อธิการ มจร’แนะครูวิถีพุทธยุคดิจิทัลต้องมี’3A’ ชี้สร้างคนด้วยไอทียังไม่สมบูรณ์หากขาดพัฒนาจิตวิญญาณ ชี้หุ่นยนต์เป็นเพียงตัวช่วยครู
วันที่ 2 มี.ค.2562 พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการปิจฉิมนิเทศนิสิตหลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ 4 โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิต ป.บัณฑิต รุ่นที่ 4 และ 5 ร่วมงานประมาณ 350 รูป/คน ที่ห้องประชุมเธียร์เตอร์ D อาคารเรียนรวม มจร อ.วังน้อย จ.พระนครอยุธยา ได้ให้โอวาทและบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาครูตามแนวพระพุทธศาสนาในยุคดิจิทัล” สาระสำคัญโดยสรุปว่า
ยุคติจิทัล ทุกคนก็ต้องปรับตัว ก้าวทันเทคโนโลยี รู้เท่าทัน ใช้ให้เป็น ทำประโยชน์ได้ ถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียง ก็ไม่สามารถสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ human being เพราะขาดจิตวิญญาณ เช่น หุ่นยนต์ทำงาน หุ่นยนต์อ่านข่าว หุ่นยนต์ทำอาหาร หุ่นยนต์สอนหนังสือ สื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ดีเพียงใด ก็ยังแทนคนสอนคนไม่ได้ ดังนั้น ครูก็ยังเป็นครู แต่ก็ต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัย แต่ไม่ขาดหลักการ
ครูวิถีพุทธในยุคดิจิทัลควรมีทักษะ 3 ด้าน คือ Academic Leadership, Administrative Literacy และ Adept Life (Life Skill)
Academic Leadership มีความเป็นผู้นำในด้านวิชาการ ซึ่งมีความหมายมากกว่าคำว่า รู้ และเชี่ยวชาญ ธรรมดา คือต้องแสดงออกได้ เป็นตัวอย่างได้ นำพานักเรียนได้ ผู้นำต้องมีคุณสมบัติ 2 อย่างเพิ่มมาอีก คือ 1) มีบารมี บารมีต้องทำบ่อยๆ ทำนานๆ ต่อเนื่องๆ ทำอย่างเข้มข้น และทำอย่างมีศรัทธาว่าทำแล้วจะต้องเกิดผลดี 2) มีทักษะในการสื่อสาร พูด สอน บรรยาย สื่อสารเก่ง ในทางพระพุทธศาสนาน่าจะสอดคล้องกับหลักกัลยาณมิตรธรรม อันเป็นคุณสมบัติครูอาจารย์ ที่ลูกศิษย์คบหาแล้วจะมีแต่ดีงามและความเจริญ 7 อย่าง คือ ปิโย น่ารัก, ครุ น่าเคารพ, ภาวนีโย น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่องในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง, วตฺตา จ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี, วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว, คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ, โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำ ไม่แนะนำไปในทางเสื่อมเสีย
Administrative Literacy มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ ก็คือสามารถบริหารตนได้ บริหารคนได้ บริหารงานเป็นนั่นเอง การบริหารตนมีจุดเน้น 3 อย่างคือ 1) Emotional Intelligence มีความฉลาดทางอารมณ์ ปรับอารมณ์ตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส สีหน้ารับแขก นักเรียนเข้าใกล้แล้วมีความสุข 2) Anger Management การจัดการความโกรธ ไม่เจ้าอารมณ์ ไม่เบรกแตก ระงับอารมณ์ได้ จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถึงระดับ ดร. หรือศาสตราจารย์ ถ้าเก็บระงับความโกรธอารมณ์ไม่ได้ก็เสียคน เป็นครูถ้าระงับอารมณ์โมโหกับเด็กไม่ได้ก็เสียครู ต้องเรียนรู้วิธีระงับความโกรธ 10 อย่างในทางพุทธศาสนา 3) Pro-active Person เป็นคนที่มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่น และพอใจในงานที่เป็นด้านที่ดี ทางธรรมเรียกว่ามี กุศลฉันทะ พอใจ มุ่งมั่นทำในสิ่งที่เป็นกุศล
Adept Life (Life Skill) มีทักษะในการดำเนินชีวิต คือรู้หลักการดำเนินชีวิต ว่าจะเป็นอย่างไร ควรเป็นอย่างไร และควรทำอย่างไร มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ก็เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ชีวิตก็ย่อมจะมีอุปสรรค หรือเรียกว่า มาร 5 อย่าง แต่ต้องเข้าใจและมั่นคงในบุญกุศล ความดี จะสอดคล้องกับหลัก 3 ไตร ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แก่ 1) ไตรรัตน์ ยึดมั่นศรัทธาในพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้ชี้แนวทางดำเนินชีวิต 2)ไตรลักษณ์ คือเข้าใจรูปนาม ขันธ์ 5 ว่ามีลักษณะ 3 อย่างคือ อนิจจัง ทุกข์ อนัตตา ที่ต้องประสบพบเจอ 3) ไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ให้ดำรงตนอยู่ในศีล ระเบียบวินัย, จิตใจก็ให้มีสมาธิ สวดมนต์ อิ สวา สุ เป็นต้น, มีปัญญาความรู้ในทางโลกเพื่อการประกอบอาชีพและทางธรรมะเพื่อชีวิตที่ความสุข มีความรู้ความสามารถก็ต้องมีสติ และปฏิภาณประกอบด้วยในการดำเนินชีวิต ดังคำว่า “ยามเข้าป่าเสกคาถากันช้างไล่ ปีนต้นไม้อีกด้วยช่วยคาถา” ช้างมาคิดว่าแต่คาถาดี ไม่ยอมวิ่งหนีไปปีนต้นไม้ ช้างอาจเหยียบตายได้
ที่มา: ดร.เกษม แสงนน
Leave a Reply