พระภิกษุประพฤตินอกรีต..เกิดจากศึกษาพระวินัยไม่เพียงพอ??

วันที่ 11 เม.ย. 67 พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป,ป.ธ.9,ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรบาลีพุทธศาสตร์ มจร ได้โพสต์ข้อความว่า ปัญหาพระสงฆ์มาจากไม่ศึกษาพระธรรมอย่างเพียงพอ เรื่องความประพฤติเสียหายทางวินัยของพระภิกษุ ปรากฎเป็นข่าววันละสองเรื่องใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากการไม่เอาธุระศึกษาพระวินัยปิฎกให้ รู้ครบ-ทรงจำ-แตกฉาน

เคยมีพระมหาเปรียญ 9  รูปหนึ่งที่เป็นหนึ่งในผู้ตรวจชำระพระวินัยปิฎก กล่าวว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยตัดสินพระวินัย ไม่เคยตัดสินใคร แสดงว่าเรียนแต่อรรถกถา ไม่เคยอ่านวินีตวัตถุ (คดีที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระวินัยเอง) ในวินัยปิฎก ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า

1)หลักสูตรบาลีสนามหลวง มุ่งแปลอรรถกถาพระวินัย ไม่ได้สร้างองค์ความรู้ครบถ้วนจากพระวินัยปิฎก ขาดเนื้อหาสำคัญ ไม่ครบถ้วน จึงเข้าใจกระท่อนกระแทน องค์ความรู้ทางวินัยไม่ครบ

2)ตัวอาจารย์ผู้สอนไม่ได้มีองค์ความรู้อย่างเพียงพอในพระวินัย นอกจากความรู้ด้านการแปลภาษาบาลี

3)แม้จบเปรียญ 9 อ่านพระวินัยปิฎกได้ แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าได้ศึกษาครบถ้วนถูกต้อง จึงเข้าใจผิดเช่นนั้น

4)การศึกษาขาดระบบมุขปาฐะ ความทรงจำในพระวินัย ทำให้ไม่รู้ใน ตัวสิกขาบท รายละเอียดบัญญัติ อนุบัญญัติ มาติกาหัวข้อ องค์ประกอบ อนาปัตติวาระ ข้อยกเว้น

5)ขาดความรู้ในการวิเคราะห์ด้วยความรู้ที่สืบเนื่องมาจากมุขปาฐะ คือนำไปขบคิด ไตร่ตรองด้วยดีแทงตลอดด้วยทิฐิ (มนสานุเปกฺขิตา)

6)ขาดความเข้าใจทั้งโดยภาพรวมในพระวินัย และภาพย่อยลึกในรายละเอียดปลีกย่อย ทำให้ได้ข้อสรุปผิด (พหูสูตรไม่มี)

7)ขาดความเชี่ยวชาญ( ธตา วจสา ปริจิตา ทรงจำขึ้นใจคล่องปาก)

8)ขาดความรู้ในวิชาประกอบศึกษาพระไตรปิฎก คือ ไวยากรณ์ ที่ครอบคลุมเนื้อหาตัวบทพยัญชนะ ไม่เข้าใจความหมายศัพท์อย่างลึกซึ้ง และไม่เข้าใจอรรถ(ความหมายศัพท์และประโยค)

9)ขาดความศรัทธาในศาสนา ไม่เชื่อในคำสอน ไม่เห็นสาระสำคัญของการศึกษาพระไตรปิฎก จึงไม่นำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และนำไปสู่การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

10)ขาดการเข้าถึงธรรม บรรลุ ฌาน วิปัสสนา มรรคผล นิพพาน อันเป็นสามัญญผล (ผลแห่งการเป็นนักบวช) เป้าหมายของการบวชอย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้คือ ตัวชี้วัดการเข้าถึงพระไตรปิฎก ทั้งในด้านการศึกษา ความรู้ในธรรม การปฏิบัติ และการบรรลุผล ล้วนแล้วแต่มาจากการได้ศึกษาพระไตรปิฎก อย่างมีระบบแบบแผน..

Leave a Reply