และโยมอุบลวรรณ ศรีเจริญ พร้อมทั้งญาติโยมคนไทยวัดศรัทธาธรรม นำโดยพระครูสุตธรรมวิเทศ,ดร. ที่รับภาระจัดงานประชุมสมัชชาสงฆ์ไทย แล้วจัดพิธีผูกพัทธสีมา กิจกรรมต่างๆ ที่พระสงฆ์พร้อมทั้งญาติโยมได้ร่วมดำเนินการนั้น นับเป็นการสะท้อนวิถีพุทธแบบดั้งเดิมผสานวิถีไทยให้เจริญและขยายตัวในวิถีอเมริกา
หลังจากนั้น เมื่อเดินทางไปวัดพุทธาวาส เมืองฮุสตัน ซึ่งเป็นวัดของพระเดชพระคุณพระเทพพุทธิวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทย ในสหรัฐอเมริกา ก็ยิ่งเห็นคุณค่าพุทธแบบวิถีไทยที่ใช้วัดเป็นแหล่งเชื่อมสมานคนไทยไกลบ้านได้อย่างแจ่มชัด วัดพุทธาวาสจึงเป็นพื้นที่ให้พระสงฆ์จากทั่วโลกได้เดินทางมาพักพิง และเปิดพื้นที่ให้ญาติโยมคนไทยได้มากราบไหว้สนทนาธรรม อันเป็นการสะท้อนธรรมมงคลที่ว่า “การพบเห็นสมณะ เป็นมงคลอย่างสูงสุด” แล้วเอามงคลนั้นไปขยายผลเป็นแรงกายแรงใจในการสู้ชีวิตต่อไป
การปฏิบัติศาสนกิจของพระเดชพระคุณพระราชปริยัติกวี เพื่อให้กำลังใจ พระสงฆ์ไทย และญาติโยมคนไทยไกลบ้านได้ขยายพื้นที่จากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ โดยได้พบปะพระสงฆ์ และญาติธรรมของวัดในสังกัดวัดปากน้ำ ซึ่งพระเดชพระคุณ เจ้าประคุณสมเด็จมหารัชมังคลาจารย์ได้ให้การอุปถัมภ์ดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อตั้ง จนถึงการเฝ้าติดตามเอาใจใส่จนถึงปัจจุบัน
วัดแห่งแรกของวัดปากน้ำในต่างประเทศ จึงเริ่มจากวัดมงคลเทพมุนี ตั้งอยู่ในรัฐเพนซิวาเนีย เมืองฟิลาเดเฟีย ซึ่งปัจจุบัน #พระราชมงคลวิเทศ หรือ #อาจารย์เจ้าคุณน้อม ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์หรือเป็นเจ้าอาวาสดูแลเอาใจใส่ วิถีของวัดจึงเป็นการถอดเอาวิถีเดียวกันกับวัดปากน้ำในกรุงเทพฯ ไปเป็นต้นแบบของการประพฤติปฏิบัติ ทั้งการสวดมนต์ การปฏิบัติกรรมฐาน การปกครองสงฆ์ รวมถึงวิถีโดยรวมของญาติธรรมจึงเป็นวิถีเดียวกับวัดปากน้ำ ฉะนั้น หากคิดถึงวัดปากน้ำในอเมริกา และถวิลหาคุณค่าเด่นตามแบบดั้งเดิม วัดมงคลเทพมุนี หรือหลวงพ่อสด จึงเป็นคำตอบให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ซึมซับวิถีแห่งสายธรรมตามแนววัดปากน้ำ
ในขณะเดียวกัน เพื่อมุ่งตอบโจทย์วิถีพุทธวิถีธรรมตามแนวปณิธานหลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงมีการขยายสาขาของวัดออกไปอีก 2 รัฐ กล่าวคือ #วัดปากน้ำอเมริกา รัฐโอไฮโอ โดยมี #พระวิเทศวิสุทธิคุณ เป็นเจ้าอาวาส และ #วัดปากน้ำมิชิแกน รัฐมิชิแกน โดยมี #พระศรีญาณวิเทศ เป็นเจ้าอาวาส ทั้งสองวัดล้วนได้รับการเอาใจใส่และสนับสนุนจากวัดแม่ที่อยู่ในเมืองไทย โดยมีวัดมงคลเทพมุนี เป็นฐานสำคัญ หรือเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุน และเติมเต็ม สาขาทั้งสองแห่งดังกล่าว
รูปแบบการขยายพื้นที่ของธรรมะจากไทยสู่คนไทยหัวใจไกลบ้าน ของวัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงอีกหนึ่งรูปแบบที่ควรค่าแก่การศึกษา วิเคราะห์ และวิจัย การมีรากฐานที่ดีงามที่สะท้อนและเน้นหนักในวิถีแห่งการปฏิบัติธรรม จึงเป็นคุณค่าที่โดดเด่นของวัดแห่งนี้ จะเห็นว่า ทั้งวัดมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำอเมริกา และวัดปากน้ำมิชิแกน จะมีคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการมุ่งสู่พิธีกรรมแบบพุทธไทย วัดยังได้นำลงสู่การปฏิบัติ โดยนำแนวทางหลวงพ่อสดแบบดั้งเดิมมาเปิดนำปฏิบัติ และให้อารมณ์กรรมฐาน ผ่านเสียงของหลวงพ่อสด หรือหลวงพ่อมงคลเทพมุนี
โดยนัยยะนี้ พระสงฆ์ไทย จึงนำคนไทยไกลบ้าน ได้เข้าใกล้ธรรมอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ความเป็นคนไทยไกลบ้าน แต่จิตใจไม่เคยห่างธรรม อาศัยเหตุแห่งการรักษาธรรมนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ธรรมะกลับมาตามรักษาให้คนไทยไกลบ้าน มีพลังสติปัญญาในการต่อสู้ และใช้ชีวิตในต่างแดนด้วยความมุมานะบากบั่น ยามใดเหน็ดเหนื่อย และเปลี่ยวเหงาท้อแท้ ยามใดต้องการใครสักคนคอยให้กำลังใจช่วยเหลือ วัดไทยไกลบ้าน จึงทำหน้าที่เป็นสะพานคอยชาวเหลิอคนไทยไกลบ้านให้เข้าใกล้ธรรม และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพที่พึงมีและพึงเป็น จนถึงวันกลับมาอยู่เมืองไทย หรือใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในต่างแดนตราบสิ้นลมหายใจฯ
15 วันแห่งการเดินทางในสหรัฐอเมริกา จึงเป็น 15 วันแห่งการจาริกบุญและจาริกธรรม การเดินทางจึงเป็นการปฏิบัติธรรม ทั้งได้เห็นธรรมที่พระสงฆ์ และคนไทยไกลบ้านได้ปฏิบัติ ทั้งได้ปฏิบัติธรรมผ่านการเรียนรู้ธรรมตลอดสองข้างทางผ่านวิถีชีวิตมากมายที่เข้ามาพบปะและเรียนรู้ ธรรมะ และพระพุทธศาสนาในสายตาคนบางคนอาจจะไม่มีค่ามีราคา แต่สำหรับคนไทยไกลบ้านแล้ว มีค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะการเห็นคุณค่าของชีวิตโดยมีธรรมเป็นแรงกระตุ้นนั้น จึงเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนไทยไกลบ้านได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีราคาในสังคมที่เจริญด้วยวัตถุนิยมและบริโภคนิยม
Leave a Reply