“พุทธอารยเกษตร” มีที่มาอย่างไร ปลัดมหาดไทย มีคำตอบ??

วันที่ 31 ก.ค. 65  ที่ศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น ต.โคกสี อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ตามโครงการ 130 ปี กระทรวงมหาดไทย : ความสุขสร้างได้…ด้วยใจอาสา จังหวัดขอนแก่น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 โดยได้รับเมตตาจาก พระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานสงฆ์ พระโสภณพัฒนบัณฑิต รองอธิการบดี มจร. วิทยาเขตขอนแก่น พระสังฆาธิการ และพระเถระ ร่วมพิธี โดยมี นายจารึก เหล่าประเสริฐ นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายนิวัติ น้อยผาง นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่ายทั้ง 26 อำเภอ ร่วมในพิธี

โอกาสนี้ พระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น กล่าวสัมโมทนียกถา ความโดยสรุปว่า ในวันนี้เป็นพิธีกรรมอันสำคัญที่ทุกคนได้มาร่วมกิจกรรมโครงการศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่คณะสงฆ์มีปรารภต้นเหตุในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้กับประชาชน อันเกี่ยวข้องกับอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข ถือเป็นการสร้างบุญกุศล สืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคำว่า “พุทธอารยเกษตร” นั้น พุทธ คือ พระพุทธเจ้า อารยะ แปลว่า ประเสริฐ หรือดีงาม เกษตร มาจาก กสิ แปลว่า ผู้ไถ และสำหรับโคก หนอง นา นั้น “โคก” คือ การขุดดินขึ้นมาจากสระ มากองเป็นจำนวนมาก สามารถมาปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ล้มลุก ไม้ยืนต้น  “หนอง” ทำเป็นหนองน้ำ ทุกอย่างในน้ำก็มีเป็นจำนวนมาก เป็นอาหารให้กับคน และ “นา”  ทั้งนาข้าว นาเกลือ หรืออะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ ล้วนเป็นพื้นที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแนวทางที่พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทั้ง 2 พระองค์ได้พระราชทานแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับตามแบบพุทธศาสนีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า “มัตตัญญุตา” แปลว่า รู้ประมาณ มีความรู้ มีความสามารถ

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 130 ปี กระทรวงมหาดไทย ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ท่านเจ้าคุณพระโสภณพัฒนบัณฑิต รองอธิการบดี มจร. วิทยาเขตขอนแก่น และคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น ผู้เป็นหลักชัยของพระพุทธศาสนาและคนไทย ได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้พี่น้องประชาชนได้ดวงตาเห็นธรรม ด้วยการเห็นของจริง และของจริงที่ทำนั้น ในท้ายที่สุดจะกลายเป็นผลผลิตที่สามารถเลี้ยงดูชุมชน เกื้อกูลประโยชน์สุขให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการเข้าร่วมโครงการและน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา  ซึ่งเป็นพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร  ซึ่งคำว่า สืบสาน รักษา และต่อยอด นั้น พระองค์ท่านได้ทรงน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มาต่อยอดประยุกต์สู่โคก หนอง นา

พระพิพัฒน์วชิโรภาส

“คำว่า พุทธอารยเกษตร มีที่มาจากคำเดิมที่ว่า “พุทธเกษตร” ซึ่งเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ได้ริเริ่มที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีกำลังสำคัญ คือ ท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส (เจ้าคุณสุขุม) ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่งดงใหญ่ วังอ้อ ต.หัวดอน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งหลายทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาขับเคลื่อน กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เมตตาร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ในการต่อยอด โดยนำทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่พื้นที่ โคก หนอง นา เช่น ทฤษฎีใหม่ คือ ขุดสระน้ำเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ คือ กว้าง x ยาว x ลึก ในเชิงที่มีความชันลึก จึงประยุกต์ทำเป็นคลองไส้ไก่คดเคี้ยวเลี้ยวลด ความลึกชันลดหลั่นคล้ายคลองธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติช่วยเหลือเกื้อกูลให้สรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกมีความสุข เพราะวิทยาศาสตร์กับธรรมะเป็นเรื่องเดียวกันคือความจริงที่แน่แท้ไม่มีแปรเปลี่ยน ตามหลักความจริงของธรรมชาติหรือหลักวิทยาศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงค้นพบ “น้ำคือชีวิต” จึงพระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยทรงเริ่มต้นทดลองครั้งแรกที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ที่พวกเรารู้จักกันว่าแบ่งจัดสรรที่ดินเป็น 30 -30 -30 -10 โดย 30 ส่วนแรกคือการขุดสระกักเก็บน้ำเพื่อให้พอใช้ในพื้นที่ 30 ส่วนถัดมา คือ ใช้ทำการเกษตร อีก 30 ส่วนใช้เลี้ยงสัตว์ ใช้ปลูกไม้ยืนต้น และอีก 10 ส่วน คือ เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่น ๆ รวมถึงทฤษฎีเรื่องของการห่มดินหรือเลี้ยงดินเพื่อให้ดินเลี้ยงพืช ทฤษฎีใหม่เรื่องของหลุมขนมครก เรื่องของป่า 5 ระดับ หรือป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เรื่องอธรรมปราบอธรรม คือ การนำเอาสิ่งที่เราไม่ปรารถนา ไม่ชอบ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และเป็นโทษ มาบริหารจัดการเพื่อให้สิ่งที่เป็นโทษอยู่กลายเป็นคุณ คือ เรื่องของน้ำเน่าน้ำเสีย โดยใช้ผักตบชวาให้มาช่วยในการดูดสารสารอนินทรีย์ ที่เป็นศาลแขวนลอย ทำให้น้ำเน่าเสีย เพื่อลดสาเหตุของการทำให้น้ำเน่าเสีย และทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น โดยทรงพระราชทานแนวทางให้ทดลองทำเป็นตัวอย่างที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และบึงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร รวมถึงเรื่องของการที่จะทำให้พวกเรามีความสุขอีกมากมายหลายทฤษฎี อันเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เหมือนดั่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบสัจธรรมเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมนุษย์ก็เกิดอยู่แล้วนั่นเอง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย  กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขับเคลื่อนทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา และพระราชทานกำลังใจให้กับพสกนิกรของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น 1) โครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ที่ได้รับการขับเคลื่อนผ่านการพัฒนาผู้ต้องขังในเรือนจำให้ได้รับองค์ความรู้และฝึกฝนทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันตามหลักการช่วยเหลือพึ่งพาตนเองก่อนจะพ้นโทษ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขร่วมกับผู้อื่นได้ 2) พระราชทานหลักสูตรโคก หนอง นา เป็นหลักสูตรฝึกอบรมในโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน 3) พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ 4) ทรงกำหนดหลักสูตรฝึกสอนข้าราชบริพารให้ได้เรียนรู้หลักการของโคก หนอง นา ในบริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต ส่วนคำว่า “อารยเกษตร” เป็นพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2564 ที่สื่อความหมายลึกซึ้งมาก

นอกจากนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา พระราชทานแก่ข้าราชบริพาร ด้วยเพราะทรงอยากเห็นพสกนิกรมีความสุขอย่างยั่งยืนด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่ทุกอย่างต้องเริ่มที่ “การพัฒนาคน” เมื่อคนมีความรู้พัฒนาได้ที่ ก็ให้นำเอาองค์ความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ ลงมือขุด ลงมือปลูก ลงมือทำ หรือเรียกว่า การเรียนรู้แบบปฏิบัติ (Learning by doing) ซึ่งมันจะออกดอกออกผลมีพืชที่ให้อาหาร มีสัตว์เลี้ยง มีธรรมชาติที่เกื้อกูลเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งร่มเย็นเป็นสุข และในอนาคตจะมีไม้ใช้สอย ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ และสามารถใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งหากหลาย ๆ ครอบครัวร่วมกันร่วมกันขับเคลื่อน จะกลายเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” คือ ใช้พื้นที่ทั้ง 100 ครอบครัวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด มายึดโยงทำเป็นเครือข่าย ร้อยเรียง วางแผน ในการปลูก การเลี้ยง สิ่งที่เหมือน ๆ กัน เพื่อให้มีจำนวนมาก ก็จะกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกำลังหลักที่สำคัญเสมอ คือ ต้องไม่ทำอะไรคนเดียว และต้องร่วมมือกับ 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน อันจะทำให้เราเป็นเหมือนแขนงไม้ไผ่หลาย ๆ แขนงมารวมกัน ทำให้ให้เรามีพลัง แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสงฆ์ เป็นที่พึ่งของประชาชน ท่านมีภูมิธรรม มีภูมิความรู้ มีจิตใจเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ถ้าท่านลงมาช่วยจะทำให้เกิดสิ่งดี ๆ แบบวันนี้ โดยเราทุกคนต้องลงมาช่วยกัน เพราะเราทุกคนต่างมีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” และอารยเกษตร หลอมรวมพัฒนาสู่ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยใจรุกรบ ด้วยแรงปรารถนา (passion) ที่อยากจะทำ อยากสร้างความสุขด้วยใจอาสา เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

Leave a Reply