อยากเล่า!!

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นสิ่งที่อยากเล่าจริง ๆ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้มีประโยชน์ไม่เฉพาะต่อประชาชนคนไทยและประเทศไทยเท่านั้น รวมทั้งโลกใบนี้ด้วย

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ “เปรียญสิบ” ได้รับคำชวนจาก “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยให้เป็น “อนุจร” ไปเปิดดวงตาให้เห็นธรรมเรื่อง “โคก หนอง นา”  2 จังหวัด คือ “จังหวัดสกลนครและจังหวัดขอนแก่น”

เท่าที่ฟังจากปลัดมหาดไทยทำให้รู้ว่า ปัจจุบันสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกชาติเร่งดำเนินการ 17 ข้อ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือภาษาอังกฤษย่อว่า SDGs”  ให้ได้ภายในปีพุทธศักราช 2573  ขอยกตัวอย่างมาแค่ 3 ข้อแรกที่สหประชาชาติเรียกร้องให้ชาวโลกต้องร่วมกันทำ คือ 1. ขจัดความยากจน 2. ขจัดความหิวโหย และ 3. มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ใครจะเชื่อว่าในโลกนี้ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ประมาณ 7 พันล้านคน มีคนประมาณ 1 พันล้านอยู่ในกลุ่มยากจนและหิวโหย เพราะไม่มีอาหารกินหรือจะมีก็ไม่มีคุณภาพ ไม่ต้องไปพูดถึงข้อที่ 3 เรื่องสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดี เพราะประเทศไทยที่ว่า “อยู่ดีกินดี” แล้ว ทุกวันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่า “คนยากจน” คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่งยังมีอยู่

การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้รู้ว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เกษตรทฤษฎีใหม่ และ “โคก หนอง นา” คืออะไร มันสำคัญต่อประเทศไทยและโลกอย่างไร

การลงพื้นที่คราวนี้ทำให้รู้ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” มีความสำคัญอย่างไรและเป็นห่วงประชาชนมากน้อยแค่ไหนผ่าน “การบอกเล่า” ของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยยก ทฤษฎีต่าง ๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีมากว่า 40 ทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช  ทฤษฎีบันได  9 ขั้น ทฤษฎีอธรรมปราบอธรรม หรือแม้กระทั้งคำว่า ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างเป็นต้น ซึ่งทุกทฤษฎีพระองค์ล้วนคิดค้นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติเพื่อ “ปากท้อง” พสกนิกรของพระองค์

การลงพื้นที่ครั้งทำให้รู้ว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” สำคัญมากน้อยแค่ไหน และทำไม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จึงใช้คำว่า “อารยเกษตร”

การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เห็นภาพ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ผู้บอกว่าตนเองเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็น “แม่บ้าน” ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนเป็นอย่างไร ทั้งดำนา ปลูกต้นไม้ ตากแดด ตากฝน แนะนำ แนะแนว พร้อม “ติวเข้ม” บรรดาข้าราชการให้รู้จักนัยความหมายของคำว่า “โคก หนอง นา” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกว่า “อารยเกษตร” สำคัญต่อประเทศและประชาชนอย่างไร

การลงพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า “การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่สู่โคก หนอง นา” หากประชาชนทำจริงอยู่ได้แบบ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”  อย่างแท้จริง ผ่านการบอกเล่าของ “คนทำจริง”

หากจะว่าไปแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือ “โคก หนอง นา”   มันคือ “รากเหง้าพุทธศาสนา”  อย่างน้อยสอดคล้องกับคำว่า  มัตตัญญุตา”  คือ การรู้จักพอประมาณ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้คำว่า  พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ในหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น

“โคก หนอง นา” เท่าที่เห็น นอกจากคนทำมีอาหารที่มั่นคงปลอดสารพิษแล้ว โคกหนองนา ยังตอบคำถามได้อีกว่า ได้ทั้งน้ำ ได้ทั้งอากาศดี ได้ทั้งป่า ได้ทั้งอาหารและยาสมุนไพร รวมทั้งนำไปสู่ ความรู้รักสามัคคี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

การตามปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่จริงคราวนี้ ทั้งที่ “โคกหินแห่” จังหวัดสกลนคร และ โคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร มจร. จังหวัดขอนแก่น ทำให้รู้ว่า ประเทศไทยเราโชคดีแล้ว ที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงห่วงใยประชาชน ทำให้รู้ว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่สู่โคก หนอง นา มันมิใช่สร้างความมั่นคงทางอาหารเฉพาะครัวเรือนหรือชุมชนเท่านั้น หากทำจริง มันสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศไทยด้วย ซ้ำตอบโจทย์สหประชาชาติได้อีกต่างหาก

ลงพื้นที่ได้เห็นแล้วอดชื่นชมไม่ได้ จนต้องนำมาเล่าต่อครับ!!

Leave a Reply