มหาดไทยจับมือคณะสงฆ์ ขับเคลื่อนแก้ความยากจนยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปลัดกระทรวงมหาดไทยประชุมร่วมคณะสงฆ์และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เน้นย้ำทุกคนคือความหวังในการช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันที่ 2 เมษายน 2565 เวลา 14:30 น. ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นาโมเดล (CLM) “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ บ้านดอยฮางใน หมู่ที่ 1 ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนงานตามนโยบายการขับเคลื่อนงานตาม MOU ด้านสาธารณสงเคราะห์ ระหว่างมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับคณะสงฆ์และส่วนราชการจังหวัดเชียงราย โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายทวี เสริมภักดีกุล อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทีม Change for Good กระทรวงมหาดไทย ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยได้รับเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย พระครูขันติพลาธร เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย พระครูพิศาลธรรมาทร เจ้าคณะอำเภอเชียงแสน พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช เจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยาน (ดอนอินทรีย์) พระวีระยุทธ์ อภิวีโร พระสังฆาธิการ และพระเถระจากอำเภอต่าง ๆ ร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นความโชคดีของพุทธศาสนิกชนรวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ที่นับตั้งแต่เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระบัญชาแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าประคุณสมเด็จฯ และพระมหาเถระในฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้นำคณะสงฆ์ให้เกิดความตื่นตัวในการที่จะช่วยสงเคราะห์ญาติโยม ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของทางธรรมอย่างเดียว แต่รวมถึงสงเคราะห์ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย โดยได้เมตตาให้กระทรวงมหาดไทยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคณะสงฆ์ ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนในสังคมได้ช่วยกันโดยอาศัยพลังความรัก ความสามัคคี ตามหลัก “บวร” คือ บ้าน (พี่น้องประชาชน) วัด (คณะสงฆ์) และราชการ (ส่วนราชการต่าง ๆ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ผนึกกำลังช่วยกันทำงานตอบแทนบุญคุณแผ่นดินในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชนทั่วราชอาณาจักร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น คนที่แย่ให้ดีขึ้น อันส่งผลทำให้เกิดการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ อาหารการกินที่ปลอดภัย มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง ลูกหลานได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ทุกคนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและครอบครัว และมีโอกาสสร้างคุณประโยชน์ให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล ท้องถิ่น และประเทศชาติ และประการสำคัญ ต้องมีศีลธรรม มีจิตอาสา เสียสละเพื่อช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือชุมชน/ หมู่บ้าน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ มีเยอะก็ไม่รู้จักแบ่ง และเมื่อผู้คนมีความรัก ความสามัคคี เป็นคนดี ก็จะทำให้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราดีไปด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ไม่ทรงทอดทิ้งศาสนิกชนใด จึงทรงมีหลักการทรงงานที่ได้พระราชทานให้แก่ข้าราชการ ประชาชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำศาสนา ต้องผนึกกำลังเพื่อ Change for Good ให้เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้เป็นผู้นำและให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งเรื่องบูรณาการงานอบรมประชาชนกลาง หรือ อ.ป.ก. โดยให้คณะสงฆ์ออกไปพูดคุยกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีดวงตาเห็นธรรม เป็นฆราวาสที่ดี ดูแลครอบครัว และยกระดับต่อยอดสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลในขณะนี้ คือ การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วยวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าให้กับประชาชน และอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลผู้ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มเติม โดยหากคณะสงฆ์ได้พบเจอผู้คนที่เดือดร้อน ขอให้ได้แจ้งไปยังนายอำเภอผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ “ความยากจน” คือ ความเดือดร้อนทุกประเภทที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองได้ ไม่ได้มีนัยยะแค่ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน แต่หมายรวมไปถึงเรื่องการป่วยเรื้อรังแล้วไม่มีคนดูแล ไม่มีกำลังที่สามารถไปหาหมอได้ หรือแม้กระทั่งสายตายาว สายตาสั้น ไม่มีเงินไปตัดแว่น เดินไม่ได้เพราะชราภาพมากหรือป่วยติดเตียง ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน มีลูกหลานติดยาเสพติด จึงเป็นโอกาสดีที่นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอจะได้ร่วมกับเจ้าอาวาสวัดในทุกชุมชนช่วยกันสงเคราะห์พี่น้องประชาชน รวมไปถึงบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือดำเนินโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นโดยความเมตตาของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทั้งด้านสุขภาพ พลานามัย และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เราต้องการให้มีขึ้นในสังคมของเรา เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมเชิงพุทธ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้พระมีสุขภาพที่แข็งแรง วัดมีความมั่นคง ชุมชนก็มีความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อส่วนรวม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำให้นายอำเภอได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการกำกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปขับเคลื่อนทำให้วัดเป็นแหล่ง ครู คลัง ช่าง หมอ ด้วยการอบรมสั่งสอน เป็นคลังอาหาร สรรพวิทยาการ โดยพระสงฆ์ที่มีความสามารถทางด้านงานช่าง และวัดเป็นศูนย์กลางของความรู้ทางด้านยาสมุนไพร แพทย์ทางเลือก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ยังได้น้อมนำพระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงต่อยอดพระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาทำให้สังคมไทยได้เข้าใจโดยง่าย ด้วยการพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” โคกหนองนาสร้างสุขและรอยยิ้ม ให้กับครอบครัวคนไทย ทำให้ครอบครัวมีความสุข เป็น Happy Family Happy Farmer และพระราชทานโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังให้กับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งคำว่า “น้ำใจ” แสดงถึง “คนไทยรักกัน ไม่ทิ้งกัน ช่วยคนด้อยโอกาสให้มีโอกาสแข็ง พึ่งพาตนเอง ยืนบนลำแข้งตนเองได้ ด้วยการพัฒนาผู้ต้องขังให้มีความรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ฝึกการนำเอาทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา “ด้วยการช่วยคืนคนดีสู่สังคม” เพื่อให้คนเคยไม่ดี กลับตัวเป็นคนดี ประกอบสัมมาชีพ ดำรงชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน ทำให้สังคมไทยได้อานิสงส์ที่ทำให้คนที่พ้นจากการลงโทษไม่กลับไปทำกระทำผิดอีก อันเป็นความปรารถนาที่ทรงอยากให้คนไทยทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมุ่งหวังที่จะพัฒนาต้นแบบการนำเอาทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ขยายผลเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้ครอบครัวคนไทยอยู่รอด มีกิน มีใช้ และนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่ง มั่งมี อย่างยั่งยืน เกิดคุณประโยชน์ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีสภาวะแวดล้อมที่ดี มีต้นไม้ยืนต้นที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร เครื่องไม้ใช้สอย สิ่งที่ใช้ทำที่อยู่อาศัย และก่อให้เกิดประโยชน์ทำให้โลกใบนี้มีความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันจึงจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 กระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายและเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ใน 2 เรื่อง ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 คือ 1) ส่งเสริมให้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบทุกหลังคาเรือน รวมถึงสถานที่ราชการ โรงเรียน และสถานที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยหรือทำงาน เป็นแหล่งกำเนิดขยะ โดยกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 ด้วยการเชิญชวนประชาชนอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป สมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) เพื่อสามารถใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดฝึกอบรมการบริหารจัดการขยะ 3Rs และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยให้รับสมัคร อถล. อย่างร้อยครัวเรือนละ 1 คน และจัดกิจกรรมให้มีการกระตุ้นและรณรงค์ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และ 2) ทำให้วัดและบ้าน เป็นคลังอาหาร เป็นธนาคารอาหาร เป็น Supermarket ประจำวัด ประจำครัวเรือน โดยน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ “บ้านนี้ มีรัก ปลูกผักกิน” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชน โดยเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมาบริโภค และการมีผักที่ดีมีคุณภาพรับประทานตลอดทั้งปี

“เนื่องในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยได้รับการสถาปนาครบ 130 ปี ถึงเวลาที่พวกเราชาวมหาดไทยทุกคนซึ่งมีภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จะได้น้อมนำหลักการทำงาน “บวร” “บรม” “ครบ” โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “พี่น้องประชาชน” ทำให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขเพิ่มมากขึ้น มีทุกข์น้อยลง เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ซึ่งมีความสำคัญและเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ซึ่งถ้าอนุมานก็เป็นหน่วยงานของราชการในท้องถิ่น ที่บุคลากรมีบ้านอยู่ในท้องถิ่น ไม่ได้ย้ายไปไหนเหมือนข้าราชการพลเรือน มีงบประมาณ มีกำลังคน และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ที่อยู่ในพื้นที่ สามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ “การสื่อสารกับสังคมมีความสำคัญ” ทุกคนต้องช่วยกันเป็นผู้สื่อข่าว ด้วยการกระจายข้อมูลที่ดี ๆ และถูกต้อง กว้างไปถึงทุกซอกทุกมุม ทุกครัวเรือน อันจะทำให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น และต้องขอฝากความหวังไว้กับทุกท่าน ทั้งที่เป็นเพศบรรพชิต และฆราวาส ในการช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply