จังหวัดอุบล ฯ ขับเคลื่อนนำร่องหา “วัดต้นแบบ”  ตามกรอบความร่วมมือ “MOU” กระทรวงมหาดไทย – มหาเถรสมาคม

วันที่ 15 เม.ย. 65  พระปัญญาวชิรโมลี  เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ต.ห้วยยาง  อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เปิดเผยว่า วันนี้ นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางมาร่วมวางแผนการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาชุมชนและหมู่บ้าน และกิจการของคณะสงฆ์ โดยมีจังหวัดอุบลราชธานีนำร่อง เพื่อจะหาวัดต้นแบบโครงการต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น หรือพื้นที่อื่นในบริบทที่ต่างไปจะขับเคลื่อนงานไปด้วยกันได้

 การหาวัดต้นแบบนี้เกิดขึ้นตามโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนบนกรอบของ MOU ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับมหาเถรสมาคม เพื่อให้ศาสนจักร กับราชอาณาจักร ร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดกับประเทศชาติโดยอาศัยกรอบงานของมหาเถรสมาคมที่มีภารกิจ 6 ด้าน คือ

1) ด้านการปกครองคณะสงฆ์ ที่เน้นการบริหารจัดการภายในวัดให้เป็นระบบระเบียบมีกิจกรรม 5 ส.มาช่วยเป็นเครื่องมือ และการพัฒนาตนของพระให้อยู่ตามหลักธรรม หลักวินัย ไม่ขัดแย้งกับกฏหมายบ้านเมือง เกิดความสงบสุขในวัดในชุมชนบนความร่วมมือของทุกฝ่าย

2) ด้านการเผยแผ่ คือให้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ทั้งวิชชา และจรณะ คือเผยแผ่หลักธรรมคำสอนทั้งส่วนที่เป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นความรู้ทางธรรม และการปฏิบัติตนของฆราวาสผู้มาเกี่ยวข้อง ให้สามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์

3) ด้านศาสนศึกษาสงเคราะห์ คือให้การสนับสนุน และส่งเสริมการศึกษาหลักธรรมและหลักวินัยของพระภิกษุ สามเณร หรือพุทธบริษัททั้งหลายในการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้รู้แจ้งเห็นจริงไปตามขั้นตามภูมิของการปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดความสงบสุขของบ้านเมือง เช่นจัดสถานปฏิบัติธรรม ให้ทุนการศึกษาพระเณร หรือมีโรงเรียนปริยัติเป็นต้น

4) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ คือการสงเคราะห์ลูกหลานเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วยการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ เช่นโรงเรียนศรีแสงธรรม โรงเรียนสงเคราะห์ ศูนย์เด็กเล็กภายในวัด รวมถึงแหล่งเรียนรู้ พื้นที่วิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ

5) ด้านสาธารณูปการ คือบทบาทของวัดในการช่วยเหลือประเทศชาติประชาชนในโครงสร้างพื้นฐานที่พอจะมีกำลังทำได้ เช่นช่วยเหลือโรงพยาบาลเช่นติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟในแต่ละเดือนตลอด 30 ปี หรือการสร้างอาคารให้โรงพยาบาล ช่วยเหลือชาวบ้านปรับปรุงถนนหนทางสัญจรเป็นต้น

6) ด้านสาธารณะสงเคราะห์ คือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม ขาดแคนที่อยู่อาศัยหรือให้ความช่วยเหลือปัจจัย 4 รวม เช่นแจกจ่ายข้าวสารอาหารแห้ง หรือบางวัดมีรถรับส่งผู้ป่วยช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกรวดเร็วเป็นต้น

 พระปัญญาวชิรโมลี ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “กรอบภารกิจงานทั้ง 6 ด้านเป็นภารกิจของคณะสงฆ์ที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อันไปสอดคล้องกับภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย ทั้งในการแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาคนในทุกช่วงวัย ในภารกิจหลัก 5 ด้านคือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านที่อยู่อาศัย ด้านรายได้ และบริการภาครัฐ เป็นความร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน สนับสนุนส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายด้วยกัน และอยู่บนพื้นฐานหลักธรรมวินัย..”

Leave a Reply