มารู้จักประวัติปอยส่างลอง

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๖  ระหว่าง วันที่ ๒๒-๒๔ เมษายน ๒๕๖๖ ที่วัดในสอย ตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสามเณรบรรพชาตามประเพณีปอยส่างลองในจำนวนกว่า ๕๐ องค์ ซึ่งเป็นประเพณีบรรพชาสามเณรที่สอบทอดกันมานาน จนหลายคนอยากรู้จักว่า “ปอยส่างลอง” คืออะไร  เราจะไปทำความรู้จักคำว่าปอยส่างลอง ดังนี้

ในสมัยพุทธกาล มีพระเจ้าปกครองเมืองหย่าจ่าโกย่ (เมืองราชคฤห์) มีความตั้งใจจะให้โอรสของพระองค์นามว่า จิ๊กต๊ะมังซา บวชอยู่ในพระบวรพุทธศาสนา ไม่อยากให้โอรสเป็นกษัตริย์ปกครองเหมือนพระองค์จึงนำโอรสไปมอบให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมกับพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้ทำพิธีบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป กอปรกับความตั้งใจของพระโอรสเองด้วย

ก่อนถึงกำหนดเวลาทำการบรรพชาเป็นสามเณรได้นำพระโอรสไปแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาด้วยเครื่องทรงของกษัตริย์ (ที่มาของส่างลอง) เสร็จแล้วจัดให้มีการแห่แหนจัดงาน มีการกินเลี้ยงอาหารแก่ข้าราชบริพารชาวบ้านเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงนำไปกระทำเป็นพิธีบรรพชา “ส่างลอง” ถือเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ขณะเป็นส่างลองจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษและอย่างใกล้ชิดจะต้องขี่คอไม่ให้ติดดิน ต้องนั่งบนพรมมีหมอนอิง ไปไหนตะแปส่างลองต้องอุ้มไป ดูแลมิให้คลาดสายตา ซึ่งเป็นความเชื่อตามวรรณกรรมไทยใหญ่
ในเรื่องอะหน่าก้าดตะหว่าง

ปอยส่างลอง เป็นภาษาไทยใหญ่เกิดจากคำสามคำมาสมาสกัน คือคำว่า “ปอย” แปลว่า งาน “ส่าง” เพื้ยนมาจากคำว่า “สาง” หรือ “ขุนสาง” หมายถึงพระพรหม หรืออีกความหมายมาจากคำว่า“เจ้าส่าง” หมายถึง “สามเณร” ส่วนคำว่า “ลอง” มาจากคำว่า “อลอง” แปลว่า พระโพธิสัตว์ ดังนั้น “ปอยส่างลอง” ก็คืองานบวชของลูกแก้วของชาวล้านนาประเพณีบวชส่างลองของชาวแม่ฮ่องสอน เปรียบเทียบได้กับประเพณีการบวชลูกแก้วของชาวไทยล้านนาทั่วไป ถือเป็นการจำลองเหตุการณ์เรื่องราวในพุทธประวัติซึ่งชาวไทยใหญ่เลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ประเพณีบรรพชาอุปสมบทของชาวไทยใหญ่จึงจัดอย่างใหญ่โตมโหฬาร

ปอยส่างลองถือเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะจัดให้มีขึ้นปีละครั้ง และจัดทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ แต่ไม่จัดพร้อมกัน จะเกิดขึ้นทั้งจังหวัด ๔ – ๕ แห่ง หรือบางปีมากกว่านั้น สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามความพร้อมของเจ้าภาพ สามารถมาชมกันได้ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน (ช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดภาคเรียนใหญ่) เพราะผู้ที่จะเป็นส่างลอง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กนักเรียน ประกอบกับเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากงานในไร่นา มีอาหารสมบูรณ์ ฝนไม่ตก สะดวกในการจัดงาน

ประเพณีนี้ จำลองแบบมาจากพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช จึงต้องแต่งกายส่างลองกันให้สง่างาม ตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดา ทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศีรษะโพกด้วยผ้าแพรและประดับด้วยดอกไม้ มีคนคอยกางร่มทองคำกันแดด มีพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแลส่างลองอย่างใกล้ชิด ซึ่งจัดงานเป็นประจำทุกปีแสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาของชุมชนท้องถิ่นชาวไทใหญ่ ตลอดจนเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่เป็นเอกลักษ์ให้คงอยู่สืบไป โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง (แห่ครัวหลู่) นับได้ว่ามีความสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไทใหญ่ หรือชาวไต อย่างแท้จริง

ในครั้งนี้จัดงานในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ เมษายน ๒๕๖๖ ที่วัดในสอย ตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีสามเณรบรรพชาตามประเพณีปอยส่างลองในครั้งนี้จำนวนกว่า ๕๐ องค์ ที่เกิดจากแรงศรัทธาของบิดา มารดาของคนไต (ไทใหญ่) ที่ยึดมั่นในบวรพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง สนับสนุนให้กุลบุตรอุทิศตนบรรพชาในพระพุทธศาสนา และได้เป็นผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่ โดยสละสิ่งของเงินทองที่เป็นทรัพย์ภายนอก เพื่อสนับสนุนกุลบุตรให้ได้มีโอกาสพบอริยทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนา โดยการบรรพชา เพื่อเสียสละ ความสุขลาภยศสรรเสริญ มุ่งสู่พระนิพพาน

โดยในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๖ เป็นวันรับส่างลอง/เรียกขวัญส่างลอง ปลงผมส่างลอง (จางลอง)และแห่ส่างลองเพื่อขอขมาพระสงฆ์/สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ศาลเจ้าเมือง) ณ วัดในสอย ขอขมาผู้ใหญ่บ้าน และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่เคารพนับถือ วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๖ เคลื่อนขบวนแห่สามเณรการแห่เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารต่าง ๆ(ครัวหลู่) พิธีผูกข้อมือรับขวัญส่างลองเพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ได้ผูกข้อมืออวยพร ให้พรแก่ส่างลอง และพิธีบรรพชาสามเณร (ข่ามสาง) ตามประเพณีของชาวไทใหญ่ วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๖ พิธีบรรพชาอุปสมบท (ข่ามจาง) ณ วัดในสอย

ที่มาข้อมูลประเพณีปอยส่างลอง ​: หนังสือปอยส่างลองของกระทรวงวัฒนธรรม

Leave a Reply