มหาดไทยเดินหน้าขับเคลื่อนผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ด้านปลัด มท. เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ – นายอำเภอ ต้องสร้างทีมภาคีเครือข่ายในพื้นที่บูรณาการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนกระบวนงานให้เกิดฐานข้อมูลนำไปสู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
เมื่อเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงและให้ความรู้การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายปรีชา เดชพันธ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference และ DOPA Channel ร่วมกับผู้ว่าราชการทุกจังหวัด และนายอำเภอ ทั่วประเทศ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ในการร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 62 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมดังพระบรมราชโองการ“ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในหลายมิติด้วยกัน เฉกเช่นที่พวกเราพยายามกระตุ้นปลุกเร้า ส่งเสริมให้นายอำเภอ และทีมอำเภอ ได้เป็น Change Agent ตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน จึงเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า พวกเราทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจทำงานด้วยการบูรณาการความร่วมไม้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อจะยังประโยชน์สุขไปสู่พี่น้องประชาชนโดยรวม สมดังเจตนารมณ์ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคง และที่สำคัญที่สุด “ต้องยั่งยืน”
“การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) จะช่วยนำเราไปสู่เป้าหมายการปฏิบัติภารกิจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงนั้น ก็เพราะว่าการใช้ชีวิตของพวกเราตั้งแต่บรรพบุรุษ อาจจะเผลอกระทำ หรือตั้งใจกระทำ โดยที่ไม่ได้เจตนาหรือคิดว่าจะกลายเป็นสิ่งผิด เช่นเราปล่อยปะละเลยในการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลอง ไม่ปลูกสร้างสิ่งรุกล้ำทางน้ำ ไม่ทำสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ เพราะเราเจตนาอยากทำให้พี่น้องประชาชนมีความสะดวกในการเดินทางสัญจรด้วยการสร้างถนน ซึ่งถนนบางสายก็ไม่ได้มีระดับสูงกว่าแม่น้ำ เท่านั้น แต่ก็ยังมีระดับสูงกว่าหลังคาบ้านเรือนประชาชนด้วย นั้นเป็นสิ่งที่เราทำให้เกิดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพราะเป็นถนนที่เราสร้างข้ามลำห้วยลำคลองข้ามแม่น้ำสายเล็กๆ เราไม่ได้ทำให้พื้นที่ใต้ถนนให้มันมีทางที่น้ำจะสามารถไหลผ่านได้โดยสะดวก หรือในบางพื้นที่ ประชาชนก็ไปสร้างบ้านริมถนนไปถมดินเชื่อมถนนทับทางน้ำและไม่ได้ใส่ท่อระบายน้ำ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้ตั้งใจ เพราะเขาไม่รู้ เฉกเช่นเดียวกับผลกระทบของแนวทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มุ่งยกระดับการพัฒนาโดยไปส่งผลกระทบทำให้ชาวไร่ชาวนาไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ สูญเสียที่ดินทำไร่ทำนาที่ตกทอดมา หรือมีผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา ซึ่งก็เป็นความไม่เจตนา จึงถึงเวลาที่พวกเราต้องช่วยหาแนวทางในการ “แก้ไขในสิ่งที่ผิด” มุ่งมั่นตั้งใจเป็นข้าราชการที่ดีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการปลุกไฟในหัวใจของตัวเองขึ้นมา และยอมรับว่าประเทศไทยก็ยังมีสิ่งที่ผิดอยู่ และพวกเราต้องร่วมกันขับเคลื่อนในการแก้ไขสิ่งที่ผิดนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญผู้มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันศึกษาวางระบบเพื่อทำให้ประเทศไทยได้มีฐานข้อมูลในเรื่องแหล่งน้ำและที่อยู่ของน้ำตามสภาพข้อเท็จจริงที่เคยเป็นมาตั้งแต่ในอดีตจากผู้ที่รู้จริง นั่นคือ “พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/ตำบล/หมู่บ้าน” เพราะเขารู้ว่าที่ไหนเคยมีหนองน้ำ ร่องเขาตรงไหนเคยมีทางน้ำผ่าน รวมทั้งการทำทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจส่งผลกระทบทำให้แหล่งน้ำนั้นสูญเสียไปอย่างไร โดยการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งการจะเข้าใจ เข้าถึงได้นั้น ข้าราชการในฐานะที่เป็นผู้นำ ต้องไปช่วยกันทำไฟในใจของเราให้ลุกโชนขึ้นมา เพื่อต่อไฟไปจุดในใจของพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคี ให้ช่วยกันลงมือทำให้เรามีสิ่งที่เป็นองค์ความรู้เพื่อใช้ในการศึกษาและเข้าใจข้อเท็จจริง นำไปสู่แนวทาง (Solution) ที่จะวางแผนพัฒนาร่วมกันแก้ไขในสิ่งที่เคยทำผิดพลาดในอดีต แล้วลุกขึ้นมาร่วมกันทำต่อไปในอนาคตอันใกล้ “จึงเป็นจุดเริ่มต้น” ที่จะทำให้เราสามารถเดินหน้าได้ด้วยความถูกต้อง ด้วยการศึกษาทำความเข้าใจองค์ความรู้และนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรให้กับทุกจังหวัดอย่างจำกัดไปสนับสนุนการทำงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดยไม่คิดว่าข้อจำกัดเหล่านั้นจะทำให้เราทำงานไม่สำเร็จ ซึ่งเราจะต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่อยากให้เกิดการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “คน” ต้องปลุกอุดมการณ์การเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาย้ำเตือนตนเองและมุ่งมั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดจากการพัฒนาเมืองที่เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรต่างๆ จากอุทกภัยหรือน้ำท่วม ไม่ต่ำกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ไม่นับรวมผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะความเสียหายองค์รวมนั้นมีมูลค่ามากยิ่งกว่านั้น โดยจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ขณะนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ได้มีความห่วงใยและดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วยการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือกรอบวงเงินเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็ยังไม่รวมความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้ง และภัยอื่นๆ ที่ส่งผลทำให้พืชพรรณผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบ
“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพวกเราชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเคยเตือนสติพวกเราทุกคนไว้ว่า “เวลาน้ำท่วมหรือเวลาน้ำมาก เราพยายามที่จะระบายน้ำให้ออกไปจากพื้นที่เร็วๆ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้แต่พอสูบน้ำ ระบายน้ำออกไปเสร็จแล้ว จากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมก็กลายเป็นไม่มีน้ำให้ใช้บริโภค จึงทำให้เราต้องหาน้ำไปช่วยเหลือในหน้าแล้ง เกิดเป็นความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้ง” ดังนั้นจึงต้องช่วยกันคิดหาพื้นที่กักเก็บน้ำในหน้าฝน เพื่อน้ำก็จะไม่ท่วม ในขณะเดียวกันในยามหน้าแล้งเราจะมีน้ำใช้ ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์ 2 ต่อ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การจุดไฟในใจของผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ที่เป็น “ผู้นำ” ที่ประชาชนให้ความศรัทธาเชื่อมั่น เพื่อทำให้ทุกท่านได้มุ่งมั่นตั้งใจสร้าง “ทีมงาน” ในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ในการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน และนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาสู่ระบบการวางแผนให้เกิดแผนองค์รวม คือ สามารถเห็นภาพตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อที่จะกำหนดจัดทำเป็น Road Map ว่าเราจะบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ “แก้ไขในสิ่งที่ผิด” และ “ก่อให้เกิดความยั่งยืน” ได้อย่างไร โดยต้องอาศัยการบูรณาการทีม บูรณาการงาน บางเรื่องอาจต้องบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนอำเภอแผนจังหวัด แผนภาค จนถึงแผนระดับกระทรวง แผนระดับชาติ ผ่านระบบกลไกที่มีตามอำนาจหน้าที่โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลที่ต้องมาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มาจากคนที่รู้และเข้าใจจริง โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ และทีมงานทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และจิตอาสา หมั่นลงพื้นที่ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาดต้องเข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงหัวใจ ชาวบ้าน เพื่อรวบรวม ประมวล วิเคราะห์ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการคือ “ข้อมูลที่ถูกต้อง” เพื่อนำไประดมสมองว่าเราจะช่วยกันแก้ไขสิ่งผิด ด้วยการการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริตามศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาอย่างไร โดยที่ไม่ต้อง “งอมืองอเท้า รองบประมานจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว” ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยภาวะผู้นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ในการหลอมรวมจิตใจภาคีเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนเอง ใช้ศักยภาพของตนเอง ทำให้ลำห้วยลำธารที่ตื้นเขินกลับมาเป็นแหล่งน้ำที่ทำให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กระตุ้นปลุกเร้าและทำให้ “ทีมอำเภอ” ตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนที่ได้ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 432 อำเภอ เร่งบูรณาการคน บูรณาการงาน และไม่บ่ายเบี่ยงเกี่ยงว่ามีงานใหม่เข้ามา เพราะงานที่เรากำลังทำนี้ ทีมงานอำเภอที่ประกอบด้วยภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีต้องผนวกกับเทคโนแครต ซึ่งเป็นทีมงาน Extra Team รวมทั้งขยายผลจัดตั้งทีมเพิ่มขึ้นในหมู่บ้าน ทั้งการอาศัยผู้นำจากคุ้มต่างๆสร้างให้เกิด Partnership ตามข้อที่ 17 ของ UN SDGs คือ การวางระบบให้เกิดความร่วมมือระหว่างคนที่มีกลุ่มบ้านเดียวกัน มาเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรในการขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” ด้วยกัน อันมีนัยสำคัญว่า ชาวมหาดไทยจะบรรลุเป้าหมายการมี Geo – Social Map Partnership ร่วมกับเทคโนแครต คือ บุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมือง ท่านโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด วิศวกร สถาปนิก และนายช่าง เป็นต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องออกแรงช่วยกันกับคนในพื้นที่ หัวหน้าช่างในพื้นที่ ช่างที่อยู่ในท้องถิ่นท้องที่ต่างๆ จึงจะเห็นได้ว่า จากเดิมเรามี 7 ภาคี ตอนนี้เพิ่มเป็น 8 ภาคีเครือข่าย เป็น extra ขึ้นมา อันจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด คือ ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยฐานข้อมูลที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสุขของพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างยั่งยืน
Leave a Reply