“ณพลเดช” วอนรัฐบาลผันงบกลางสู่ภาค SMEs ชี้ช้ากว่านี้ ศก. จ่อทรุดหนัก

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เขตพญาไท ตามที่คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรม SME ไทย ใน คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่ดูงานและร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs เข้าถึงแหล่งทุนของรัฐ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK)นั้น

นายณพลเดช มณีลังกา ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรม SME ไทย สภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า จากที่ได้ประชุมกับหน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมธนาคารแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) หลังจากที่ตนได้รับทราบถึงโครงการของรัฐบาล และวิธีการกระจายเม็ดเงินให้ไปถึงกับมือผู้ประกอบการ ยังมีปัญหาและอุปสรรค อยู่หลายประการ ประกอบด้วย

1.การกำหนดกรอบเม็ดเงิน ที่ไม่สามารถไปถึงมือ SMEs ได้จริง เม็ดเงินบางก้อนยังกระจุกตัวอยู่ในมือผู้ถืออำนาจ 2.การสร้างเงื่อนไขจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้การกู้เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการ 3.กฎหมายที่ทำให้ข้าราชการต้องระวังตัว ทำให้การกู้ล่าช้าและสร้างความยากในการกู้ 4.การผันงบประมาณเพื่อสร้างการตื่นรู้ ความซื่อสัตย์ ความมานะอดทน การสื่อสาร ทักษะอาชีพ และทีมงานที่ปรึกษา รวมถึงการฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ ให้กับ SMEs ยังน้อยมาก

นายณพลเดช กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าการแข่งขัน SMEs ของไทยหากสู้กับต่างชาติโดยเฉพาะจีน เรายังตามเขาอยู่มากในทุกมิติ เราขาดการสื่อสารให้ประชาชนตื่นรู้เพื่อมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ สนับสนุนทีมงาน ทีมที่ปรึกษา ล่าสุดผลการดำเนินงานด้านพัฒนาผู้ประกอบการยกระดับศักยภาพ ขีดความสามารถ SMES ในระหว่าง ม.ค.-มิ.ย. 65 สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการเพียง 6,104 รายซึ่งน้อยมาก ซึ่งการให้องค์ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานใน 5M Model ประกอบด้วย Manpower, Machine, Material, Method, และ Management สำหรับการสนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทาง ธปท. ปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย. 2565) ของ ธพว. สามารถช่วยเหลือ SMEs เพียง 12,150 ราย ด้วยเม็ดเงินเพียง 22,403 ล้าน

นายณพลเดช เพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้ SMEs ให้เขาซื่อสัตย์ ต่อผู้ให้กู้ และต่อตนเอง โดยสร้าง Credit score ดังในหลายประเทศที่เจริญแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานทางการเงินให้กับตนเองและองค์กร มีตัวชี้วัด 1-100 ถ้า 100 ถือว่าดีมาก สามารถตรวจสอบได้แบบทันทีเท่านี้เราจะลดงบประมาณของภาครัฐที่จะต้องไปตรวจสอบผู้ประกอบการ ซึ่งเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ที่สำคัญเสียโอกาส สำหรับในเวลานี้ ตนเห็นว่า ต้อง Set Zero แล้ว รัฐต้องเอาเงินโยนเข้าระบบผ่าน SMEs เพื่อให้เขาหมุนเงินในระบบผ่านรากหญ้า หากจะเสียก็ต้องยอมรับความเสียหายบ้าง แต่จะเปิดโอกาสให้SMEs ได้เติบโตและต่อสู้กับต่างชาติ อุดหนุนงบประมาณให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ที่ได้รายได้เพียงเล็กน้อย ไม่มีโบนัสให้กำลังใจ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งการปิดช่องวางเหล่านี้หาก SMEs ล้ม เราจะไม่เหลืออะไรที่จะสู้กับต่างชาติแล้ว ขณะนี้ตนทราบว่ายังมีงบกลางและงบประมาณอยู่หลายส่วน ที่อยู่ในมือของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตนเห็นว่าต้องรีบปล่อยถึงSMEs ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ประเทศชาติจะเสียหายไปมากกว่านี้

Leave a Reply